“กระทรวงแรงงาน” ได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการการทำงานของ “คนต่างด้าว”...สัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม โดยคำนึงถึงความมั่นคงของประเทศและความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนชาวไทย

นอกจากนี้แล้ว ที่ผ่านมายังมีโครงการอบรมนายจ้าง สถานประกอบการฯ เพื่อเป็นการสร้างความร่วมมือในการป้องกัน ควบคุม การแก้ไขปัญหา “การค้ามนุษย์”...ด้านแรงงานต่างด้าว

ลด...การกระทำผิดตามกฎหมาย

ยกตัวอย่างจังหวัดปทุมธานี...ถือเป็นจังหวัดหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยมีสถานประกอบการจำนวนมาก มีการประกอบกิจการหลากหลาย ทั้งกิจการขนาดใหญ่ กิจการค้าส่ง ค้าปลีก รับเหมาก่อสร้าง จนถึงการค้ารายย่อยต่างๆ

ซึ่งกิจการธุรกิจเหล่านี้...ล้วนแล้วแต่ต้องใช้แรงงานต่างด้าวในการขับเคลื่อนธุรกิจ จึงต้องเน้นย้ำไปยังนายจ้าง ผู้ประกอบการให้ใช้แรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายสอดคล้องตามนโยบายในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ด้านแรงงานของรัฐบาล

“แรงงานไทย แรงงานต่างด้าว กระทรวงแรงงานคุ้มครองดูแล สิทธิตามกฎหมายอย่างเท่าเทียม”

...

กระนั้นแล้วในภาพใหญ่ต้องยอมรับว่าภายหลังการผ่อนคลายมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัส “โควิด-19” รัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งฟื้นฟูประเทศไทย สถานประกอบกิจการภาคเอกชนเริ่มกลับมาเปิดกิจกรรมกิจการ ส่งผลให้เกิดความต้องการแรงงานเพิ่มมากขึ้น

โดยเฉพาะในประเภทกิจการที่ขาดแคลนแรงงาน ได้แก่ กิจการประมงทะเล กิจการอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรและอาหาร เพื่อการส่งออก อุตสาหกรรมก่อสร้าง การท่องเที่ยวและบริการ

เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงและเศรษฐกิจของประเทศ ไม่นานมานี้ ครม.ได้เห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ 2 ประเด็น ขยายเวลาอยู่ต่อและทำงานให้แรงงานต่างด้าวตาม MOU (ครบ 4 ปี) ถึง 31 ก.ค. 66 เพื่อให้นายจ้างยื่นเอกสารนำเข้าตาม MOU

และขยายเวลาให้แรงงานต่างด้าวที่ทำหนังสือเดินทางไม่ทันภายใน 15 พ.ค.66 ให้อยู่เพื่อทำงานและทำหนังสือเดินทางให้แล้วเสร็จ ถึง 31 ก.ค.66

สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แจกแจงรายละเอียดไว้ว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเรื่องการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคง และเศรษฐกิจของประเทศ

ประการแรก...ผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ที่เข้ามาทำงานตาม MOU ที่วาระการจ้างงานครบกำหนด 4 ปี (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2565-31 กรกฎาคม 2566)

สุชาติ ชมกลิ่น
สุชาติ ชมกลิ่น

สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษและทำงานเป็นการชั่วคราวถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่ยังอยู่ในช่วงรัฐบาลรักษาการ ในระหว่างการผ่อนผันให้นายจ้างที่ประสงค์จะจ้างคนต่างด้าวดำเนินการขออนุญาตนำแรงงานต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนผันเข้ามาทำงานตาม MOU ควบคู่ไปด้วย

และ...ให้แรงงานต่างด้าวที่หนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางหมดอายุหรือการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุด สามารถเดินทางกลับประเทศได้

ประการถัดมา...ผ่อนผันให้คนต่างด้าว 4 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ซึ่งไม่สามารถจัดทำหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง และประทับตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ทันภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2566

...

...อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษและทำงานเป็นการชั่วคราว ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 เพื่อจัดทำหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง โดยอนุญาตให้อยู่และทำงานได้ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 หรือ 13 กุมภาพันธ์ 2568 แล้วแต่กรณี

ย้ำว่า...“แรงงานต่างด้าวเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนกิจการของผู้ประกอบการจำนวนมาก ปัญหาขาดแคลนแรงงานจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะกระทบต่อผู้ประกอบการที่จ้างแรงงานต่างด้าว และเศรษฐกิจของประเทศอย่างแน่นอน”

คณะรัฐมนตรีจึงถือเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ต้องพิจารณา เพื่อให้ผู้ประกอบการมี “แรงงานต่างด้าว” เพียงพอในการขับเคลื่อนกิจการ รักษาความมั่นคงและแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ

ขณะที่การใช้แรงงานต่างด้าว ถูกกฎหมายดำเนินไปก็มีแรงงานต่างด้าวพยายามลักลอบเข้ามาทำงานในประเทศไทยอยู่อย่างต่อเนื่อง จากการลงพื้นที่จังหวัดระนองเมื่อไม่นานมานี้ ณ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ตำบลบางริ้น อำเภอเมืองระนอง

พบว่ามี...คนต่างด้าวที่ถูกกักตัวระหว่างรอการส่งกลับและส่งกลับคนต่างด้าวออกไปนอกราชอาณาจักร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ถูกจับโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจำนวน 1,029 คน คนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองจำนวน 14,882 คน

...

นับรวมไปถึงผู้นำพา ผู้ให้ที่พักพิงคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง 571 คน และขยายผลจับกุมเครือข่ายลักลอบขนแรงงานต่างด้าวเข้ามาในประเทศ จำนวน 396 ราย

โครงการบริหารจัดการเพื่อการสกัดกั้นคนต่างด้าวลักลอบหลบหนีเข้าเมืองฯนี้ มุ่งสกัดกั้นการลักลอบ...ขยายผลการจับกุมผู้กระทำความผิดในรูปแบบเครือข่ายลักลอบขนแรงงานต่างด้าวเข้ามาในประเทศ รวมถึงแก้ไขปัญหาคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากสิทธิที่ทำได้

ที่ผ่านมา...สภาอุตสาหกรรมฯ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย รวมทั้งองค์กรภาคเอกชน มีหนังสือถึงกระทรวงแรงงานร้องขอให้มีมาตรการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวตาม MOU ที่ครบวาระการจ้างงานให้สามารถทำงานได้ต่อไป หรือสามารถกลับเข้ามาทำงานตาม MOU ได้โดยสะดวก

ไพโรจน์ โชติกเสถียร
ไพโรจน์ โชติกเสถียร

...

ไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางานบอกว่า กรมการจัดหางานพิจารณาแล้วเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ต้องช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของนายจ้าง

“ลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น และลดภาระค่าใช้จ่ายของนายจ้างผู้ประกอบการและลูกจ้าง เพื่อให้ธุรกิจยังคงดำเนินต่อไปได้”

พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยฝากทิ้งท้ายว่า ต้องขอขอบคุณที่มีมาตรการเชิงรุกในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ช่วยแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที มิฉะนั้นภาคการผลิตและธุรกิจบริการซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่ใช้แรงงานต่างด้าวในการขับเคลื่อนจะต้องรับผลกระทบอย่างรุนแรง

“การช่วยเหลือในครั้งนี้...นอกจากทำให้ดำเนินธุรกิจไปได้อย่างต่อเนื่องแล้ว ยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ถือเป็นการแก้ปัญหาได้ตรงเป้าหมาย”.