วันที่ 1 มิถุนายน 2566 มีข้อมูลเผยแพร่อัปเดตความรู้เกี่ยวกับ “วัคซีนโควิด-19” จากการประชุมเชิงปฏิบัติการของ International Coalition of Medicines Regulatory Authorities (ICMRA) และอภิปรายเกี่ยวกับทิศทางวัคซีนในอนาคต โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

หนึ่ง...วัคซีนรุ่นดั้งเดิมซึ่งมีส่วนประกอบของสายพันธุ์ดั้งเดิมนั้น แม้จะยังพอช่วยลดความเสี่ยงในการป่วยรุนแรงได้ แต่ประสิทธิภาพก็ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป ทั้งนี้ จากการติดตามการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ของไวรัส พบว่า...ไวรัสที่ระบาดในปัจจุบันมีลักษณะที่แตกต่างจากสายพันธุ์ดั้งเดิมอย่างมาก

สอง...งานวิจัยเกี่ยวกับระดับภูมิคุ้มกันจากวัคซีนนั้น ชี้ให้เห็นว่า การปรับวัคซีนให้มีสายพันธุ์ที่สอดคล้องกับสายพันธุ์ที่ระบาดจะกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันในร่างกายได้ดีกว่าวัคซีนสายพันธุ์ดั้งเดิม

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนเกี่ยวกับสรรพคุณในการป้องกัน

...

สาม...โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย XBB นั้นเป็นสายพันธุ์ไวรัสที่ระบาดหลักทั่วโลก และมีลักษณะทางพันธุกรรมที่แตกต่างจากสายพันธุ์ดั้งเดิมมาก ดังนั้น XBB จึงน่าจะเป็นแคนดิเดตของสายพันธุ์ไวรัสที่ควรใช้ในการผลิตวัคซีนรุ่นใหม่เพื่อนำมาใช้

สี่...วัคซีนสำหรับฉีดกระตุ้นในอนาคตน่าจะเป็นประเภทสายพันธุ์เดียว หรือ Monovalent vaccine ทั้งนี้เพราะปัจจุบันคนส่วนใหญ่ทั่วโลกมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เดิมๆอยู่แล้ว ทั้งจากการได้รับวัคซีนรุ่นดั้งเดิม และที่เคยติดเชื้อมาก่อนจากระลอกที่ผ่านๆมา

ห้า...วัคซีนแบบ Monovalent นั้น สามารถใช้เป็นวัคซีนเข็มแรกเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในคนที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันได้ด้วย เนื่องจากปัจจุบันสายพันธุ์เดิมๆที่เคยระบาดนั้นได้หายไปแทบทั้งหมดแล้ว จึงไม่น่าจะมีความจำเป็นที่จะบรรจุสายพันธุ์เดิมๆในวัคซีนที่จะใช้ในอนาคต

หก...คาดการณ์ว่าการใช้วัคซีนเพื่อฉีดสร้างภูมิคุ้มกันในคนที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันนั้น อาจใช้ในประชากรเฉพาะกลุ่ม อาทิ เด็กที่อายุน้อยกว่า 4-5 ปี อย่างไรก็ตาม อาจมีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ แต่ละภูมิภาคของโลก ขึ้นอยู่กับข้อมูลการสำรวจภูมิคุ้มกันและสถานการณ์การระบาดที่ผ่านมา

เจ็ด...มีความจำเป็นที่จะต้องมีกลไกการติดตามข้อมูลภาพรวมทั่วโลกและตัดสินใจระดับนโยบาย เพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ต่างๆของไวรัสที่จะใช้ผลิตวัคซีน โดยอาศัยข้อมูลวิชาการที่ครบถ้วน

และที่สำคัญคือ...ต้องพิจารณาเงื่อนเวลาให้เหมาะสม เพราะสัมพันธ์กับภาคอุตสาหกรรมวัคซีนที่ต้องใช้เวลาในการผลิตและนำส่งไปสู่ผู้ใช้

...เหนืออื่นใด เราคงต้องตระหนักถึงสถานการณ์จริงในปัจจุบันว่า การระบาดทั่วโลกยังไม่ได้สิ้นสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย ที่ยังมีการติดเชื้อกันอยู่มากในแต่ละวัน

“วัคซีนช่วยในการลดเสี่ยงป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ระดับหนึ่งเท่านั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ การใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ป้องกันตัวสม่ำเสมอ” รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ว่า

“พึงรับรู้ไว้ว่า ติดเชื้อแต่ละครั้ง เสี่ยงป่วย รุนแรง และเสียชีวิต รวมถึงเกิดลองโควิดในระยะยาวได้...ระมัดระวังที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี...เลี่ยงการกินดื่ม แชร์ของใช้ร่วมกับผู้อื่นนอกบ้าน”

หากตัวเราหรือสมาชิกในครอบครัวไม่สบาย ควรรีบแยกตัว ป้องกันตัวตามมาตรฐานที่แนะนำ และไปรับการตรวจรักษา...การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องจะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

...

ถึงตรงนี้ให้รู้ต่อไปอีกว่าลักษณะสายพันธุ์ย่อยไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดในไทยนั้น ข้อมูลจาก cov-spectrum รายงานว่า ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน มีผลการตรวจสายพันธุ์ของไทย จำนวน 199 ตัวอย่าง โดย XBB.x ครองสัดส่วนราว 90.45% และพบทั้งหมด 40 สายพันธุ์ย่อย

ทั้งนี้...สายพันธุ์ย่อยที่มีสัดส่วนตรวจพบ สามอันดับแรก ได้แก่ XBB.1.16 พบสูงสุดราว 22.11%, XBB.1.5 14.07%, XBB.1.9.1 10.55%

หากเปรียบเทียบกับช่วง 1-30 เมษายน 2566 มีผลการตรวจสายพันธุ์ของไทยจำนวน 527 ตัวอย่าง โดย XBB.x ครองสัดส่วนราว 90.09% และพบทั้งหมด 65 สายพันธุ์ย่อย ทั้งนี้สายพันธุ์ย่อยที่มีสัดส่วนตรวจพบสามอันดับแรก ได้แก่ XBB.1.16 พบสูงสุดราว 21.82%, XBB.1.5 10.25%, XBB.1.9.1 10.06%

ตอกย้ำ...สถานการณ์เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ยังคงมีคนติดเชื้อต่อเนื่อง ทั้ง “เด็ก” และ “ผู้ใหญ่” ตรวจคนไข้ยังพบลองโควิดอยู่เรื่อยๆ ทั้งไอเหนื่อย สมองตื้อ วันนี้ก็เจอลำไส้แปรปรวน...ได้ส่งไปตรวจเพิ่ม

สำหรับหลายๆคำถามที่เกี่ยวกับ “วัคซีน” ยังย้ำว่า...กลุ่มเสี่ยง สูงอายุ อ้วน มีโรคเรื้อรังประจำตัว ควรไปฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น...คนกลุ่มอื่น ควรประเมินความเสี่ยงในการใช้ชีวิตประกอบการตัดสินใจ

...

อย่างไรก็ตาม วัคซีนอย่างเดียวป้องกันเสี่ยงป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้บางส่วนเท่านั้น พฤติกรรมป้องกันตัวระหว่างใช้ชีวิตประจำวันมีความสำคัญมาก...ใส่หน้ากากให้ถูกต้องจะลดเสี่ยงไปได้มาก

อีกข้อค้นพบ...การนอนหลับที่ดี ช่วยลดความเสี่ยงลองโควิด ข้อมูลนี้มาจาก Wang S และคณะจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ผลการวิจัยใน JAMA Network Open (30 พ.ค.2566)

ศึกษาในกลุ่มประชากรเพศหญิงราว 2,000 คน พบว่า คนที่มีการนอนหลับที่ดี ก่อนเกิดการติดเชื้อโรคโควิด–19 จะมีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหาลองโควิด น้อยกว่าคนที่มีปัญหาด้านคุณภาพการนอนหลับราว 18%

แม้ว่ายังไม่มีการศึกษาเกี่ยวกับกลไกที่จะอธิบายข้อค้นพบดังกล่าว แต่ก็คงเป็นการดีหากเราดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานให้ครบถ้วน ทั้งการกินอาหารที่มีประโยชน์ การอยู่อาศัยในที่ที่ระบายอากาศที่ดี...

การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอและมีคุณภาพ รวมถึงการออกกำลังกาย เลี่ยงสิ่งเสพติดทุกชนิด

...

ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติจำนวนไม่น้อยให้ฉายา “ลองโควิด” ว่า “Disability Roulette” เหมือนกับที่เคยเปรียบเปรยให้ทราบกันว่า การติดเชื้อแต่ละครั้งเหมือนต้องเสี่ยงกับเกมรัสเซียนรูเล็ตต์นั่นเอง ว่าจะแจ็กพอตประสบปัญหาลองโควิดหรือไม่?

ซึ่งหากเป็น ก็จะกระทบต่อสถานะสุขภาพ คุณภาพชีวิต สมรรถนะในการจัดการตนเองในชีวิตประจำวันระยะยาว...ดังนั้นการป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อหรือไม่ติดซ้ำย่อมดีที่สุดครับ และการลดเสี่ยง ลองโควิดที่มีหลักฐานพิสูจน์แล้วมีเพียงวัคซีน, Paxlovid, Entrelsivir, Monupiravir

“ใส่หน้ากากอย่างถูกต้องเสมอ จะช่วยลดเสี่ยงลงไปได้มาก ติดเชื้อแต่ละครั้งไม่จบแค่ชิลชิลแล้วหาย แต่ป่วยได้ รุนแรงได้ ตายได้ และเสี่ยงต่อภาวะผิดปกติระยะยาวอย่างลองโควิด”

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ฝากย้ำทิ้งท้ายว่า ความใส่ใจสุขภาพ ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ป้องกันตัวสม่ำเสมอ เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนไทยที่ต้องการ “สวัสดิภาพ” และ “ความปลอดภัย” ในชีวิตของตนเองและครอบครัว.