ผลการประชุมคณะอนุกรรมการวางแผนและติดตามการป้องกันแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร ครั้งที่ 1/2566 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ (ร่าง) การป้องกันแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรในช่วงฤดูฝน ปี 2566 ซึ่งประกอบด้วย 3 แผนงาน

1. การป้องกันและเตรียมความพร้อมในด้านการวางแผนการจัดสรรน้ำฤดูฝนและการเพาะปลูกพืชฤดูฝนในเขตชลประทาน เพิ่มและปรับปรุงแหล่งกักเก็บน้ำ การปฏิบัติการฝนหลวงในภาวะฝนทิ้งช่วงระหว่างฤดูเพาะปลูก และเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อน เพื่อสำรองเป็นน้ำต้นทุนในช่วงฤดูแล้ง ปรับปรุงข้อมูลทะเบียนเกษตรกร และให้คำแนะนำการทำเกษตรในพื้นที่ในการลดความเสี่ยง รวมทั้งการเตรียมเครื่องมือเครื่องจักร ได้แก่ เครื่องสูบน้ำ 2,289 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 617 เครื่อง เครื่องจักรกลสนับสนุนอื่นๆ 2,476 หน่วย เรือตรวจการณ์ 195 ลำ รถบรรทุก (สัตว์) 119 คัน หญ้าแห้ง 5,140 ตัน ถุงยังชีพ สัตว์ 3,000 ถุง ทีมสัตวแพทย์เคลื่อนที่ 119 หน่วย สัตวแพทย์ 357 คน จุดอพยพสัตว์ 2,396 จุด เมล็ดพันธุ์พืชผัก 22,125 ซอง

2.การเผชิญเหตุและหยุดยั้งความเสียหาย จัดการปรับปฏิทินการเพาะปลูกข้าวนาปีให้เร็วขึ้น 1 เดือน ในพื้นที่ลุ่มต่ำ 10 ทุ่งลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง พื้นที่คาดการณ์เพาะปลูก 0.967 ล้านไร่ ใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูก 940 ล้าน ลบ.ม. ติดตั้งเครื่องมือเพื่อเร่งระบายน้ำในพื้นที่ประสบภัย สนับสนุนเสบียงอาหารสัตว์ เวชภัณฑ์ เพื่อช่วยเหลือสัตว์ในพื้นที่ประสบภัย จัดหน่วยเฉพาะกิจลงพื้นที่ประสบภัย เพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกร รวมถึงประเมินความเสียหาย ความต้องการความช่วยเหลือเบื้องต้น

3.การฟื้นฟูให้ดีกว่าเดิม เร่งสำรวจและประเมินความเสียหายเพื่อช่วยเหลือและเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตร ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 การสนับสนุนพันธุ์สัตว์น้ำ และเมล็ดพันธุ์ดีให้แก่เกษตรกร การซ่อมแซมโครงสร้าง และอุปกรณ์ทางการเกษตร การบำบัดน้ำเสียและปรับปรุงดิน ตลอดจนการสนับสนุนแหล่งเงินกู้ และการประเมินมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจด้านการเกษตร

...

สรุปแล้วแผนการทุกอย่างมีพร้อม ได้แต่หวังว่า พอถึงเวลาปฏิบัติจริง การช่วยเหลือเยียวยาจะรวดเร็วและทันการณ์ ไม่ใช่ให้ชาวบ้านรอยืดยาวนานข้ามปีเหมือนที่ผ่านมา.

สะ–เล–เต