“THE NEWTON” เป็นกลุ่มโรงเรียน ที่ออกแบบมาเพื่อให้เด็กมีพัฒนาการ อาจจะเรียกว่าเป็นศูนย์การเรียนหนึ่งในประเภทโรงเรียนที่ออกแบบมาเพื่อทำการศึกษาในแนวต่างๆ เช่น ตอบสนองคนที่ขาดโอกาสเรียนปกติ การทำสิ่งใหม่ๆ...ให้เด็กได้เดินไปในเส้นทางที่อยากทำ อยากเป็น
นายแพทย์ ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ Chairman of the Governing Board, The Newton Group บอกว่า เราต้องพัฒนาอุปนิสัยของเด็ก ถัดมาก็เป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างครู “ครูรักเด็กเด็กรักครู”...พี่ช่วยน้อง...และสุดท้ายเด็กมีการทำงานเป็นกลุ่ม...ร่วมกันคิด ช่วยกันทำ
หัวใจสำคัญก็คือ...“เด็กควรจะได้เจอครูที่เก่ง” ทำงานด้วยกันเพื่อส่งเสริมอุ้มชูช่วยกันให้เด็กไปถึงเป้าหมาย นิวตันมีเป้าหมายชัดมากช่วงมัธยมปลายในสายการเรียนรู้ยอดนิยม เส้นทางอาชีพ
หมอ...เทคโนโลยี...สายศิลปะ และสายธุรกิจเรียนจบแล้วไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษอีกปีเดียวก็ได้ปริญญาตรี
พุ่งเป้าไปที่สายเทคโนโลยี เมื่อเร็วๆนี้ “ทีมหุ่นยนต์” เป็นความภูมิใจสำคัญเพิ่งไปแข่งขันได้รางวัลที่สอง สายวิทยาศาสตร์ และได้ที่ 11 จาก 710 ทีมจากทั่วโลกที่ร่วมเข้าแข่งขันรายการนี้ที่สหรัฐอเมริกา
ประเด็นน่าสนใจคือการฟอร์มทีมเพิ่งจะทำได้ไม่นานแค่สามเดือนเท่านั้นก็สามารถคว้ารางวัลมาได้เทียบกับทีมอื่นเตรียมมานานเป็นปีๆ น่าดีใจที่เด็กไทยชนะทีมจากประเทศที่นำสมัยอย่างจีนที่ส่งมาหลายทีม
...
ธรรมณพัฒน์ วงศ์ทนุธรรม “ธรรมะ” อายุ 14 ปี ม.2 เล่าว่า ตั้งใจมาเรียนที่นี่และอยากมาเรียนทุกๆวัน ไม่อยากหยุดเลยสักวันเดียว เพราะรู้สึกว่าสังคม...ครู...เพื่อนคอยสนับสนุนเราจนทำให้เป็นเช่นนั้น
แม้ว่าเส้นทางการเรียนรู้ยังอีกยาวไกล แต่ธรรมะก็มีเป้าหมายชัดเจนอยากทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ รักชอบโปรแกรมจึงมีส่วนสำคัญในการเขียนโปรแกรมภาษา Cพลัส ควบคุมหุ่นยนต์ที่ไปแข่งครั้งนี้ สั่งงานให้ทำภารกิจตามกติกาข้อกำหนด
สมาชิกคนถัดมา “เคท” หรือ กานต์พิชชา ตั้งสุรกิจ อายุ 14 ปี ม.2 ให้เหตุผลร่วมทีมเพราะทุกคนน่ารัก ร่วมกันทำงานหนัก เพื่อเป้าหมายคือความสำเร็จ เป้าหมายโตขึ้นอยากทำงานเกี่ยวกับวิศกรรมคอมพิวเตอร์
โดยมีหน้าที่ในทีมช่วยออกแบบหุ่นยนต์ที่จะไปแข่งขันในแต่ละภารกิจออกมา เพื่อให้ทำงานได้เหมาะสมที่สุด
“หุ่นยนต์”...แต่ละแบบสำเร็จลงตัวแล้ว ลำดับขั้นต่อไปก็ต้องเขียนโปรแกรมเพื่อให้ปฏิบัติภารกิจให้สำเร็จลุล่วง นั่นก็คือทุกๆคนต้องมาระดมความคิด ช่วยกันเขียนโฟลว์ชาร์ต เขียนโปรแกรม
แน่นอนว่าทำแล้วไม่สำเร็จได้รวดเร็ว ต้องมีข้อผิดพลาด โปรแกรมเออเร่อร์ต้องหาจุดติดขัด แก้ไข ปรับปรุง แก้ปัญหา...หุ่นยนต์จึงจะทำงานได้เสถียรเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์
พัทธกิตติ์ เจริญเศรษฐกุล “บอส” อายุ 16 ปี ม.5 หนึ่งในโค้ชรุ่นพี่ เสริมว่า การแข่งขันเวทีใหญ่ต้องวางแผนให้ชัดเจน ละเอียดรอบคอบเท่าที่จะคิดกันได้ ยกตัวอย่างน้ำหนักตัวหุ่นก็มีผล ทำให้เกิดแรงเฉื่อยที่มากกว่า ในส่วนล้อไม่ใช่ล้อยางทั้งหมดก็ส่งผลต่อการขับเคลื่อน ปัจจัยเหล่านี้ก็มีผลทำให้โปรแกรมผิดพลาดได้
“เราก็ต้องพยายามแก้ไขข้อผิดพลาด ให้โปรแกรมเกิดเออเร่อร์น้อย โปรแกรมต้องเสถียร...อาจจะโปรแกรมไม่ให้หุ่นวิ่งเร็วไป เพิ่มเซ็นเซอร์เช็ก...ตรวจจับระบบการเดินทำให้ระยะการเดินแม่นยำมากขึ้น ในการแข่งแต่ละภารกิจมีอุปสรรครอบด้าน ความเร็วและความแม่นยำมีผลต่อการแข่งขัน จำเป็นต้องทำให้ดีที่สุดตามกติกา”
ระบบการเดินที่แม่นยำทำได้สำเร็จแล้ว คราวนี้ก็มาถึง “ระบบการยิง” ที่จะช่วยเก็บแต้มมากน้อยในการแข่ง หน้าที่นี้เป็นของ ปัณณวิชญ์ ภัทรนิธิไพบูลย์ หรือ “ปัณ” อายุ 12 ปี ม.1 พัฒนาออกแบบระบบให้มีความแรงและแม่นยำสูงมากในการเก็บดิสก์และยิงออกไปให้หยุดในระยะตำแหน่งพอดี เพื่อที่จะได้แต้มสูงที่สุด
“ดิสก์ที่วางไว้ในภารกิจหากวางแนวนอน หุ่นก็ต้องสามารถดึงและดันออกมาให้ได้ แล้วก็เอามาเก็บไว้ในตัว จากนั้นก็โปรแกรมขยับเลื่อนหุ่นให้มาอยู่ในระยะยิง โดยมีระบบยิงที่แม่นยำไปในตำแหน่งที่พอดี”
กรณีถ้าดิสก์อยู่สูงหุ่นเราก็มีระบบคานเก็บเกี่ยวกระดกให้เข้าไปเก็บได้...ส่วนเก็บแนวนอนกับแนวตั้งจะทำงานแยกกัน ไม่ได้ทำพร้อมกัน พอผ่านมาถึงระบบยิงก็มีซองระบบเลื่อนที่เร็วพร้อมยิงได้อย่างแม่นยำ
“ระบบยิง”...นี้ก็ถือว่าเจ๋งแจ๋ว ทำยาก ไม่พูดถึงไม่ได้ ออกแบบโดย ภัทรกร จารุกุลวนิช หรือ “จัส” อายุ 14 ปี ม.2 จะใช้ระบบการดีดกระแทกที่แม่นยำสูง แตกต่างจากทีมอื่นที่ใช้ระบบเทแล้วดีด ผิดพลาดได้ง่าย
...
เราใช้ระบบยางง้างแผ่นเพื่อไปกระแทก...ยิงดิสก์ออกไป ส่วนนี้ต้องปรับกันเยอะมากๆเพราะยางใช้ไป
เรื่อยๆก็ต้องเปลี่ยน สำคัญคือคิดออกแบบขึ้นมาเพื่อความแม่นยำ ความแรงและความเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
ทั้งระบบเก็บ...ระบบยิงเหมือนจะง่ายแต่ไม่ใช่ว่าใครจะคิดออกมาได้ เพราะต้องพอดิบพอดีทุกจังหวะ ไม่ให้ผิดพลาด ผ่านการลอง การปรับไปเรื่อยๆกว่าจะลงตัว...ยอมรับว่าใช้เวลาอยู่นานทีเดียว
ทีมงานเบื้องหน้าเบื้องหลังผสมผสานเติมเต็มจนประสบความสำเร็จยังมี ณรงค์ทรรศน์ ว่องวัฒนกิจ “แฟรงกี้” อายุ 18 ปี ม.6 ช่วยเรื่องแมคคานิคกลไกบางจุดที่ยังไม่แข็งแรงสมบูรณ์ แก้เออเร่อร์โปรแกรม จิตรายุส์ จารุกุลวนิช “นาจา” อายุ 18 ปี ม.6 พี่ชายจัสที่คอยช่วยแนะนำให้คำปรึกษาน้องชายอยู่ตลอดเวลา
นอกจากนี้ยังมี ณัฐณิชา เดชสกุลฤทธิ์ “ฟ้า” อายุ 16 ปี ม.3 เก็บ...ป้อนข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับการแข่งขันกับ นรบดี ศิริบุญญะสุข “เจอาร์” อายุ 15 ปี ม.3 ซัพพอร์ตทั่วไป ตกแต่ง เผยแพร่ข้อมูลประจำบูธที่คนไม่น้อยให้ความสนใจประเทศไทยมากๆ...เรียกว่าในทีมขาดคนใดคนหนึ่งไม่ได้เลย ต้องร่วมด้วยช่วยกัน
นี่คือบทพิสูจน์การทำงานอย่างมีเป้าหมาย การ “ปฏิรูปการศึกษา” ทันยุคที่สะท้อนผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม ประสบความสำเร็จได้บนเวทีการแข่งขันระดับโลก
...
ความท้าทายสำคัญที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดนี้ นอกจากครูรักเด็กแล้วครูก็ต้องเก่งด้วย ถ้าไม่เก่ง...รักอย่างเดียวก็ไม่พอ ดวงตวัน สุรฤกษ์ หรือ “ครูหยก” ครูโค้ชที่รักเด็กปลุกปั้นเตรียมทีมมาอย่างต่อเนื่อง ย้ำว่า ความสำเร็จ...เด็กแต่ละคนก็มีความชอบ ความถนัดที่แตกต่างกัน จึงใช้ความเก่งในแต่ละเรื่องของเด็กแต่ละคน
ระยะเวลาราวสามเดือนที่เด็กๆพัฒนาหุ่นยนต์โดยใช้เวลาว่างนอกเหนือจากเวลาเรียนปกติ หลายๆวันอยู่กันดึกๆดื่นๆ แต่ทุกคนก็ตั้งใจจริง สนใจที่จะทำ เรียนรู้ แก้ปัญหาสารพัดอุปสรรคด้วยตัวเอง
“เด็กได้ทำกิจกรรมตรงนี้ เราจะได้เห็นศักยภาพ ทักษะที่ถนัดในแต่ละด้านของเด็กแต่ละคนที่ต่างกัน จะได้แนะนำต่อไปได้ว่าเหมาะที่จะไปสายไหน ชอบหรือเปล่า...อย่างธรรมะเล่นเกมเก่ง ก็ใช้ข้อเด่นนี้ไปควบคุมหุ่นยนต์เวลาแข่งแบบควบคุมด้วยมือ...หรือเคทก็เด่นเรื่องความคิด วิเคราะห์ทำให้ดีไซน์หุ่นแต่ละแบบได้ดี”
ถึงตรงนี้ถามว่าการเรียนการสอนแบบนี้จำเป็นมากน้อยในโลกปัจจุบัน นายแพทย์ ธีระเกียรติ บอกอีกว่า สมัยกรีกโบราณระบบศูนย์การเรียนก็ใช้การฝากตัวเป็นศิษย์กับครูบาอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในวิชาสาขาต่างๆ มาเรียนรู้ มาทำ มาฝึกปฏิบัติให้เชี่ยวชาญชำนาญในเรื่องที่อยากเรียนรู้ ตามสาขาวิชาที่ต้องการ
...
“ระบบการเรียนที่มีความคล่องตัวสำหรับเด็ก มุ่งเป้าให้ครูใกล้ชิดกับศิษย์ เด็กไม่รู้ก็ถาม ครูก็สั่งสอน เสนอแนะ พร้อมๆกับการปรับอุปนิสัย ดูแลกันไป...เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเรียนการสอนยุคใหม่”
สะท้อนอนาคตของประเทศชาติ ความจำเป็นเรื่องการศึกษาให้ใจเป็นหัวใจการศึกษาพุ่งเป้า “เด็ก” ต้องการ “ครู”...“โรงเรียน” ที่สามารถดึงศักยภาพในตัวเขาออกมาได้อย่างเต็มกำลัง.