สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหารือสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ร่วมผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ไทยผ่านอุตสาหกรรมสารัตถะ เดินหน้าต่อยอดโมเดลเศรษฐกิจ BCG พร้อมส่งเสริมอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงไทยก้าวสู่สากล เพื่อหนุนให้ไทยขยับจากประเทศที่มี Soft Power อันดับ 35 ในปี 65 ให้อยู่ในอันดับดีขึ้น และสร้างมูลค่าเพิ่มแก่เศรษฐกิจไทย
เมื่อวันอังคารที่ 30 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา นายเขมทัตต์ พลเดช นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ นำคณะกรรมการสมาพันธ์ฯ เข้าพบนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พร้อมรองประธาน และกรรมการบริหาร ส.อ.ท. หารือประเด็น Soft Power และความร่วมมือด้านต่างๆ ณ ห้อง Passion (802) ชั้น 8 ส.อ.ท.
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ซอฟต์พาวเวอร์ในปี 2565 เป็นพลังสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ประเทศที่โดดเด่นที่สุดในการใช้ซอฟต์พาวเวอร์มาสนับสนุนเศรษฐกิจ คือ สาธารณรัฐเกาหลีที่ก่อนหน้านี้ GDP ต่ำกว่าญี่ปุ่น แต่ปัจจุบัน GDP แซงหน้าญี่ปุ่นไปแล้ว คนทั่วโลกรู้จักซอฟต์พาวเวอร์อย่าง K-POP รวมถึงหนังและซีรีส์เกาหลี
การสร้างมูลค่าเพิ่มทำได้หลายวิธี แต่ตัวที่ดีที่สุดและประเทศไทยทำได้แน่นอนคือ Soft Power ที่ประกอบไปด้วย 5F คือ อาหารไทย (Food) ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่นไทย (Fashion) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) มวยไทยและศิลปะการป้องกันตัว (Fighting) เทศกาลประเพณีไทย (Festival)
“สำหรับประเทศไทยมีซอฟต์พาวเวอร์สำคัญซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเผยแพร่ผ่านอุตสาหกรรมสารัตถะ (คอนเทนต์) เพื่อช่วยยกระดับอุตสาหกรรมไทย ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม สมุนไพร เครื่องสำอาง อัญมณีและเครื่องประดับ การท่องเที่ยว สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เฟอร์นิเจอร์ และดิจิทัล หากไทยสามารถสร้างแบรนด์ของตัวเองแทนการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมแบบ Original Equipment Manufacturing (OEM) ที่เป็นอุตสาหกรรมรับจ้างผลิต ก็จะสามารถนำรายได้เข้าประเทศได้เพิ่มขึ้น” นายเกรียงไกร กล่าว
ในการหารือวันนี้ ทาง ส.อ.ท. และสมาพันธ์ฯ มีความมุ่งมั่นในการทำงานร่วมกัน โดยเริ่มจากการใช้อุตสาหกรรมคอนเทนต์ มาสนับสนุน Soft Power ในโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture Industry) หรือ SAI ของส.อ.ท. ซึ่งจะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมตามนโยบายโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio, Circular, Green Economy) ของประเทศเพื่อปรับเปลี่ยนไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ที่จะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและสร้างสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน ด้วยการใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด แต่ในสัดส่วนที่น้อยลงและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เกิดเป็นรูปธรรม
นายเขมทัตต์ พลเดช นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ กล่าวว่า องค์ประกอบของสมาชิกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์มี 2 ส่วน โดยส่วนแรก คือ ผู้ประกอบการสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ส่วนที่ 2 คือ ผู้ผลิตคอนเทนต์รายใหญ่ ซึ่งล่าสุดมีแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่ทางสมาพันธ์ฯ พยายามที่จะเผยแพร่คอนเทนต์ที่มีคุณภาพสู่ตลาดโลก โดยใช้ Soft Power ช่วยสนับสนุนซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของ ส.อ.ท.
“การสร้าง Soft Power ของไทย เราเน้นไปที่การท่องเที่ยวไทยเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่จริงๆ แล้วการกระตุ้นการอุปโภค บริโภคสินค้าทางอ้อมผ่านคอนเทนต์ไทย จะเป็นอีกหนึ่งแนวทางสำคัญที่ช่วยสร้าง Soft Power ไทยให้แข็งแกร่งขึ้น ซึ่งสินค้าต่างๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย ก็มาจากผลิตผลจากภาคอุตสาหกรรมไทย จึงเป็นที่มาที่เราต้องการมาหารือและสร้างความร่วมมือกับ ส.อ.ท. ให้เกิดขึ้นในวันนี้” นายเขมทัตต์ กล่าว
สำหรับการหารือในวันนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดความร่วมมือในแนวทางใหม่ๆ โดยผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่เป็นสมาชิกของ ส.อ.ท. สามารถสนับสนุนการพัฒนามาตรฐานของคอนเทนต์ไทยให้ทัดเทียมระดับสากล ขณะเดียวกันสื่อและคอนเทนต์ไทยสามารถช่วยเผยแพร่ Soft Power ไทยให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทั่วโลก
การหารือครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมจาก ส.อ.ท. ประกอบด้วยนายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ รองประธาน ส.อ.ท. นายอภิภพ พึ่งชาญชัยกุล นายวิชัย สกลวรารุ่งเรือง กรรมการบริหาร ส.อ.ท. นายจิรบูลย์ วิทยสิงห์ รองประธานกลุ่มดิจิทัล ส.อ.ท. และดร.วิบูลย์ รักสาสน์เจริญผล รองเลขาธิการ ส.อ.ท.
ในส่วนของสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ยังได้รับเกียรติจากนายพีรธน เกษมศรี ณ อยุธยา อุปนายกคนที่ 4 นายสุรพล พีรพงศ์พิพัฒน์ ที่ปรึกษา นางสาวอัญชนก แข็งแรง กรรมการและเลขานุการ นางสาวกนกพร ปรัชญาเศรษฐ กรรมการ และนางสาวศุภนิตาร์ เผือกพันธ์มุข เจ้าหน้าที่สำนักงานสมาพันธ์ฯ เข้าร่วมหารือ