เป็นมิตร รศ.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และ วัลยา จิราธิวัฒน์ เปิด Better Futures Project 2023 งานกรีนเอ็กซ์โปแห่งปี นำเสนอเรื่องราวการใช้ชีวิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมี พิชัย จิราธิวัฒน์, ดร.ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา และ ต่อศักดิ์ โชติมงคล มาร่วมงานด้วย ที่เซ็นทรัลเวิลด์ วันก่อน.
ผลประโยชน์เป็นบ่อเกิดของความขัดแย้ง
หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ ยักษ์ใหญ่สารพัดสี จำหน่ายมากที่สุดของประเทศ ฉบับประจำวันเสาร์ที่ 27 พฤษภาคม 2566
- “ธนูเทพ” ประจำการรับใช้ท่านผู้อ่าน ในห้วงที่ประชาชน และกองเชียร์ของ พรรคการเมือง ฝ่ายประชาธิปไตยรอลุ้นฟังข่าวการ จัดตั้งรัฐบาล 8 พรรค ภายใต้การนำของ พรรคก้าวไกล อย่างใจจด ใจจ่อ
...
- วันก่อน ในการประชุมคณะรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ได้อธิบายรายละเอียดไทม์ไลน์การจัดตั้ง รัฐบาล ให้กับ คณะรัฐมนตรี ได้รับทราบ โดยระบุว่า ไทม์ไลน์อย่างเร็วที่สุด วันที่ 13 ก.ค. เป็นวันสุดท้ายที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะ รับรองผลเลือกตั้ง ถ้าหากเกิดความล่าช้าคงเกิดจากการร้องเรียนต่างๆ โดยหลังจากนี้ คณะรัฐมนตรี จะพิจารณา พระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมสภาฯ และวันที่ 20 ก.ค. จะเป็นวันสุดท้ายที่ให้ ส.ส.รายงานตัว วันที่ 24 ก.ค. จะมีพิธีเปิดประชุม รัฐสภา วันที่ 25 ก.ค. จะมีการเลือก ประธานสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 26 ก.ค. จะมีการ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎร และวันที่ 3 ส.ค. จะมีการประชุม รัฐสภา เพื่อโหวตเลือก นายกรัฐมนตรี จากนั้นวันที่ 10 ส.ค. มีการแต่งตั้ง คณะรัฐมนตรี และวันที่ 11 ส.ค. จะมีการถวายสัตย์ปฏิญาณ และถือเป็นการทำงานวันสุดท้ายของ คณะรัฐมนตรีรักษาการ
- ทั้งนี้ หากยึดตามไทม์ไลน์ที่ รองนายกฯวิษณุ อธิบายแจกแจงต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นั่นก็ชัดเจนว่ายังเหลือเวลาอีก 2 เดือนกว่า ถึงจะมีการประชุม รัฐสภา เพื่อโหวตเลือก นายกรัฐมนตรี ก่อนเดินไปสู่การจัดตั้ง รัฐบาล ตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน แน่นอน ในห้วงระยะเวลาที่ยังทอดยาวไปอีกไม่น้อยกว่า 2 เดือน ก็เป็นไปได้ว่า เกมอำนาจ ยังมีโอกาสพลิกผัน เพราะอย่างที่รู้ๆกัน การเมือง เป็นเรื่องของ อำนาจ และ ผลประโยชน์ ที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขการเจรจาต่อรอง ถ้าคุยกันได้ลงตัว แชร์อำนาจและประโยชน์ร่วมกันได้ ทุกอย่างก็เดินไปได้ แต่ถ้าไม่สามารถตกลงรับเงื่อนไขกันได้ ก็อาจทำให้ วงแตก จนต้องแยกกันเดิน เรื่องอย่างนี้มีให้เห็นมานักต่อนักแล้ว สำหรับการเมืองแบบไทยๆ
...
- อย่างล่าสุด องคาพยพสำคัญ ของ รัฐบาลในฝัน อย่าง พรรคก้าวไกล กับ พรรคเพื่อไทย ก็เริ่มเปิดเกมต่อรองเงื่อนไขตำแหน่งกันแล้ว โดยพุ่งเป้าไปที่เก้าอี้ ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดย พรรคก้าวไกล ก็อ้างว่าควรเป็นตำแหน่งของ พรรคแกนนำรัฐบาล เพื่อ คุมเกมในสภา รวมทั้งการ แก้ไขรัฐธรรมนูญ และ ออกกฎหมาย ตามที่ได้หาเสียงไว้ ขณะที่ พรรคเพื่อไทย ก็ยกเหตุผลเรื่องเสียง ส.ส.ที่ห่างกันแค่ 10 เสียง เมื่อพรรคแกนนำได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คุมฝ่ายบริหารไปแล้ว ตำแหน่ง ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฝ่ายนิติบัญญัติ ก็ควรเป็นคนของ พรรคเพื่อไทย นี่แค่ปมแรกก็ส่อแววงัดข้อกันแล้ว ขณะที่การจัดสรร โควตากระทรวง ก็คงไม่พ้นต้องชิงกันฝุ่นตลบ ถ้า แกนนำพรรค ไม่รู้จักผ่อนหนักผ่อนเบา กินรวบ ไม่กินแบ่ง อาจนำไปสู่จุดที่ว่าความอดทนมีขีดจำกัด จนถึงขั้นแตกหัก แยกวงพลิกเกม เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน
...
- อืม...ที่แน่ๆ ล่าสุด ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ออกมาแถลงตอกย้ำว่า จำเป็นต้องเอาตำแหน่ง ประธานสภาผู้แทนราษฎร ไว้กับ พรรคก้าวไกล เพราะนอกเหนือจากการใช้อำนาจฝ่ายบริหาร จำเป็นต้องมีประมุขฝ่ายนิติบัญญัติช่วยขับเคลื่อน เพื่อการฟื้นฟูความเป็นประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่า พรรคเพื่อไทย จะอยู่ร่วมกับ พรรคก้าวไกล ต่อไป ไม่ว่าจะได้รับตำแหน่ง ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือไม่ และไม่เชื่อว่า พรรคเพื่อไทย จะถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลครั้งนี้...จริงหรือไม่ ใช่หรือเปล่า ต้องติดตามห้ามกะพริบตา
...
- ผ่างๆ เมื่อวันที่ 25 พ.ค. สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้รายงาน ผลการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไป ปี 2566 อย่างเป็นทางการ 100% ว่า มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 39,514,973 คน คิดเป็นร้อยละ 75.71 จากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 52,195,920 คน โดยพรรคที่ได้ ส.ส.แบบแบ่งเขต มากที่สุด คือ พรรคเพื่อไทย และ พรรคก้าวไกล ได้ที่นั่ง ส.ส. เท่ากัน คือ 112 คน ส่วน พรรคภูมิใจไทย 68 คน พรรคพลังประชารัฐ 39 คน พรรครวมไทยสร้างชาติ 23 คน พรรคประชาธิปัตย์ 22 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 9 คน พรรคประชาชาติ 7 คน พรรคไทยสร้างไทย 5 คน พรรคเพื่อไทรวมพลัง 2 คน และ พรรคชาติพัฒนากล้า 1 คน ขณะที่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ปรากฏว่า พรรคก้าวไกล ได้ 14,438,851 คะแนน ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 39 คน พรรคเพื่อไทย ได้ 10,962,522 คะแนน ได้ ส.ส. 29 คน พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ 4,766,408 คะแนน ได้ ส.ส. 13 คน พรรคภูมิใจไทย ได้ 1,138,202 คะแนน ได้ ส.ส. 3 คน พรรคประชาธิปัตย์ ได้ 925,349 คะแนน ได้ ส.ส. 3 คน พรรคประชาชาติ ได้ 602,645 คะแนน ได้ ส.ส. 2 คน และอีก 11 พรรคการเมือง ได้ ส.ส. 1 คนเท่ากัน ประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐ, พรรคเสรีรวมไทย, พรรคไทยสร้างไทย, พรรคประชาธิปไตยใหม่, พรรคใหม่, พรรคชาติพัฒนากล้า, พรรคท้องที่ไทย, พรรคชาติไทยพัฒนา, พรรคเป็นธรรม, พรรคพลังสังคมใหม่ และ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน ทั้งนี้ สำนักงาน กกต. จะเสนอให้ กกต. พิจารณาเพื่อประกาศผลการเลือกตั้งต่อไป หากพบว่าการเลือกตั้งเป็นไปโดย สุจริตและเที่ยงธรรม และมีจำนวน ส.ส.ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 95 ของเขตเลือกตั้งทั้งหมด กกต. ต้องประกาศผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จโดยเร็วภายใน 60 วัน นับแต่วันเลือกตั้งโปรดรับทราบโดยทั่วกัน
- สังคมทั่วไป ฌาปนกิจศพ คุณแม่เล็ก จำปาเทศ มารดา ปิยะ จำปาเทศ วัดกระทุ่มเสือปลา อ่อนนุช 27 พ.ค. 16.00 น.
- ศพ สมประสงค์ พุฒิสกุลวงศ์ ตั้งสวดวัดราชโอรสารามฯ 19.00 น. ถึง 27 พ.ค. ฌาปนกิจ 28 พ.ค. 17.00 น.
- ศพ รัชทิน ศยามานนท์ อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย และอดีตอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองตั้งสวดศาลา 27 วัดธาตุทอง 18.30 น. ถึง 30 พ.ค. พระราชทานเพลิง 4 มิ.ย. 16.00 น.
"ธนูเทพ"