คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ World Economic Forum (WEF) เผย ผลสำรวจอนาคตอาชีพ Future of Jobs Report พร้อมแนะ เร่งปรับตัวเสริมทักษะอาชีพให้สอดคล้องความต้องการ

วันที่ 22 พ.ค. 2566 ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CBS) กล่าวว่า CBS เป็นตัวแทนหนึ่งเดียวในประเทศไทยที่ได้ร่วมกับ World Economic Forum (WEF) ทำการสำรวจทิศทางอาชีพในอนาคต (Future of Jobs Survey) โดยรวบรวมมุมมองจาก 803 บริษัท ซึ่งรวมการจ้างงานมากกว่า 11.3 ล้านคน ใน 27 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 45 ประเทศจากทุกภูมิภาคทั่วโลก คาดว่างานประมาณ 23% จะเปลี่ยนแปลงภายในปี 2570 โดยมีการสร้างงานใหม่ 69 ล้านตําแหน่ง และการยุบงาน 83 ล้านตําแหน่ง จากงานทั้งหมดที่มีอยู่ประมาณ 673 ล้านตำแหน่งในปัจจุบัน

การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาในระดับมหภาคพบว่าตัวขับเคลื่อนหลักของการเติบโตของงานภายใน 5 ปีนี้ (2566-2570) คือ การเปลี่ยนแปลงด้านความยั่งยืน (Green transition) มาตรฐาน ESG  ห่วงโซ่อุปทานท้องถิ่น (Localization of supply chains) อย่างไรก็ดี ธุรกิจต่างๆ อาจต้องเผชิญความท้าทายหลายประการ เช่น ภาวะเงินเฟ้อ การชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก และการเข้าถึงเทคโนโลยี

...

ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ กล่าวต่อไปว่า อาชีพที่มีความต้องการสูงในอนาคต เป็นอาชีพที่มีเทคโนโลยีและดิจิทัลเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะนักวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analysts) ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลมหัต (Big Data Specialists) ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI Machine Learning Specialists) และผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity Professionals) ซึ่งคาดว่าจะเติบโตโดยเฉลี่ยประมาณ 30% ภายในปี 2570 นอกจากนี้ คาดว่างานทางด้านพาณิชย์ดิจิทัล (Digital Commerce) จะเพิ่มขึ้นประมาณ 2 ล้านตำแหน่ง เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce Specialists) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล (Digital Transformation Specialists) และผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดดิจิทัลและกลยุทธ์ (Digital Marketing and Strategy Specialists) อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีและดิจิทัลอาจลดงานในบางบทบาทลง เช่น ธุรการหรือเลขานุการ (Clerical or Secretarial Jobs) พนักงานธนาคาร (Bank Tellers) แคชเชียร์ (Cashiers) และพนักงานป้อนข้อมูล (Data Entry Clerks)

และต้องเร่งด่วนในการปรับเปลี่ยนองค์กรเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานโลกและประเทศไทย คือ องค์กรต่างๆ ควรกำหนดกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นการสร้างทักษะใหม่ โดยให้ความสำคัญและลงทุนกับการฝึกอบรมพนักงานให้สามารถใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์ (AI) และข้อมูลมหัต (Big Data) รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาทักษะในการคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytical Thinking) และการคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative Thinking) นอกจากนี้ องค์กรต่างๆ ควรคำนึงถึงการเพิ่มความสามารถในการทำงานข้ามบทบาท การเพิ่มความพึงพอใจของพนักงาน และการเพิ่มผลผลิตของพนักงาน

ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ กล่าวปิดท้ายว่า สถาบันการศึกษาควรเร่งปรับตัวรับมือการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการเสริมทักษะองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี การคิดเชิงวิเคราะห์ และการคิดเชิงสร้างสรรค์ ตลอดจนองค์ความรู้และประสบการณ์เพื่อรองรับอาชีพใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ให้กับนักเรียน นิสิต นักศึกษา

ที่สำคัญคือ บทบาทของมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาต่างๆ ต้องไม่จำกัดแค่สถาบันที่ให้ความรู้และประสบการณ์การเรียน แต่ต้องเป็นการบ่มเพาะความฉลาด และเสริมสร้างพรสวรรค์ (Wisdom and Talent incubator) โดยเพิ่มพูนทักษะรอบด้าน เพื่อพัฒนาทั้งคุณภาพชีวิตตนเองและสร้างคุณค่าให้กับโลกในภาพรวมด้วย

...