ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (National Biobank of Thailand: NBT) เกิดขึ้นเมื่อปี 2562 เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศ ในการสนับสนุนการดำเนินงานอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพแบบระยะยาว และหนึ่งในนั้นคือ ภารกิจฟื้นฟูละมั่งสายพันธุ์ไทยที่เคยสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ

“ในอดีตละมั่งเคยมีสถานภาพสูญพันธุ์ไปจากป่าธรรมชาติของบ้านเราแล้ว แต่ด้วยการเพาะเลี้ยงและนำปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติได้สำเร็จ โดยกรมอุทยานฯ องค์การสวนสัตว์ฯ ทำให้ปัจจุบันในไทยยังคงมีละมั่งทั้งพันธุ์ไทยและลูกผสมพันธุ์ไทยเมียนมาอาศัยอยู่ตามธรรมชาติ แต่ด้วยจำนวนประชากรละมั่งพันธุ์ไทยเหลือน้อยในระดับวิกฤติ จึงเกิดการผสมพันธุ์กันในเครือญาติใกล้ชิด ทำให้เกิดเลือดชิด จากการเสี่ยงต่อการจับเข้าคู่ของยีนด้อย ทำให้ละมั่งรุ่นต่อมาอ่อนแอลงและมีแนวโน้มสูญพันธุ์มากยิ่งขึ้น”

ดร.ศิษเฎศ ทองสิมา ผู้อำนวยการธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เล่าถึงอีกโครงการดีๆฟื้นฟูละมั่งสายพันธุ์ไทย ให้สามารถอยู่ตามธรรมชาติได้ โดยไม่เกิด ปัญหาเลือดชิด
“เราตระหนักดีถึงปัญหาเลือดชิดในละมั่งไทยที่กำลังก่อให้เกิดความอ่อนแอของละมั่งจากรุ่นสู่รุ่น จึงพัฒนาโปรแกรมช่วย “วิเคราะห์เลือกคู่ผสมพันธุ์สัตว์” หนุนลดอัตราเสี่ยงการสูญพันธุ์จากปัญหาโรคทางพันธุกรรม เพื่อฟื้นฟูประชากรละมั่งพันธุ์ไทยให้กลับมามีสถานภาพปกติอีกครั้ง”

...

นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำวิจัยเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์ละมั่งพันธุ์ไทยที่อยู่ในการดูแลของหน่วยงานด้านการอนุรักษ์ โดยร่วมมือกับศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ (National Omics Center : NOC) สวทช.ถอดรหัสพันธุกรรมของละมั่งในประเทศ และร่วมกับทีมวิจัยจากธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ พัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับนำข้อมูลรหัสพันธุกรรมของละมั่งมาวิเคราะห์เลือกคู่ผสมพันธุ์จากความห่างของสายพันธุกรรม
สำหรับกลไกการทำงานของแพลตฟอร์ม เป็นการใช้เทคโนโลยีชีวสารสนเทศในการวิเคราะห์จับคู่รหัสพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตประมาณ 30,000 ตำแหน่ง แบบเมทริกซ์ หรือการจับคู่ผสมพันธุ์แบบพบกันทุกตัว เพื่อวิเคราะห์ความแตกต่างของรหัสพันธุกรรม เพื่อใช้คัดเลือกพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ที่มีรหัสพันธุกรรมแตกต่างกันมากที่สุด ช่วยป้องกันการผสมในเครือญาติใกล้ชิดได้

โดยโปรแกรมนี้จะแสดงผลข้อมูลการจับคู่ให้เห็นเป็นเฉดสีจากสีอ่อนไปเข้ม หรือจากความแตกต่างทางพันธุกรรมมากไปถึงความแตกต่างทางพันธุกรรมน้อย เพื่อให้ผู้ดำเนินงานด้านการขยายพันธุ์นำผลการวิเคราะห์ไปใช้ประโยชน์ต่อสะดวก ซึ่งปัจจุบัน NBT ได้พัฒนาโปรแกรมจนเสร็จสิ้นและส่งมอบชุดข้อมูลผลวิเคราะห์การจับคู่ละมั่งพันธุ์ไทยในประเทศให้แก่ผู้ดำเนินงานด้านการผสมพันธุ์เรียบร้อยแล้ว และมีแผนการที่จะใช้สนับสนุนการอนุรักษ์สัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์ชนิดอื่นๆ อาทิ พญาแร้ง เก้งหม้อ ในอนาคตด้วย

หลังจากนี้ NBT มีแผนดำเนินงานร่วมกับองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำโปรแกรมเข้าสู่ระบบขององค์การสวนสัตว์ฯ เพื่อเปิดให้ผู้ดำเนินงานด้านการอนุรักษ์และการผสมพันธุ์สัตว์ในประเทศไทยได้ใช้ประโยชน์จากโปรแกรมร่วมกันต่อไปในอนาคต.

...

กรวัฒน์ วีนิล