เปิดภาพ "ชมพูภูคา" สีสวย น่ารัก พันธุ์ไม้หายากพบแค่ในจังหวัดน่าน เริ่มบานช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมของทุกปี
วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 แฟนเพจ ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โพสต์ภาพและข้อความว่า ใกล้ถึงวันต้นไม้ประจำปีของชาติ 3 มิถุนายน 2566 แล้ว วันนี้จะพาไปรู้จักต้นไม้หายากอีกหนึ่งชนิด สีสวย น่ารัก และยังเป็นพันธุ์ไม้หายากพบแค่ในจังหวัดน่านอีกด้วย "ชมพูภูคา" Bretschneidera sinensis Hemsl. วงศ์ : Akaniaceae ชมพูภูคา เป็นพรรณไม้ที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (Endangered Species: EN) ตามเกณฑ์ของ IUCN ในไทยพบในป่าธรรมชาติเฉพาะที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคา จังหวัดน่าน
ต่อมานำไปปลูกหลายที่ เช่น อุทยานแห่งชาติขุนสถาน อุทยานแห่งชาตินันทบุรี ในต่างประเทศพบที่จีน ไหหลำ ไต้หวัน ลาว เวียดนาม ชอบขึ้นตามป่าดิบเขา ที่ระดับความสูง 1,200-1,500 ม. ชมพูภูคา เป็นไม้ต้น สูง 10-25 ม. ใบประกอบแบบขนนก ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามปลายกิ่ง ยาว 20-45 ซม. กลีบดอกสีขาวอมชมพู แล้วเปลี่ยนเป็นสีชมพูเข้ม มีริ้วสีแดง ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงรี ยาว 3-4 ซม. โดยจะเริ่มทยอยออกดอกเบ่งบานให้ได้ชมกันตั้งแต่ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมของทุกปี
สำหรับจุดที่นักท่องเที่ยวสามารถแวะเก็บภาพดอกชมพูภูคาได้สะดวกแบบไม่ต้องเข้าไปตามหากันถึงในป่า กับ 3 จุด เช็กอินที่เรานำมาฝากกัน
1. บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยภูคา
2. ริมทางหลวงหมายเลข 1256 ปัว-บ่อเกลือ ระหว่างกิโลเมตรที่ 31-32 (บริเวณศาลเจ้าหลวงภูคา)
3. สถานีวิจัยต้นน้ำขุนสถาน (ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติขุนสถานประมาณ 2 กม.)
...
"ฟื้นฟู ดูแล รักษา ให้ผืนป่าอยู่ยั่งยืน" เนื่องในวันต้นไม้ประจำปีของชาติ