กรมทะเลและชายฝั่ง เร่งช่วยเหลือและรักษาเต่าทะเล หลังได้รับแจ้งเกยตื้น 4 ตัว ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด ก่อนปล่อยกลับสู่ธรรมชาติ พร้อมเตือนประชาชนใช้ช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
วันที่ 8 พฤษภาคม 2566 มีรายงานว่า นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (รรท.อทช.) ได้รับแจ้งจากศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก (ศวทอ.) ว่า เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 ได้พบเต่าทะเลเกยตื้น จำนวน 4 ตัว ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด
จากการตรวจสอบพบว่าเป็นเต่าตนุ (Chelonia mydas) โดยตัวที่ 1 พบบริเวณหาดบานชื่น ต.ไม้รูด จ.ตราด ความยาว 80 ซม. ความกว้าง 76 ซม. น้ำหนัก 50.50 กก. ตัวที่ 2 พบบริเวณอ่าวคุ้งกระเบน อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ความยาว 72 ซม. ความกว้าง 65 ซม. น้ำหนัก 51.25 กก. ตัวที่ 3 พบบริเวณบ่อกุ้ง ใกล้อ่าวคุ้งกระเบน อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ความยาว 72 ซม. ความกว้าง 65 ซม. น้ำหนัก 39.45 กก.
...
สัตวแพทย์ตรวจหาสาเหตุ พบว่า ตัวที่ 1-3 เป็นการป่วยตามธรรมชาติ มีอาการอ่อนแรง ไม่สามารถจมตัว แต่ว่ายน้ำได้ปกติ และมีความสมบูรณ์ของร่างกายเป็นอย่างมาก ส่วนตัวที่ 4 มีความยาว 42 ซม. ความกว้าง 41 ซม. น้ำหนัก 8.75 กก. พบติดอวนจมปูบริเวณบ้านหาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด จากการตรวจสอบของสัตวแพทย์ พบว่ามีอาการทั่วไป มีการตอบสนอง และกินอาหารได้ดี
นายอภิชัย กล่าวว่า ภายหลังได้รับแจ้งเหตุ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ ศวทอ. เร่งนำเต่าตนุทั้ง 4 ตัว มายัง ศวทอ. เพื่อให้สัตวแพทย์รักษา และตรวจร่างกายอย่างละเอียด ก่อนที่จะนำปล่อยกลับสู่ท้องทะเล พร้อมกันนี้ยังได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ ศวทอ. เก็บตัวอย่างน้ำทะเลในบริเวณที่พบเต่า เพื่อมาตรวจสอบคุณภาพของน้ำ พบว่าน้ำทะเลเป็นปกติ การเกยตื้นของเต่าตนุทั้ง 3 ตัว ในเวลาใกล้เคียงกันนั้น เป็นเพียงความบังเอิญ แต่ที่ตนได้ตระหนักถึงปัญหา คือ เต่าทะเลที่ติดอวนจมปู ซึ่งในปัจจุบันมีสัตว์ทะเลจำนวนมาก ที่เสียชีวิตลงจากเครื่องมือการทำประมง
ในโอกาสนี้จึงอยากฝากพี่น้องประชาชน และชาวประมง ว่าให้ช่วยกันอนุรักษ์ ฟื้นฟู ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อให้คงความอุดมสมบูรณ์ พร้อมทั้งช่วยเป็นกระบอกเสียงประชาสัมพันธ์ ในการเลิกทำประมงผิดกฎหมาย ซึ่งกรม ทช. ได้มีเจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล เฝ้าตรวจตราตลอด 24 ชั่วโมง
โดยหากใครพบการกระทำความผิด หรือพบสัตว์ทะเลเกยตื้น สามารถแจ้งมายังสายด่วนพิทักษ์ป่าและรักษาทะเล โทร.1362 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละพื้นที่เร่งเข้าตรวจสอบ และช่วยเหลือได้ทันท่วงทีต่อไป.