นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ฤดูฝนมีผลให้คุณภาพน้ำมีการเปลี่ยนแปลง อุณหภูมิ ปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำ ความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ความเค็ม และความขุ่น ล้วนกระทบต่อสุขภาพของสัตว์น้ำ ทำให้สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน เกิดความเครียด อ่อนแอ เสี่ยงที่จะเกิดโรคได้ง่าย และอาจตายได้อย่างฉับพลัน จึงขอแจ้งเตือนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้เฝ้าระวังปฏิบัติตามคำแนะนำเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายที่เกิดขึ้น

“อันดับแรกวางแผนการเลี้ยงให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และฤดูกาล ให้สามารถจับจำหน่ายได้ก่อนช่วงรอยต่อระหว่างฤดูฝนถึงฤดูหนาว และเตรียมกั้นตาข่ายกันสัตว์น้ำหนี ควรเลือกลูกพันธุ์สัตว์น้ำจากฟาร์มผู้ผลิตที่ได้มาตรฐานและเชื่อถือได้ สัตว์น้ำแข็งแรง ไม่มีบาดแผลหรือแสดงอาการของโรคสัตว์น้ำ ควรปล่อยสัตว์น้ำลงเลี้ยงในอัตราความหนาแน่นน้อยกว่าปกติ เพื่อลดความสูญเสียจากสภาพอากาศที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว”

อธิบดีกรมประมงแนะอีกว่า ให้เลือกใช้อาหารที่มีคุณภาพ ให้ในปริมาณที่เหมาะสม เสริมสารอาหารหรือวิตามินที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตและการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของสัตว์น้ำ เช่น โปรไบโอติก วิตามินซี วิตามินรวม เป็นต้น วางแผนจัดการคุณภาพน้ำที่ดีให้เหมาะสมกับการเลี้ยงสัตว์น้ำ หากสภาพอากาศปิดมีฝนตก ปริมาณออกซิเจนในน้ำจะลดลงอย่างฉับพลัน สามารถป้องกันการตายของสัตว์น้ำโดยการเปิดเครื่องตีน้ำ จะช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนในน้ำได้

...

“ควรตรวจสอบเรื่องปริมาณอาหารที่เหลือ เนื่องจากในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงสัตว์น้ำกินอาหารลดลง อาหารที่สะสมก้นบ่อจะทำให้สารอินทรีย์เพิ่มขึ้น เป็นแหล่งสะสมของเชื้อก่อโรค ควรทำความสะอาดพื้นบ่อ หรือเปลี่ยนถ่ายน้ำอย่างสม่ำเสมอ ควรหมั่นตรวจสุขภาพสัตว์น้ำ กรณีที่สัตว์น้ำเกิดการป่วยหรือตายควรกำจัดโดยการฝังกลบหรือเผา ไม่ควรทิ้งสัตว์น้ำที่ป่วยหรือตายไว้ในบริเวณบ่อเลี้ยงหรือกระชัง หรือเอาให้สัตว์น้ำอื่นกินเพราะจะเป็นการแพร่กระจายเชื้อโรคทำให้เกิดการระบาดได้ กรณีที่พบสัตว์น้ำมีอาการผิดปกติ ให้รีบหาสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้สัตว์น้ำป่วยและตาย และให้รีบแก้ไขตามสาเหตุ หากไม่ทราบหรือไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้ด้วยตนเอง ให้รีบปรึกษาผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์”

นายเฉลิมชัย แนะนำอีกว่า โรคที่ควรเฝ้าระวังในหน้าฝน จะเป็นโรคเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคตัวด่างที่มีสาเหตุจากเชื้อฟลาโวแบคทีเรียม มักพบหลังจากการย้ายบ่อหรือการขนส่ง ปลาที่ป่วยจะมีแผลด่างขาวตามลำตัว ดังนั้นหลังการเคลื่อนย้ายหรือขนส่งปลาให้ใช้เกลือแกง 1 กิโลกรัมต่อปริมาตรน้ำ 1 ตัน เพื่อช่วยลดความเครียด

สำหรับโรคในกุ้งควรเฝ้าระวังปรสิตที่มีสาเหตุจากซูโอแทมเนียม หากพบปริมาณมาก อาจส่งผลต่อการลอกคราบ ทำให้กุ้งลอกคราบไม่ออก การรักษาสามารถทำได้โดยวิธีการแช่ด้วยฟอร์มาลิน 25-50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 1 ตัน ระยะเวลาการแช่ 24 ชั่วโมง

นอกจากนี้หมั่นสังเกตลักษณะอาการภายนอกและพฤติกรรมของสัตว์น้ำอย่างสม่ำเสมอ เช่น การเกิดบาดแผลบริเวณผิวหนัง หายใจถี่ การรวมกลุ่มตามขอบบ่อ การกินอาหารน้อยลง เพื่อให้สามารถหาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่พบได้อย่างรวดเร็วและยังเป็นการลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการตายของสัตว์น้ำได้ หากเกษตรกร พบปัญหาด้านโรคสัตว์น้ำ สามารถขอรับคำปรึกษาและคำแนะนำได้ที่สำนักงานประมงอำเภอ/จังหวัด หรือหน่วยงานของกรมประมงทุกแห่งทั่วประเทศ หากต้องการส่งสัตว์น้ำป่วยเพื่อตรวจวินิจฉัยโรค หรือขอคำแนะนำด้านโรคสัตว์น้ำ ติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่กองวิจัยและพัฒนาสุขภาพสัตว์น้ำ กรมประมง โทร. 0-2561-3372 หรือศูนย์วิจัยและพัฒนาสุขภาพสัตว์น้ำสงขลา โทร. 0-7433-5244-5.

...