ในช่วงโค้งสุดท้ายของ นโยบายประชานิยม การลดค่าครองชีพ ค่าน้ำมัน ค่าแก๊สหุงต้ม ค่าไฟฟ้า ยังเป็นนโยบายร่วมสมัย พอถึงวันแรงงานแห่งชาติ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา ก็พูดกันถึงเรื่องของ แรงงานขั้นต่ำ สักพักก็หันไปเรื่อง วิกฤติการเมืองจากการจับขั้ว สารพัดเรื่อง โฟกัส นโยบายแก้ปัญหาค่าไฟแพง ที่ทุกพรรคการเมืองนำมาหาเสียง ในจังหวะต้องขึ้นค่าไฟและมีการใช้ไฟมากกว่าปกติ มีความเห็นจากทุกภาคส่วน อาทิ ภาคอุตสาหกรรม มองว่าค่าไฟจะมีผลกระทบกับ อุตสาหกรรมยานยนต์ ค่อนข้างมาก อ้างว่าค่าไฟบ้านเราสูงกว่าเพื่อนบ้าน ซึ่งได้มีความพยายามในการแก้ปัญหาโดยการนำ พลังงานโซลาร์เซลล์ มาใช้ในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น
ถ้าคิดเป็น ต้นทุนในภาคอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมเซรามิก ต้นทุนค่าไฟอยู่ที่ร้อยละ 20-30 ในขณะที่การลงทุนใช้พลังงานทดแทนจะต้องลงทุนกว่า 30 ล้านบาท ในอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก ประหยัดต้นทุนได้ประมาณ 10% เป็นต้น นอกจากนี้ยังขอให้ภาครัฐส่งเสริมเรื่องของภาษีสำหรับอุปกรณ์นำเข้าที่เกี่ยวข้องกับการลดต้นทุนด้านพลังงานด้วย อย่างไรก็ตามราคาขายพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์สำหรับใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมก็ยังอยู่ในระดับประมาณ 2.16 บาทต่อหน่วย
เรื่อง ปริมาณไฟฟ้าสำรอง คงไม่ต้องไปพูดถึงให้เมื่อยตุ้ม เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคต่างๆมีความต้องการมากขึ้น ปัญหาคือจะทำอย่างไรช่วยกันประหยัดและทำให้ค่าไฟถูกลง โดยไม่กระทบกับโครงสร้างทั้งระบบ บทเรียนที่ผ่านมาคือ ถ้าเราต้องการใช้ไฟมากแต่จำนวนไฟมีจำกัด จะทำให้มีราคาสูงขึ้นเป็นอุปสงค์อุปทานทั่วไป อยากให้ดูการสำรองไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานและระบบไฟฟ้า เมื่อเทียบกำลังการผลิตกับความต้องการไฟฟ้า เช่น ประเทศสเปน กำลังสำรอง ร้อยละ 180 อิตาลี ร้อยละ 136 โปรตุเกส ร้อยละ 130 เดนมาร์ก ร้อยละ 130 เยอรมนี ร้อยละ 111 โดย 5 ประเทศนี้มีการใช้พลังงานทดแทนในสัดส่วนที่สูงมากด้วยซ้ำไป ใช้วัตถุดิบทุกประเภทแม้แต่ถ่านหินหรือนิวเคลียร์ในการผลิตไฟฟ้าก็ยังจำเป็นต้องสำรองเอาไว้จำนวนมาก
...
ในเอเชีย จีน มีกำลังไฟสำรองที่ ร้อยละ 91 ประเทศที่เล็กกว่าเรา มาเลเซีย มีไฟฟ้าสำรองที่ ร้อยละ 51 ส่วนเรามีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองที่ร้อยละ 39 ถ้าเทียบกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคตยังถือว่าต่ำไปด้วยซ้ำ
สปป.ลาว เดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชื่อว่า โรงไฟฟ้าลมมอนสูน ขนาด 600 เมกะวัตต์ ร่วมมือกับ บริษัท พาวเวอร์ คอนสตรักชัน คอร์เปอเรชัน ออฟ ไชนา ที่ตั้งความหวังว่าจะเป็นแหล่งพลังงานขนาดใหญ่ในภูมิภาคนี้
เราเคยดูถูก สปป.ลาวว่าไม่พัฒนา เป็นเมืองขึ้นของจีนต่างๆนานา แต่ถ้ามองการพัฒนาใน สปป.ลาวให้ลึกๆจะเห็นความเจริญในอนาคต ทั้งด้านพลังงาน โทรคมนาคม และคมนาคม อย่างน้อยเราต้องซื้อน้ำซื้อไฟจาก สปป.ลาวมาใช้กับอุตสาหกรรมในประเทศ ญี่ปุ่นหลังสงครามฟื้นตัวเพราะสหรัฐฯเข้าไปลงทุน จีนเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจได้ก็เพราะเลียนแบบญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ เวียดนามประกาศเป็นเสือตัวใหม่แห่งเอเชีย มีบริษัทขนาดใหญ่ไปลงทุนจำนวนมาก
บ้านเราจ้องแต่จะขัดขากันเอง.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th