ผู้นำประเทศยุคปัจจุบันไม่มีใครไม่พูดถึงการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ (Climate Change) และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะหากทั่วโลกไม่พร้อมใจกันรับมือปัญหาตั้งแต่ตอนนี้ ในอนาคตโลกจะเผชิญหายนะครั้งใหญ่ ความเสียหายอาจรุนแรงจนไม่อาจกู้คืนมาได้

เมื่อเดือนที่แล้วมีข้อมูลจาก องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ประเมินว่า ภายใน 5 ปีข้างหน้า โลกจะร้อนขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม และจะร้อนในระดับนั้นอยู่อย่างน้อย 1 ปี กลายเป็นช่วงเวลาที่โลกทำสถิติร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ ปัจจัยที่ทำให้มีโอกาสเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประกอบกับเอลนีโญ

ในเอ็มโอยูการจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคที่มีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำ ได้ให้ความสำคัญกับสภาวะโลกร้อนเช่นกัน โดยข้อ 22 ระบุจะสร้างความร่วมมือและกลไกภายในและระหว่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นพิษ รวมถึง การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero) โดยเร็วที่สุด

เอ็มโอยูระบุเพียงหัวข้อกว้างๆไว้อย่างนี้ ยังไม่รู้ว่าจะมีแผนการดำเนินการอย่างไรบ้าง แต่มีข้อสังเกตว่าในเอ็มโอยูเอ่ยถึงแค่ Net Zero เท่านั้น ไม่ได้ระบุถึง Climate Change ทั้งที่เป็นภาพใหญ่และส่งผลรุนแรงมากยิ่งกว่า

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้คงต้องลุ้นก่อนว่ารัฐบาลใหม่จะจัดตั้งเสร็จเมื่อไหร่ และใครบ้างจะมาเป็นรัฐมนตรีผลักดันเรื่องเหล่านี้ ก็หวังว่าจะได้คนที่มีความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ สามารถสร้างความตื่นตัวและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อรับช่วงขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวทันกระแสโลกได้ทันท่วงที

Climate Change ส่งสัญญาณเตือนโลกมาเป็นระยะ เช่น วิกฤติน้ำท่วมหนัก อากาศร้อนสุดขั้ว พายุหิมะถล่มรุนแรง ฯลฯ ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ สัตว์ และพืชซึ่งเป็นแหล่งอาหาร หลายประเทศจึงต้องออกมาตรการสกัดยับยั้งโลกร้อน ส่งผลถึงอุตสาหกรรมแขนงต่างๆต้องปรับตัวขนานใหญ่

...

สหภาพยุโรป (อียู) กำลังจะใช้ มาตรการภาษีคาร์บอน (Carbon Boarder Adjustment Mechanism หรือ CBAM) เป็นกำแพงภาษีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่จะบังคับใช้กับทุกประเทศทั่วโลก เริ่มวันที่ 1 ต.ค.นี้ เบื้องต้นเป็นการทดลองใช้ไปก่อน และจะบังคับใช้จริงวันที่ 1 ม.ค.2569

การทดลองใช้หมายถึงสินค้าทุกชนิดที่กำหนดภายใต้เงื่อนไขของ CBAM จะต้องชี้แจงปริมาณคาร์บอนฟุตปรินต์ของสินค้านั้นๆ ตอนแรกที่มาตรการนี้ออกมามีผลบังคับใช้กับสินค้าแค่ 5 ชนิด คือ 1.เหล็กและเหล็กกล้า 2.อะลูมิเนียม 3.ปุ๋ย 4.ซีเมนต์ 5.พลังงาน และเมื่อมาตรการนี้มีผลบังคับใช้แล้วจะมีการเพิ่มสินค้าเข้าไปอีกเช่น สารอินทรีย์พื้นฐาน พลาสติก และโพลิเมอร์ แก้ว เซรามิก ยิปซัม และกระดาษ

ขณะเดียวกับสหรัฐอเมริกาก็อยู่ระหว่างร่างกฎหมายเก็บภาษีคาร์บอนจากสินค้าที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน เมื่ออียูกับสหรัฐฯนำร่องไปแล้ว ต่อไปเกือบทุกประเทศก็จะนำประเด็นสิ่งแวดล้อมมาตั้งกำแพงภาษีเช่นกัน

ตลอดเวลา 4 ปีที่ คุณวราวุธ ศิลปอาชา อยู่ในตำแหน่ง รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้วางโครงสร้างและปลุกความตื่นตัวเรื่องคาร์บอนเครดิต และ Climate Change อย่างต่อเนื่อง ทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร ภาคธุรกิจ ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐ และด้านวิชาการ จนเป็นที่ยอมรับทั้งระดับประเทศและระดับสากล

เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหม่และเข้าใจได้ไม่ง่าย แต่ถ้าทั่วโลกบังคับใช้กำแพงภาษีแล้ว ไทยก็ต้องปฏิบัติตามโดยไม่อาจโต้แย้ง ดังนั้นรัฐบาลใหม่ต้องสร้างความเข้าใจกับทุกฝ่ายอย่างเร่งด่วน และเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ อุตสาหกรรม และการทำการเกษตรอย่างเร็วที่สุด ไม่เช่นนั้นไทยจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่น เพราะสินค้าไทยจะโดนกำแพงภาษีด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้ราคาแพงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

รมต.วราวุธย้ำเสมอว่า ปัญหา Climate Change กว่าจะพอกพูนมาจนถึงวันนี้ใช้เวลาหลายทศวรรษ การจะแก้ปัญหาให้เห็นผลก็คงไม่ใช่แค่ปีสองปี แต่ต้องใช้เวลานับทศวรรษเช่นกัน ดังนั้นหากมัวอิดออดเกี่ยงกันไปมา รุ่นลูกหลานเราอาจต้องเป็นผู้รับเคราะห์

ผมขอฝากรัฐบาลใหม่ผลักดันเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติด้วยครับ.

ลมกรด