นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาที่ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 มีผลบังคับใช้ สบส.ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสถานพยาบาลที่มีข้อมูลเบาะแสความเชื่อมโยงกับกระบวนการรับจ้างอุ้มบุญ รวมทั้งมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ยกระดับคดีอุ้มบุญเป็นคดีพิเศษ เพื่อนำผู้กระทำผิดทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศมาดำเนินการตามกฎหมาย
แต่ยังพบรายงานข้อมูลหญิงรับจ้างอุ้มบุญผิดกฎหมายเป็นระยะ การกระทำความผิดลักษณะดังกล่าวมักดำเนินการเป็นขบวนการ เกี่ยวเนื่องกันทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้น สบส.จึงดำเนินการทบทวนร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ (ฉบับที่...) พ.ศ. ...เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมปรับปรุงกฎหมายบางมาตราให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน มีสาระสำคัญในการกำหนดนิยามของผู้อนุญาต พนักงานเจ้าหน้าที่ หนังสือรับรองมาตรฐาน การห้ามผู้ใดกระทำการเป็นคนกลาง นายหน้า ให้เกิดการรับจ้างตั้งครรภ์แทน ทั้งในและนอกราชอาณาจักรไทย เพิ่มอัตราโทษปรับ และจำคุก แก่ผู้รับจ้างตั้งครรภ์แทน คนกลาง หรือนายหน้า เพื่อป้องปรามมิให้เกิดการกระทำผิดกฎหมาย
ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดี สบส. กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนซึ่งผ่านการรับรองมาตรฐานการให้บริการด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ 108 แห่ง แบ่งเป็นสถานพยาบาลภาครัฐ 16 แห่ง และสถานพยาบาลเอกชน 92 แห่ง โดยคลังข้อมูลด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ฯของประเทศไทยพบว่ามีอัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์เฉลี่ยสูงถึง 46% มีการให้บริการทำเด็กหลอดแก้วกว่า 20,000 รอบการรักษา การผสมเทียมกว่า 12,000 รอบการรักษา สร้างรายได้ในบริการทางการแพทย์นี้กว่า 4,500 ล้านบาท ด้วยรายได้ทางการแพทย์ที่มีมูลค่านับพันล้านบาท รวมทั้งผู้ร่วมขบวนการอุ้มบุญเป็นกลุ่มผู้ได้ประโยชน์
...
การทบทวนร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีฯให้เข้ากับสภาพการณ์ในปัจจุบัน ยกระดับการบังคับใช้กฎหมาย อุดช่องว่างมิให้เกิดการทำธุรกิจอุ้มบุญผิดกฎหมาย อีกทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการให้สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และช่วยส่งเสริมให้คู่สามี ภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมายได้มีบุตรตามที่มุ่งหวัง ทั้งนี้ หากพบเบาะแสการกระทำผิดแจ้งที่สายด่วน สบส. 1426.