ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เผยว่า สตาร์ตอัพด้านการเกษตรเป็นกำลังสำคัญที่จะเชื่อมโยงและร่วมสนับสนุนแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆให้ภาคเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก ที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตร ที่มีความซับซ้อนและมีความหลากหลายได้อย่างแม่นยำ ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับภาคเกษตรได้อย่างยั่งยืน โดยที่ผ่านมาเอ็นไอเอและมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้จัดทำ “สมุดปกขาวการขับเคลื่อนพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ตอัพด้านการเกษตรของประเทศไทย” เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในระบบนิเวศ

“ผลจากการสำรวจเราพบว่า ปัจจุบันเริ่มสตาร์ตอัพด้านเกษตร และสตาร์ตอัพรายใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเกือบ 70 บริษัท แต่มีสตาร์ตอัพด้านเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกไม่ถึง 15 บริษัท ดังนั้น จึงมีความต้องการเพิ่มจำนวนสตาร์ตอัพเกษตรด้านเทคโนโลยีเชิงลึกให้มากขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตรเป็นสาขาหนึ่ง ที่ประเทศไทยมีโอกาสและปัจจัยสนับสนุนสำคัญ เนื่องจากไทยได้รับการจัดอันดับให้มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เหมาะแก่การเจริญเติบโตและการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตนานาพันธุ์ ประกอบกับมีนักวิจัยที่มีความรู้ ความสามารถ มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ที่คอยส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพจำนวนมาก”

...

ผอ.สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เผยอีก ว่า นอกจากนี้ รายงานผลการศึกษาของ Hello Tomorrow พบว่า เทคโนโลยีชีวภาพเป็นสาขาเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีการเติบโตและดึงดูดนักลงทุนได้มากที่สุด เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีอื่น และปีที่แล้ว ข้อมูลจาก AgFunder พบว่า มูลค่าการระดมทุนของสตาร์ตอัพด้านการเกษตรที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพทั่วโลกมีมูลค่า 85.80 พันล้านบาท เป็นกลุ่มเทคโนโลยีที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุดในด้านเกษตร แต่ถ้าเปรียบเทียบกับการได้รับการลงทุนของไทย พบว่าสตาร์ตอัพด้านการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพ มีมูลค่าเพียง 90 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.10 ของการลงทุนระดับโลกเท่านั้น ทำให้ยังมีโอกาสการเติบโตได้อีกมาก

“จากโอกาสและความท้าทายดังกล่าว เราจึงได้ริเริ่มโครงการ Ag BioTech Incubation 2023 โดยพัฒนานักศึกษา นักวิจัย ศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัย หรือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ต้องการเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจเป็นสตาร์ตอัพที่มีทักษะ และองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ที่พร้อมก้าวสู่การเป็นสตาร์ตอัพ และสามารถพัฒนาต่อยอดสู่การสร้างนวัตกรรม สำหรับแก้โจทย์ปัญหาภาคการเกษตรของประเทศ โดยอาศัยกระ บวนการบ่มเพาะแบบเข้มข้น ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ รวมถึงการจัดสรรพื้นที่การเรียนรู้ และทำงานจริงร่วมกับเครือข่ายและนักลงทุน และผลักดันให้เกิดสตาร์ตอัพด้านการเกษตร ที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมขับเคลื่อนนวัตกรรมการเกษตรคลื่นลูกใหม่ของประเทศให้เติบโตไปด้วยกัน”

ทั้งนี้โครงการ AgBioTech Incubation 2023 เป็นการดำเนินงานร่วมกันของ NIA, มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และเครือข่ายหน่วยงานพันธมิตร ทั้งย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหารแม่โจ้, สถาบันนวัตกรรมเกษตรเพื่ออุตสาหกรรม, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่ายชีววิทยาสังเคราะห์ บ่มเพาะให้เกิดสตาร์ตอัพด้านการเกษตรรายใหม่ ที่มีความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนสร้างการเชื่อมโยงให้เกิดระบบนิเวศ โดยเฉพาะสนับสนุนการสร้างย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหารแม่โจ้ ให้กลายเป็นซิลิคอนวัลเลย์ด้านนวัตกรรมการเกษตรของไทยที่มีความพร้อมทั้งด้านงานวิจัย พื้นที่ทดสอบ รวมถึงความร่วมมือกับหน่วยงานชุมชนในพื้นที่ สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 16 มิ.ย.นี้ ทาง http://agbiotech.nia.or.th/ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร. 08-1372-9163 อีเมล montha@nia.or.th และ โทร. 09-6356-2974 อีเมล napat_r@mju.ac.th