การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง ส่งผลให้โลกร้อนขึ้นนำไปสู่ความร่วมมือระดับโลก ภายใต้การประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศ มีส่วนร่วมขับเคลื่อนลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีนัยสำคัญ
ดร.ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (Thailand Cement Manufacturers Association-TCMA) เข้าร่วมการประชุม COP27 ครั้งล่าสุด ที่เมืองชาร์ม เอล ซีค สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์
นำเสนอ “แผนงานมุ่งสู่คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของอุตสาหกรรมซีเมนต์ของประเทศไทย” พร้อมผลักดันไปสู่การปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริง เป็นอุตสาหกรรมแรกของประเทศไทย และเป็นหน่วยงานแรกในกลุ่มอุตสาหกรรมซีเมนต์ของโลกที่ได้รับการรับรองและตอบรับสนับสนุนจาก สมาคมปูนซีเมนต์และคอนกรีตโลก ที่ COP27
...
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา TCMA มีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนสมาชิกดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกมาอย่างต่อเนื่อง โดยหารือร่วมกันกับสมาชิก แลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำเทคโนโลยีทันสมัยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาใช้งาน
จนนำไปสู่การพัฒนาปูนซีเมนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต เรียกว่า “ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก” หรือปูนลดโลกร้อน ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 3 แสนตัน CO2 ในปี 2564 เป็นความสำเร็จที่สามารถบรรลุเป้าหมายได้รวดเร็วกว่าที่ Thailand NDC Roadmap กำหนดถึง 9 ปี
ดร.ชนะ กล่าวว่า ทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาควิชาชีพ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษากว่า 30 หน่วยงาน โดยการสนับสนุนของ 6 กระทรวง ทำให้เกิดการปรับปรุงมาตรฐานวิศวกรรมก่อสร้าง และกฎระเบียบของหน่วยงาน การปรับปรุงมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.)
โดยมีการวิจัยและพัฒนา ส่งเสริมการผลิต และสร้างความเข้าใจในการส่งเสริมการใช้งานปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก มาตรฐาน มอก. 2594 แทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ มอก.15
ดร.ชนะ กล่าวต่อว่า TCMA ตั้งเป้านำอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เป็น Net Zero ในปี 2593 ภายใต้ Thailand Net Zero Cement & Concrete Roadmap 2050 ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 30.3 ล้านตัน CO2 ด้วย 7 มาตรการ อาทิ ลดกระบวนการผลิตปูนเม็ด เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตคอนกรีต และใช้พลังงานไม่ก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์
มีการนำไปสู่การสร้างความร่วมมือกับอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ การร่วมมือกับสมาคมคอนกรีตแห่งประเทศไทยในการพัฒนาคอนกรีต ที่ช่วยดูดซับคาร์บอนได้ดี หรือการร่วมมือกับ GCCA ในการเข้าถึงเทคโนโลยี CCUS หรือการสนับสนุนด้าน Green Finance เป็นต้น
...
นอกจากนี้ขยายความร่วมมือไปสู่ภาคท้องถิ่น ที่จะสร้างการพัฒนาตามแนวทาง BCG Model ที่นำร่องความร่วมมือกับ จ.สระบุรี เป็นแหล่งผลิตหลักของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์กว่า 80% ที่ถือกำเนิดและพัฒนาขึ้นในจังหวัดนี้ในการตอบสนองการใช้งานของทั้งประเทศ
โดยมี นายผล ดำธรรม ผวจ.สระบุรี ร่วมเป็นประธานสักขีพยานลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่หอประชุมจังหวัดสระบุรี ศาลากลางจังหวัดสระบุรี
ประกาศความพร้อมเดินหน้าใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกในทุกงานก่อสร้างของจังหวัด เพื่อมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
นายผล กล่าวว่า ร่วมส่งเสริมนำปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก มอก. 2594 เข้าสู่การใช้งานในทุกโครงการก่อสร้างของจังหวัด การใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก 1 พันตัน จะทำให้ จ.สระบุรี ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 52 ตันคาร์บอน ไดออกไซด์
...
เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 5,400 ต้น หรือราว 54 ไร่ทีเดียว เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัด ตามแนวทาง BCG ที่จะสร้างสมดุล ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
จึงเป็นจังหวัดนำร่องลดโลกร้อน ที่จะสานต่อไปจังหวัดอื่นทั่วประเทศ.
สุวัฒน์ พุฒิสกุลวงศ์