นางประเทือง วาจรัต ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 11 อุบลราชธานี (สศท.11) เผยถึงการติดตามการดำเนินงานกลุ่มแปลงใหญ่ไม้ดอกไม้ประดับ บ้านหนองคูใต้ ต.โนนโหนน อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ที่เริ่มจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2562 จากเดิมเกษตรกรในหมู่บ้านประกอบอาชีพทำนาเป็นหลัก แต่ประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ จึงปรับเปลี่ยนพื้นที่บางส่วนมาปลูกไม้ดอกไม้ประดับเป็นพืชใช้น้ำน้อยและได้รับผลตอบแทนดีกว่า จนเกิดการรวมกลุ่มบริหารจัดการร่วมกัน สร้างภาคีเครือข่าย พัฒนาองค์ความรู้ และพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ ทำให้ปัจจุบันกลุ่มมีพื้นที่ปลูกรวม 54 ไร่ สมาชิก 30 ราย มีการปลูกไม้ดอกไม้ประดับเพื่อจำหน่ายทั้งหมด 38 ชนิด ได้แก่ เฟื่องฟ้า, ทองอุไร, ดอกเข็ม, ม่วงส่าหรี, ดอกพุด, ดอกมะลิ, ดอกราตรี, บอนหลากสายพันธุ์ ฯลฯ

“การจัดการของกลุ่มแปลงใหญ่ไม้ดอกไม้ประดับ บ้านหนองคูใต้ เกษตรกร 1 ครัวเรือน จะปลูกไม้ดอกไม้ประดับประมาณ 4-5 ชนิด ปลูกสลับหมุนเวียนแต่ละชนิดกันไป ใน 1 ปี ปลูกได้ประมาณ 3 รอบการผลิต หรือรอบละ 4 เดือน ในพื้นที่ 1 ไร่ สามารถปลูกได้ประมาณ 5,000 ต้น มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ยไร่ละ 113,055 บาทต่อปี ประกอบด้วย ดินปลูก ถุงเพาะชำ กระถาง กิ่งพันธุ์ ปุ๋ย ค่าน้ำ ค่าไฟ การดูแลรักษา และค่าแรงงาน ได้ผลผลิตรวมไร่ละ 15,000 ถุงต่อปี”

...

สำหรับการจำหน่าย ผอ.สศท.11 บอกว่า เกษตรกรจะเริ่มจำหน่ายเมื่อต้นกิ่งชำมีอายุ 4 เดือน ราคาที่เกษตรกรขายได้ แบ่งเป็น แบบถุงดำ ขนาด 4.5 นิ้ว ราคาต้นละ 12-15 บาท แบบกระถาง ขนาด 11 นิ้ว ราคาต้นละ 40 บาท, ขนาด 15 นิ้ว ราคา 120 บาท โดยราคาขายขึ้นอยู่กับขนาด ชนิดพันธุ์ และความนิยมของตลาด

แต่โดยเฉลี่ยแล้วเกษตรกรจะได้ผลตอบแทนไร่ละ 180,000 บาทต่อปี หักต้นทุนการผลิตแล้วจะเหลือกำไรไร่ละ 66,945 บาทต่อปี หากคิดเป็นรายได้ของทั้งกลุ่มอยู่ที่ปีละ 9,720,000 บาท

“เกษตรกรที่นี่จะผลิตไม้ดอกไม้ประดับหลายชนิด ปริมาณการผลิตแต่ละชนิดในจำนวนไม่มาก ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาด ด้านสถานการณ์ตลาด ผลผลิตส่วนใหญ่ ร้อยละ 90 จะจำหน่ายให้พ่อค้าในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง โดยพ่อค้าจะมารับถึงสวนของเกษตรกร ส่วนผลผลิตอีกร้อยละ 10 จำหน่ายให้ลูกค้าทั่วไป และเริ่มมีจำหน่ายผ่านออนไลน์ ได้แก่ Line และ Facebook ของเกษตรกรเอง”

นางประเทือง เผยถึงความสำเร็จของกลุ่มแปลงใหญ่ไม้ดอกไม้ประดับ บ้านหนองคูใต้ มาจากการมุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้ได้มาตรฐาน ตรงกับความต้องการของตลาด โดยทางกลุ่มมีวิธีการดำเนินงานที่เป็นระบบ มีการจัดทำระบบฐานข้อมูลไม้ดอกไม้ประดับแต่ละชนิด เพื่อนำไปใช้ในการประชาสัมพันธ์ ทำให้ลูกค้าเห็นลักษณะต้นไม้ ดอกไม้ ทำให้ง่ายต่อการตัดสินใจในการซื้อ อีกทั้งสมาชิกได้รับการพัฒนาองค์ความรู้อย่างสม่ำเสมอ โดยมีหน่วยงานสำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานีเข้ามาสนับสนุนในด้านการให้ความรู้ และให้งบประมาณในการทำแปลงเรียนรู้ การทำปุ๋ยหมัก มีการจัดทำฐานข้อมูลสมาชิก เก็บข้อมูลโดยใช้ GPS ระบุตำแหน่งของสวนให้กับสมาชิก และยังนำภูมิปัญญาชาวบ้านโดยการนำดินเหลนบ่อน้ำในไร่นามาผสมเป็นดินปลูกส่งผลให้เจริญเติบโตดี.