วันนี้ (13 มิ.ย. 66) เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุม War room ชั้น 2 ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ (Action Learning) หลักสูตร “ผู้นำการเปลี่ยนแปลงการขับเคลื่อนศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ให้กับผู้เข้ารับการศึกษาอบรมหลักสูตรนายอำเภอ รุ่นที่ 82 พร้อมบรรยายพิเศษ “ทำไมต้อง CAST” ผ่านระบบประชุมทางไกล (Zoom Cloud Meeting) ไปยังศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครนายก อ.เมืองนครนายก จ.นครนายก โดยมี นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายเธียรชัย ชูกิตติวิบูลย์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ว่าที่ ร.อ.ธีรพงศ์ ครุธดิลกานันท์ รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายวสันต์ สุภาภา รองอธิบดีกรมที่ดิน นายสุรพล เจริญภูมิ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และนายสิทธิชัย เทพภูษา อธิการวิทยาลัยการปกครอง ร่วมรับฟัง

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นักเรียนนายอำเภอคือผู้เป็นความหวังของคนไทยและประเทศชาติ เพราะจะต้องไปทำหน้าที่เป็นผู้นำการธำรงรักษาไว้ซึ่งอุดมการณ์ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ของกระทรวงมหาดไทย โดยการฝึกอบรมหลักสูตร CAST สำหรับนักเรียนนายอำเภอนี้ จะทำให้ทุกคนได้ร่วมใช้ชีวิตและได้มีโอกาส Re-skill Refresh และ Reunion เรียนรู้ให้เกิดคุณค่า สมกับที่พวกเราต่างใช้ความรู้ความสามารถที่ทุ่มเท ทั้งเวลาและสติปัญญาในการสอบแข่งขันและมุ่งมั่นปฏิบัติราชการเพื่อสร้างคุณงามความดีมาสู่การเป็น "นักเรียนนายอำเภอ"

“นายอำเภอ เป็นตำแหน่งที่เป็นความหวังของพี่น้องประชาชนและเป็นความหวังของพวกเราชาวมหาดไทยทุกคน เพราะเมื่อทุกท่านสำเร็จการศึกษาไป ก็จะได้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยนายอำเภอและนายอำเภอในอนาคต อันเป็นโอกาสสำคัญยิ่ง ในการที่จะได้ทำงานเพื่อสร้างคุณงามความดีให้แก่ประเทศชาติ พระศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ และได้มีโอกาสทำสิ่งที่ดีให้แก่พี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ของท่าน ให้ได้มีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ดังที่ผู้บริหารของกระทรวงมหาดไทยทุกคน ให้ความสำคัญกับหลักการทำงาน "ครองตน ครองคน ครองงาน" เช่นเดียวกับที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษและอดีตนายกรัฐมนตรี ได้เคยเปรียบเปรยว่า “นายอำเภอที่ดีสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้” ซึ่งมีนัยสำคัญว่า เราต้องตระหนักเสมอว่า "ต้องทำงานแบบบูรณาการกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน" เพราะงานของทุกกระทรวง ทุกกรม เป็นภารกิจของนายอำเภอทั้งสิ้น ในฐานะตัวแทนของรัฐบาลและตัวแทนของกระทรวงมหาดไทย และเป็นผู้นำสูงสุดของอำเภอ ในการปฏิบัติหน้าที่ข้าราชการของแผ่นดิน ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นเหมือน “โซ่ข้อกลาง” การบูรณาการคน บูรณาการงาน ที่มีความสำคัญต่อพี่น้องประชาชน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวต่ออีกว่า การทำหน้าที่ข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทุกท่านต้องให้ความสำคัญในการเป็นผู้นำต้นแบบ เป็น Ambassador ให้กับรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย ต้อง SMART เช่น การแต่งตัวเหมาะสม ความประพฤติดี มีความเฉลียวฉลาด เป็นต้น เป็นแบบอย่างให้กับปลัดอำเภอและข้าราชการทุกสังกัด ในการเสริมสร้างภาพลักษณ์ของกระทรวงมหาดไทย มุ่งมั่นบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชน และต้องระลึกอยู่เสมอว่าเราจะได้รับความรักความศรัทธาจากพี่น้องประชาชนได้ ต้องประพฤติดีทั้งเรื่องส่วนตัวและส่วนรวม เริ่มตั้งแต่บุคลิกภาพ การแต่งกาย การปฏิบัติตัวด้วยจิตใจที่ดีงาม มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี และทำให้พี่น้องประชาชนทุกสาขาอาชีพ ทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย มีความเชื่อมั่นศรัทธา ดังนั้น “การครองตน” ของนายอำเภอถือเป็นสัญลักษณ์ (Symbolic) ของผู้เป็นตัวแทนของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย ดังสุภาษิตไทยโบราณว่า ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง นั่นคือการแต่งกายให้เหมาะสมกับอาชีพ สถานที่และเวลา ซึ่งจะเพิ่มคุณค่าและความเลื่อมใสศรัทธา ในส่วนของ “การครองคน” คือทำหน้าที่ของนายอำเภอในการกำกับดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาให้ทำงานแบบบูรณาการกับภาคีเครือข่าย เป็นสิ่งที่จะทำให้ชาวบ้านมีความเชื่อมั่นในตัวของท่าน และยังผลให้เกิดความรักความสามัคคีด้วย และ “การครองงาน” คือ การที่นายอำเภอเข้าถึงทุกชุมชนและหมู่บ้าน เข้าถึงพี่น้องประชาชนทุกคน ก็จะทำให้ทราบถึงปัญหาและความต้องการของคนในพื้นที่ ตามอุดมการณ์ของคนมหาดไทยและนักปกครอง คือ “รองเท้าสึกก่อนกางเกงขาด” โดยการออกไปเยี่ยมเยียนพี่น้องประชาชนอย่างสม่ำเสมอ และต้องอาศัยการทำงานแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน เพื่อให้เกิดการ Change for Good ทำสิ่งที่ดีให้เกิดกับพี่น้องประชาชน

“งานทุกงานอยู่ที่หัวใจของเราทุกคน เพราะ “ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว” เช่นเดียวกับที่ ดร.คาซึโอ อินาโมริ อดีตประธานบริษัท Kyocera ที่มุ่งเน้นความสำคัญของคน คือ ทุกคนทำงานต้องมีแรง Passion และ Attitude มาก่อนการมี Ability และ Knowledge คือ แม้ว่าเราจะมีความรู้ความสามารถที่น้อย แต่ถ้าหากเรามี Passion และ Attitude ที่ดี ก็จะช่วยผลักดันให้เกิดการอยากทำสิ่งที่ดีที่เป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้ เพราะว่าเรามีภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เรามีทีมที่ดี (Partnership) ซึ่งมีคุณค่ายิ่งต่อการทำงาน ซึ่งนายอำเภอต้องทำงานแบบบูรณาการงานของทุกกระทรวง นำทุกภาคส่วนร่วมด้วยช่วยกันขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดสิ่งที่ดีกับพี่น้องประชาชนให้ได้ เช่น แอปพลิเคชันไทยดี (ThaID) เป็นอีกเรื่องสำคัญของพวกเราทุกคนที่ต้องร่วมกันประชุมหาวิธีประชาสัมพันธ์เชิญชวนขยายผลให้คนไทยทุกคนมาลงทะเบียนและใช้งานในการธุรกรรมกับภาครัฐ ซึ่งทั้งที่จริงแล้วไม่ใช่เรื่องยากที่เราจะทำ ดังนั้น คนที่เป็นผู้นำต้องทำทั้งงานหลักที่เป็น (Routine Job) และงานนโยบาย (Extra Job) และการรายงาน (Report) ทั้งรายงานผลการดำเนินงานให้กระทรวงทราบ และสร้างการรับรู้สื่อสารสังคม ซึ่งหากนายอำเภอทุกคนทำได้ก็จะเป็นผลดีอย่างยิ่งต่อราชการและต่อพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้พวกเราช่วยกันคิด ช่วยกันรับผิดชอบ ทำให้การมาใช้ชีวิตในการมาอบรมนักเรียนนายอำเภอที่ ศพช.นครนายก ไม่เสียเวลาเปล่า ด้วยการสร้างงานที่มีคุณค่า และตระหนักเสมอว่าหลังจากผ่านการอบรมไปแล้วจะทำหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชนและประเทศชาติได้อย่างไร ทั้งนี้ การดำรงตำแหน่งผู้นำของพื้นที่นั้น คำว่าอายุราชการไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะการทำความดีไม่มีวันหมดอายุ การทำประโยชน์สูงสุด อยู่ที่หัวใจ แรงปรารถนา และทัศนคติ และหน้าที่สำคัญหลังจากที่ทุกท่านผ่านการอบรมไปแล้ว คือ การทำให้คนไทยทุกคนมีความสุข มีรอยยิ้ม และคราบน้ำตาแห่งความภาคภูมิใจ ไปนั่งในหัวใจ เป็นที่รักและที่ศรัทธา ด้วยการขับเคลื่อนงานและขยายผลให้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ของประเทศไทย ให้เกิดผลดีกับพี่น้องประชาชนอย่างเต็มความสามารถ เริ่มจากการขับเคลื่อนการสวมใส่ผ้าไทย ตามโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก เพราะเป็นการสร้างความมั่นคงด้านเครื่องนุ่งห่ม และเม็ดเงินจะลงไปสู่พี่น้องประชาชนโดยตรง ไปกระตุ้นให้คนในชุมชนที่ทอผ้าได้มีลมหายใจประกอบอาชีพทอผ้าต่อไป รวมถึงการแนะนำส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้ประชาชนพึ่งพาตนเองได้ ด้วยการส่งเสริมการปลูกฝ้าย ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และการน้อมนำพระราชดำริสร้างความมั่นคงทางอาหารของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตามโครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน” และขยายผลไปสู่ความยั่งยืน ดังนั้น จึงขอให้พวกเราเป็นผู้นำการขับเคลื่อนในการทำสิ่งที่ดี โดยยึดหลักการทำงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และหลักอริยสัจ 4 (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) และต้องตระหนักอยู่เสมอว่าการทำงานจะได้ผลดีและสำเร็จอย่างยั่งยืน ต้องเอาหลักแห่งความสำเร็จของโครงการพระราชดำริ 4,741 โครงการ คือ ร่วมพูดคุย ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับประโยชน์ ด้วยการทำให้คนในชุมชน ได้มีโอกาสในการพูดคุยอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำ และอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับที่ ต.โก่งธนู จ.ลพบุรี ที่เป็นพื้นที่ต้นแบบการเป็นตำบลยั่งยืน ที่เราต้องทำให้ทุกหมู่บ้านเป็นหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ทั่วทั้งประเทศไทย ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้รับพระราชทานพระอนุญาตจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ให้น้อมนำไปขับเคลื่อน ด้วยการพัฒนาหมู่บ้าน ทำให้ประชาชนมีความสุขและพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งมีหลักการสำคัญว่า "ประโยชน์สูงสุดเป็นของประชาชน" ทั้งการมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงและถูกสุขลักษณะ มีความมั่นคงทางอาหาร บ้านเรือนมีความสะอาดเรียบร้อย มีความปลอดภัยทางชีวิตและทรัพย์สิน มีความสามัคคีร่วมมือกัน มีจิตอาสา มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มบ้าน คุ้มบ้าน หย่อมบ้าน ป๊อกบ้าน มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ วัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามให้เด็กเยาวชน ซึ่งเมื่อทำได้ในทุกอำเภอ ทุกจังหวัด ทั่วประเทศไทยก็จะมีความสุขอย่างยั่งยืน

“ขอให้พวกเราช่วยกัน พูดคุย และให้กำลังใจกัน มุ่งมั่นเป็น “ผู้นำการเปลี่ยนแปลงการขับเคลื่อนศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ที่สำคัญของประเทศชาติ ทำให้คนมหาดไทยเป็นที่รักและห่วงใยของพี่น้องประชาชน และขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จในการทำหน้าที่ราชสีห์ผู้ภักดีของแผ่นดิน ให้เราชาวมหาดไทยมีศักดิ์ศรีในการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ และต้องทำทันที (Action now) เข้าไปนั่งในหัวใจคน เป็นที่รัก เป็นขวัญใจของพี่น้องประชาชน ทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย