การจัดตั้งรัฐบาลอยู่ภายใต้กติการัฐธรรมนูญ.....หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ ยักษ์ใหญ่สารพัดสี จำหน่ายมากที่สุดของประเทศ ฉบับประจำวันศุกร์ที่ 26 พฤษภาคม 2566
- “ธนูเทพ” ประจำการรับใช้ท่านผู้อ่าน .........เดินหน้าตั้งไข่ จัดตั้งรัฐบาล ในฝันกันไปแล้ว พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่าที่นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศไทย นำทีมหัวหน้าพรรคการเมือง 8 พรรค รวม 313 เสียง ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อไทรวมพลัง พรรคเป็นธรรม และพรรคพลังสังคมใหม่ ตั้งโต๊ะแถลงการณ์ลงนาม บันทึกข้อตกลงร่วมกัน หรือ เอ็มโอยู 23 วาระ และ แนวทางปฏิบัติ 5 ข้อ ในการร่วมกันจัดตั้ง รัฐบาล บริหารประเทศ ที่โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา...โดยบันทึกข้อตกลง 23 วาระ และ 5 ข้อปฏิบัติ มีสาระสำคัญ อาทิ การฟื้นฟูประชาธิปไตย จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ร่วมผลักดันการอำนวยความยุติธรรมในคดีเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมือง การออกกฎหมายสมรสเท่าเทียม ผลักดัน การปฏิรูประบบราชการตำรวจ กองทัพ และกระบวนการยุติธรรม ให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย เปลี่ยนการเกณฑ์ทหารเป็นระบบสมัครใจ ผลักดันการกระจายอำนาจ แก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจ ยกเลิกการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมในทุกอุตสาหกรรม ปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ ปรับปรุงโครงสร้างการผลิตไฟฟ้า การคำนวณราคา เพื่อลดค่าครองชีพประชาชน จัดทำ งบประมาณแบบใหม่ โดยเน้นใช้วิธีการ จัดงบประมาณฐานศูนย์ (Zero-based budgeting) นำกัญชากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษ ยกระดับสิทธิแรงงานทุกอาชีพให้มีการจ้างงานที่เป็นธรรมและได้รับค่าแรงที่เป็นธรรม ปฏิรูประบบการศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพลดความเหลื่อมล้ำ ดำเนินนโยบาย การต่างประเทศ โดยการฟื้นฟูบทบาทผู้นำของไทยในอาเซียนและรักษาสมดุลการเมืองระหว่าง ประเทศของไทยกับประเทศมหาอำนาจ
...
- ขณะที่ แนวทางปฏิบัติร่วมกัน 5 ข้อ คือ การคุ้มครองสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของประชาชน ทุกพรรคจะทำงานโดยชื่อสัตย์สุจริตหากมีบุคคลของพรรคใดมี พฤติกรรมทุจริตคอร์รัปชัน จะ ยุติการดำรงตำแหน่ง ของบุคคลนั้นๆทันที ทุกพรรคจะทำงานโดยให้เกียรติซึ่งกันและกัน จริงใจต่อกัน โดยยึดถือ ผลประโยชน์ของประชาชน เป็นที่ตั้งมากกว่าผลประโยชน์ของพรรค และ ทุกพรรค มีสิทธิในการผลักดัน นโยบายอื่นเพิ่มเติม แต่ไม่ขัดแย้งจาก นโยบายในบันทึกข้อตกลงร่วม ฉบับนี้ โดยอาศัยอำนาจ ฝ่ายบริหาร ของ รัฐมนตรี ที่เป็นตัวแทนของแต่ละพรรคการเมือง และอาศัย อำนาจนิติบัญญัติ ของ ส.ส. แต่ละพรรคการเมือง
...
- “ธนูเทพ” พิจารณาเนื้อหาบันทึกข้อตกลงของ 8 พรรคร่วมรัฐบาล แล้ว ต้องยอมรับว่า มีหลักการหรู ฟังดูดี เปรียบเสมือนเป็น กรอบหลัก ที่จะนำไปกำหนดเป็น นโยบายของรัฐบาล ที่จะแถลงต่อ รัฐสภา ต่อไป...แต่ที่ต้องขีดเส้นใต้เน้นเป็นพิเศษ เพราะ เป็นประโยคสำคัญสุดในเอ็มโอยู 8 พรรค ก็คือ ท่อนเกริ่นเอ็มโอยู ที่ พิธา เป็นผู้แถลงด้วยตัวเอง ที่ระบุว่า “ทุกพรรคเห็นร่วมกันว่าภารกิจของรัฐบาลที่ทุกพรรคจะผลักดันนั้น ต้องไม่กระทบต่อรูปแบบของรัฐ การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและการดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์...”...งานนี้ “ธนูเทพ” เชื่อว่าบรรดาแกนนำ พรรคร่วมรัฐบาล อย่าง พรรคเพื่อไทย พรรคไทยสร้างไทย และ พรรคเสรีรวมไทย คงต้องทุ่มเทช่วยกันขัดเกลาร่างเอ็มโอยูฉบับนี้อย่างเต็มที่ จนออกมาดูดีฟังรื่นหู สบายตา เพื่อเป็นหมุดหมายนำไปสู่การจัดทำ ร่างนโยบายรัฐบาล ภายใต้การนำของ พรรคก้าวไกล เพื่อบริหารประเทศร่วมกันต่อไป...ภายในเครื่องหมายวงเล็บ หาก พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้รับเลือกจากที่ประชุมร่วม รัฐสภา ด้วยคะแนนเสียง เกินกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 376 เสียง เห็นชอบให้เป็น นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศไทย...จบข่าว
- เฮ้อ...ยังไม่ทันตั้งรัฐบาลก็เปิดศึกแย่งตำแหน่งกันซะแล้ว เมื่อ ปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ช่วยหาเสียงของพรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กส่งสัญญาณว่าตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรควรเป็นของพรรคก้าวไกล อดิศร เพียงเกษ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ออกมาตอบโต้ว่า ปิยบุตร จะกินรวบทุกตำแหน่ง โดยเข้าใจว่าตัวเองเป็นเสียงข้างมาก ความเป็นจริง 152 เสียง ยังไม่เกินครึ่ง ถ้าอยากได้ทุกตำแหน่งต้องทำให้ได้แบบพรรคไทยรักไทย 377 เสียง ที่จะชี้เป็นชี้ตายเอาตำแหน่งไหนก็ได้ พรรคเพื่อไทยยินดีสนับสนุน พิธา เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ใช่ว่าได้ ฝ่ายบริหาร แล้ว จะไม่ให้พรรคอื่นไปดำรงตำแหน่งฝ่ายนิติบัญญัติ ...ระวังรอยร้าวเล็กๆจะกลายเป็นแตก กระจาย
...
...
- อืม...เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา วุฒิสภา ได้มีการประชุมสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาลงมติให้ความเห็นชอบ สถาพร วิสาพรหม รองประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ บุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ปรากฏว่าผลการลงมติที่ประชุม ไม่ให้ความเห็นชอบ 138 เสียง ให้ความเห็นชอบ 40 เสียง ไม่ออกเสียง 27 เสียง ทำให้ สถาพร ไม่ได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่ง กรรมการ ป.ป.ช. เพราะได้คะแนนไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ทำให้ต้องไปสรรหากันใหม่
- นอกจากนี้ ที่ประชุม วุฒิสภา ได้มีการพิจารณาลงมติให้ความเห็นชอบ ศิลักษณ์ ปั้นน่วม บุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) โดยที่ประชุม มีมติให้ความเห็นชอบ ด้วย คะแนนเสียง 182 คะแนน ไม่ให้ความเห็นชอบ 1 คะแนน ไม่ออกเสียง 4 คะแนน ...โปรดรับทราบโดยทั่วกัน
- สังคมทั่วไป...สภากาชาดไทย ขอเชิญร่วมงาน ครบรอบ 130 ปี สภากาชาดไทย ภายใต้คอนเซปต์ชม โชว์ ชอป ช่วย แชร์ พบกับนักแสดงและความบันเทิงแบบจัดเต็ม ที่ชั้น 8 ไอคอนสยาม ตั้งแต่ 11.00-19.00 น. ถึง 28 พ.ค.นี้
- ชนินทร์ ว่องกุศลกิจ ประธาน กก.บห.บริษัทบ้านปู จัดงานฉลองครบรอบ 40 ปีของบริษัท 18.00 น. ที่โรงแรมดิ แอทธินี
- ศพ รัชทิน ศยามานนท์ อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ตั้งสวดศาลา 27 วัดธาตุทอง 18.30 น. ถึง 30 พ.ค. พระราชทานเพลิง 4 มิ.ย. 16.00 น.
"ธนูเทพ"