มหาศิลปาลัย สถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางด้านศิลปะ สุนทรียะ อารยะ เพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ในกำกับของรัฐแห่งใหม่ของประเทศไทย ที่ก่อตั้งขึ้นจากผลของการปฏิรูปอุดมศึกษาของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อให้เป็น มหาวิทยาลัยด้านศิลปะแบบเข้มข้น โดยมี “วิทยาลัยเพาะช่าง” เป็นแกนในการจัดตั้ง

“มหาศิลปาลัย” เกิดจากการนำคำ 3 คำมาสมาสสนธิกัน ได้แก่ “มหา” ที่แปลว่า ยิ่งใหญ่ “ศิลปะ” ที่แปลว่า ฝีมือ ฝีมือการช่าง การทำวิจิตรพิสดาร และ “อาลัย” ที่แปลว่า ที่อยู่หรือที่ตั้ง รวมกันเป็น “ที่ตั้งของศิลปะ” เพื่อบ่งบอกลักษณะของมหาศิลปาลัย ซึ่งจะมุ่งสร้างมูลค่าและคุณค่าให้ศิลปะและวัฒนธรรมไทย นำเอาความเฉพาะทางของศิลปะ สุนทรียะ อารยะทั้งหลายให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง

ที่สำคัญคือมีระบบรับนักศึกษาที่ไม่ผูกพันกับ TCAS หรือระบบของ อว.โดยอาจรับนักศึกษาได้ตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษา มีระบบรับคนมีพรสวรรค์พิเศษเข้าศึกษา โดยไม่เน้นวุฒิการศึกษา

...

ขณะที่การเรียนการสอนเน้นปฏิบัติจริงมากกว่าทฤษฎีโดยร่วมมือกับเครือข่าย อาทิ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน ฯลฯ เพื่อให้เกิดการนำไปใช้และปฏิบัติได้จริง

“มหาศิลปาลัย จะทำให้ศิลปะกินได้ ผู้ที่ร่าง พ.ร.บ.มหาศิลปาลัย คือ ศ.กิตติคุณ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธานคณะกรรมการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางด้านศิลปะ สุนทรียะ อารยะฯ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยในระยะยาวทั้งยังเป็นรากฐานในการขับเคลื่อน Soft power มหาศิลปาลัยจะเป็นสถาบันอุดมศึกษารูปแบบใหม่เพื่อความสร้างสรรค์ ต้องไม่ให้มีระบบหรือระเบียบที่ไม่สร้างสรรค์ เข้ามาเป็นข้อติดขัด ยุทธศาสตร์สำคัญคือ Rebirth of Thai arts and culture ทำให้เกิดเป็นยุคเรอเนซองซ์ของศิลปะ สุนทรียะและอารยะแบบไทย รื้อฟื้นสิ่งเดิม เสริมให้มีเอกลักษณ์มากยิ่งขึ้น โลกทุกวันนี้ต้องการสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ใหม่ ที่ไม่ได้มีแค่ในฝั่งตะวันตก ในฝั่งเอเชียก็มีส่วนกำหนดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของโลกด้วย อย่างมวยไทยที่กลายเป็นมวยโลก นวดไทยกลายเป็นนวดโลก รวมถึงสปาไทย อาหารไทย เสื้อผ้าไทย ที่สามารถส่งเสริมและพัฒนาไปสู่ระดับโลก กลายเป็นแฟชั่นของโลกได้ และช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวทาง
ไปสู่อนาคต ที่สำคัญคือการทำให้คนไทยมองเห็นว่าศิลปะกับวิทยาศาสตร์มีความเชื่อมโยงกันและต้องเรียนรู้ควบคู่กันไป แสดงให้เห็นว่าศิลปะในรูปแบบใหม่มีการพัฒนาไปได้ด้วยความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ ในขณะเดียวกันงานด้านวิทยาศาสตร์หากนำด้านศิลปะมาผสมผสานก็จะทำให้เกิดผลงานที่สวยงามมากยิ่งขึ้น ดังนั้นมหาศิลปาลัยจึงเกิดขึ้น” ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. กล่าวถึงเหตุผลการจัดตั้งมหาศิลปาลัย

ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์

ศ.ดร.เอนก ยังกล่าวด้วยว่า มหาศิลปาลัยจะทำให้คนที่เก่งที่สุดด้านศิลปะได้เข้ามาสอนและเอาคนที่มีศักยภาพสูงที่สุดด้านศิลปะเข้ามาเรียน อาจจะไม่ต้องนำเอาพื้นฐานการศึกษามาวัด เช่น ศิลปินแห่งชาติบางคนไม่จบปริญญาตรีแต่ผลงานล้ำค่ามาก อาจจะเข้ามาสอนและให้เงินเดือนสูงเทียบเท่ากับศาสตราจารย์ (ศ.) หรือด็อกเตอร์ (ดร.) ที่มีตำแหน่งทางวิชาการ เพราะวันนี้ อว.ปฏิรูปอุดมศึกษาแล้ว ปลดล็อกอุปสรรคต่างๆ ในการพัฒนาด้านการอุดมศึกษา เพื่อไม่ให้ติดกับดักในรูปแบบเดิม ทั้งการผลักดันในเรื่อง Sandbox เกิดเป็น Higher Education Sandbox หรือการจัดการศึกษาที่แตกต่างไปจากมาตรฐานการอุดมศึกษา การจัดทำธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนในสิ่งที่สนใจโดยไม่ติดข้อจำกัดเรื่องสถาบันการศึกษา มหาศิลปาลัยก็สามารถเอาคนเก่งที่อยู่นอกระบบหรือคนที่ไม่มีปริญญามาสอนได้ ศิลปินหลายคนอาจไม่ได้เรียนสูง แต่ผลงานของพวกเขามันยิ่งใหญ่มาก ต้องเลิกเอายศ เอาศักดิ์หรือตำแหน่งทางวิชาการมาแบ่งคนได้แล้ว

...

ขณะนี้กระบวนการก่อตั้งมหาศิลปาลัยผ่านความเห็นชอบของสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สอวช.) มีการจัดทำหลักการและร่างกฎหมาย
ผ่านการจัดทำประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.มหาศิลปาลัยแล้ว รอเข้าคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกน.) และ รมว.อว.ให้ความเห็นชอบก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือน มิ.ย. 2566

ขณะที่ ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัด อว.ในฐานะกรรมการจัดตั้งมหาศิลปาลัย กล่าวว่า มหาศิลปาลัยใช้วิทยาลัยเพาะช่าง เป็นแกนหลักผนวกเข้ากับหลักสูตรและเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาที่เน้นการเรียนการสอนเฉพาะทางด้านศิลปะ วัฒนธรรม ที่มีการจัดการเรียนการสอนและการบริหารงานในรูปแบบเฉพาะนี้ จะช่วยให้เกิดการพัฒนาและสร้างสรรค์งานศิลปะใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์และสร้างมูลค่าได้

ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล
ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล

...

“โครงสร้างของมหาศิลปาลัย จะมีศิลปาลัยดุริยางคศาสตร์ และนาฏศิลป์ไทย, ศิลปาลัยสุวรรณภูมิและเอเชียอาคเนย์, ศิลปาลัยวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย, สุนทรียาลัย นวัตกรรมและเทคโนโลยี, ศิลปาลัยภาษาและประวัติศาสตร์ไทย, ศิลปาลัยสถาปัตยกรรมและมัณฑนศิลป์ไทย, ศิลปาลัยการแสดงและภาพยนตร์ไทย ส่วนสาขาที่เปิดสอน การเรียนการสอนเน้นวิชาชีพและการสร้างนวัตกรรมชั้นสูงด้านวัฒนธรรม ศิลปะและสุนทรียะ มีการเรียนการสอนระดับ ปวช. ปวส.จนถึงปริญญาตรี” รองปลัด อว. กล่าว

...

ด้าน ศ.กิตติคุณ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธานคณะกรรมการจัดตั้งมหาศิลปาลัย กล่าวว่า มหาศิลปาลัยจะนำเอาความเฉพาะทางของศิลปะ สุนทรียะทั้งหลายให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง โดย มุ่งเน้นสร้างคนที่สามารถนำศิลปะและสุนทรียะไปต่อยอดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่สำคัญมหาศิลปาลัยจะไม่ใช่แค่สอนอย่างเดียว แต่ต้องสร้างคุณค่าอื่นให้กับสังคมและประเทศด้วย

“ทีมข่าวอุดมศึกษา” มองว่าสถาบันอุดมศึกษาแห่งใหม่นี้ จะเป็นตัวช่วยปลดล็อกประเทศไทยสู่การเป็นผู้นำเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในอนาคตได้ และเป็น “โคมฉาย” ที่จะสาดส่องนำทางศิลปะไทยไปสู่เวทีโลก

แต่ต้องขอฝากคือความต่อเนื่องในการจัดตั้งมหาศิลปาลัยซึ่งเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านรัฐบาลว่าคงไม่สะดุด

เพื่อสร้าง “ศิลปะกินได้” ตอบโจทย์สังคมยุคโลกวิถีใหม่.

ทีมข่าวอุดมศึกษา