น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ประกาศให้มีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลให้เป็นข้าราชการตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัด สพฐ. ประจำปีการศึกษา 2566 โดยมีตำแหน่งว่างจำนวน 6,759 อัตรา และกลุ่มวิชาที่เปิดสอบ จำนวน 62 กลุ่มวิชานั้น ตนได้มีการเน้นย้ำไปถึงนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ให้กำชับไปถึงหน่วยงานที่จัดสอบต้องดำเนินการจัดสอบด้วยความโปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาล และสามารถตรวจสอบได้อย่างตรงไปตรงมา นอกจากนี้ ห้ามไม่ให้บุคลากรของ สพฐ. หรือเขตพื้นที่การศึกษาเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดติวให้กับผู้ที่จะเข้าสอบในครั้งนี้อย่างเด็ดขาด ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย หากพบว่ามีบุคลากรของ สพฐ. หรือเขตพื้นที่การศึกษาเข้าไปเกี่ยวข้องทำให้การสอบไม่โปร่งใสจะต้องได้รับโทษทางวินัย โดยหากใครพบเบาะแสความไม่ชอบมาพากลในการสอบครูผู้ช่วยในครั้งนี้ให้แจ้งข้อมูลมาได้ที่ตนโดยตรง ซึ่งตนพร้อมจะตรวจสอบให้ทันที

รมว.ศึกษาธิการกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ในส่วนของการบริหารจัดการเรื่องการออกข้อสอบภาค ก ความรู้ความสามารถทั่วไป และภาค ข มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ ซึ่งการออกข้อสอบนั้น สพฐ.ได้กำหนดตามการกำหนดกลุ่มพื้นที่การศึกษา ประจำเขตตรวจราชการในการออกข้อสอบ โดยตนได้กำชับเรื่องการออกข้อสอบว่า แต่ละพื้นที่อาจไปร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในการออกข้อสอบ ดังนั้น อยากให้การออกข้อสอบไม่จำเป็นต้องยากที่สุดหรือไปกำหนดเนื้อหาข้อสอบด้านวิชาการแบบ 100% เพราะเราอยากให้การสอบครูผู้ช่วยได้ตอบโจทย์คุณสมบัติของครูที่เราอยากจะได้ เนื่องจากผู้สมัครสอบก็จบสาขาครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ ซึ่งถือเป็นการเรียนการสอนจากสถาบันผลิตครูที่อัดแน่นด้วยเนื้อหาวิชาการและวิชาชีพครูมากเพียงพออยู่แล้ว

...

“การออกข้อสอบครูผู้ช่วยอยากให้มีความยืดหยุ่นและเน้นการแก้ปัญหาหรือทักษะเฉพาะหน้าให้มากขึ้น ซึ่งข้อสอบถือเป็นกุญแจสำคัญ เพื่อที่จะได้ครูที่ตรงกับความต้องการ ไม่ใช่เหมือนหลายๆปีที่ผ่านมา มียอดสมัครสอบหลักแสนคนแต่สอบได้ไม่ถึงจำนวนที่รับ ซึ่งดิฉันไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น หากถามว่าการออกข้อสอบต้องยากเพื่อจะได้คัดคนเก่งๆ ก็ต้องมาดูอีกว่าคนเก่งที่ว่านั้นต้องเก่งแบบไหนและตอบโจทย์การเป็นครูหรือไม่” น.ส.ตรีนุชกล่าว.