วันนี้ (3 พ.ค. 66) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เปิดเผยถึงความก้าวหน้าของการขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ณ บ้านดอนกอย ต.สว่าง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ซึ่งเป็นหมู่บ้านยั่งยืนต้นแบบที่เป็นพระวินิจฉัยสำคัญที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปทรงงานร่วมกับประชาชน และพระราชทานแนวพระดำริ และคำแนะนำ เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชน และในเวลาต่อมา พระองค์ได้พระราชทานหนังสือ Sustainable City แก่ปลัดกระทรวงมหาดไทย และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย และพระราชทานพระอนุญาตให้กระทรวงมหาดไทยนำไปขยายผล โดยทรงเน้นย้ำในด้านการบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนช่วยกันขับเคลื่อนขยายผลเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนในแต่ละหมู่บ้าน/ชุมชนให้เกิดความยั่งยืนในชีวิต โดยมีท่านนายอำเภอในฐานะนายกรัฐมนตรีของพื้นที่อำเภอ เป็นผู้นำขับเคลื่อน มีนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และภาคีเครือข่ายทั้งหมดในพื้นที่ เป็นภาคีเครือข่ายสนับสนุนนายอำเภอ
"สำหรับบ้านดอนกอย ต.สว่าง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร นี้ พระองค์พระราชทานแนวทางพระดำริในการ "พัฒนาคน" ก่อน เพื่อให้คนสร้างทีม และดูแลกันและกันภายในชุมชนเป็นคุ้ม เป็นป๊อก เป็นหย่อมบ้าน เพื่อคุ้ม ป๊อก หย่อมเหล่านี้ เป็นพื้นที่ในการสร้างพลังความรัก ความสามัคคีของคนในชุมชนให้เกิดความเหนียวแน่น เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ด้วยการน้อมนำพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” มาขับเคลื่อนในทุกครัวเรือน และน้อมนำหลักการพึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตั้งแต่ "ต้นน้ำ" ด้วยการพึ่งพาตนเองในชุมชน ลดการนำเข้าวัตถุดิบจากนอกพื้นที่ แล้วรวมกลุ่ม ทั้งปลูกคราม ต้นไม้ให้สี ให้จำนวนมากๆ ในพื้นที่ว่าง ทั้งหัวไร่ปลายนา ที่วัด ริมถนนหนทาง ซึ่งนอกจากจะปลูกเพื่อย้อมผ้าในกลุ่มเองแล้ว ยังจะทำให้คนที่มาศึกษาดูงานหาซื้อไปใช้ได้อีกด้วย และนอกเหนือจากทุกครัวเรือนจะมีถังขยะเปียกลดโลกร้อนแล้ว สิ่งที่ต้องทำขยายผลให้เกิดขึ้นในครัวเรือน ในชุมชน คือ ต้องมีการบริหารจัดการขยะตามหลัก 3Rs ใช้น้อย (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) นำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ด้วยการรวมกลุ่มจัดตลาดนัดขยะทองคำ เงินที่นำมาได้ก็รวมใส่บัญชีครัวเรือน เป็นเงินส่วนกลาง มีคณะกรรมการ คอยดูแลและบริหารผลประโยชน์ของคนในชุมชน รวมถึงการกำหนดกฎระเบียบในการใช้เงิน เพราะสิ่งที่พระองค์ท่านปรารถนาในการทำให้ชีวิตของพวกเราทุกคนดีขึ้นอย่างยั่งยืน คือ อยากให้เราดูแลตนเอง รักษาสิ่งแวดล้อม” ปลัด มท. กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า นับเป็นพระกรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2566 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปทรงเปิดอาคารเฉลิมพระเกียรติ 36 พรรษา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา วิชชาลัยดอนกอย วิถีแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน และทรงเสด็จลงจากพระราชพาหนะ และทรงพระดำเนินตรวจเยี่ยม ให้กำลังใจประชาชนตามคุ้มบ้านต่างๆ ในพื้นที่หมู่ที่ 2 ต.สว่าง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร นำมาซึ่งความปลื้มปีติยินดีของประชาชนทุกคน และเป็นกำลังใจสำคัญในการทำให้ประชาชนชาวบ้านดอยกอยมุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองในทุกมิติ ต่อยอดสู่การสร้างหมู่บ้านยั่งยืนที่เป็นรูปธรรม ทำให้กระทรวงมหาดไทยสามารถนำบ้านดอนกอย เป็นต้นแบบเเละขยายผลไปยังทุกตำบล โดยเฉพาะหมู่บ้านที่มีศักยภาพน้อยที่สุดในตำบล คนในชุมชน ภาคราชการ เเละ 7 ภาคีเครือข่ายต้องช่วยเสริมสร้างศักยภาพและยกระดับคุณภาพชีวิต ให้สามารถพึ่งพาตนเองและรวมกลุ่มดูแลกันได้
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันนี้ หมู่บ้านดอนกอย อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ได้มีการบริหารจัดการและร่วมแรงในการเป็นหมู่บ้านพัฒนาสู่ความยั่งยืน ประจำเดือนเมษายน 2566 ดังนี้ 1. หมู่บ้านได้จัดตั้งศูนย์เมล็ดพันธุ์ดอนกอย โดยดำเนินการจัดตั้ง ณ บ้านประธานคุ้มทานตะวัน ชื่อนางสุพัฒตา ศรีสุทัศน์ เมล็ดพันธุ์ ได้แก่ คราม บวบ น้ำเต้า ถั่วฝักยาว เข้ากลุ่มเพื่อนำไปเพาะปลูก และขยายผลโดยเตรียมมอบให้กับหัวหน้าคณะศึกษาดูงานและจำหน่ายให้ผู้ที่สนใจนำไปเพาะปลูกขยายพันธุ์ต่อ ซึ่งได้มอบเมล็ดพันธุ์น้ำเต้าให้กับผู้ศึกษาดูงาน จังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 50 คน 2. หมู่บ้านได้ต้อนรับคณะดูงานการบริหารจัดการหมู่บ้าน และกลุ่มทอผ้าย้อมคราม เดือนเมษายน มีคณะศึกษาดูงานในจังหวัดสกลนคร จำนวน 21 คน จากต่างจังหวัด จำนวน 84 คน กลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย มียอดการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ จำนวน 328,325 บาท ซึ่งกลุ่มทอผ้าดอนกอยโมเดล จำนวน 11 กลุ่ม มีผลการจำหน่ายในเดือนเมษายน 2566 รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,486,720 บาท 3. หมู่บ้านได้ขอรับการสนับสนุนต้นไม้ให้สีจากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสกลนคร และหน่วยงานภาคี เพื่อเตรียมไว้ปลูกทดแทนต้นไม้ที่มีการปลูกข้างทางเข้าบ้านดอนกอยที่ตาย ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ได้แก่ 1) ต้นอินทนิลน้ำ ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดสกลนคร 100 ต้น 2) ต้นประดู่ 100 ต้น 3) ต้นมะค่า 20 ต้น และ 4) ต้นพะยูง 20 ต้น รวม 240 ต้น ซึ่งสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดและอำเภอพรรณานิคม พร้อมทีมผู้นำคุ้ม ได้มีการประชุมปรึกษาหารือในการพัฒนาหมู่บ้านและกำหนดกิจกรรม เพื่อที่จะดำเนินการ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 22 เมษายน 66 กลุ่มสตรีอำเภอพรรณานิคม และสมาชิกกลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย พร้อมด้วยผู้นำชุมชน ผู้แทนคุ้ม ประมาณ 90 ราย ร่วมกิจกรรมทำความสะอาดบริเวณรอบศูนย์เรียนรู้ "วิชชาลัยดอนกอย" มีการปลูกฝ้าย ปลูกคราม ปรับปรุงแปลงผัก และปลูกผักสวนครัว เพิ่มเติม ได้มีการเก็บเมล็ดพันธ์ครามไว้เพื่อนำไปขยายพันธุ์ และนำแพท่องเที่ยว ที่ได้รับสนับสนุนงบประมาณโครงการพัฒนาหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว จากกรมการพัฒนาชุมชน เมื่อปี 2558 ขึ้นจากลำน้ำอูน เพื่อปรับปรุงซ่อมแซมเพื่อใช้ในการต้อนรับนักท่องเที่ยวและผู้ที่ไปเยี่ยมชมบ้านดอนกอยให้ได้อีกครั้ง นอกจากนี้ ที่บ้านดอนกอยมีการจัดทำจุดเช็คอิน (Check-in) บริเวณคุ้มในหมู่บ้าน ไว้สำหรับให้นักท่องเที่ยวถ่ายภาพ จำนวน 3 จุด ได้แก่ คุ้มตะวันยอแสง 1 จุด และคุ้มทานตะวัน 2 จุด เพื่อเก็บเป็นภาพที่ระลึก นอกจากนี้ บ้านดอนกอย มีการจัดทำถังขยะเปียกทุกครัวเรือน และคัดแยกขยะรีไซเคิลไว้เพื่อจำหน่ายให้กับทางเทศบาลบัวสว่าง ที่จะออกไปรับซื้อขยะรีไซเคิล ทุกวันที่ 24 ของเดือน และสมาชิกต้องจำหน่ายขยะให้กับทางเทศบาลบัวสว่างอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 6 เดือน ขึ้นไปจึงจะได้รับสวัสดิการฌาปนกิจสงเคราะห์ 4,500 บาท (ปัจจุบันบ้านดอนกอย มีสมาชิกเข้าร่วมธนาคารขยะ จำนวน 70 ราย มีเงินกองทุน จำนวน 32,000 บาท) อีกกลุ่มหนึ่งที่มีกิจกรรมที่น่าสนใจ คือ กลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย มีการเลี้ยงไก่ไข่ จำนวน 15 ตัว เก็บไข่ไก่ได้ประมาณวันละ 13-15 ฟอง เดือนเมษายน 2566 เก็บไข่ไก่ ได้จำนวน 382 ฟอง และมีรายได้จากการจำหน่าย ให้กับสมาชิกกลุ่มเพื่อนำเงินไปซื้ออาหารสำหรับไก่ จำนวน 1,100 บาท
"จะเห็นได้ว่า กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น คือ ความยั่งยืน สิ่งสำคัญของความสำเร็จ คือ การพึ่งพาตนเอง และการใช้ภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ขับเคลื่อนกิจกรรม เเละการพัฒนาต่อยอดเรื่องราวดีๆ ต่างๆ เหล่านี้ สู่การยกระดับคุณภาพชีวิตทำให้คนในชุมชนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข เกิดเป็นหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ซึ่งหากนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อของ UN มาเป็นตัวชี้วัดแล้วจะพบว่าสามารถบรรลุเป้าหมายได้ทุกตัวชี้วัด ซึ่งจะเห็นได้ว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระปณิธานอันแน่วแน่ในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เพื่อสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อันสอดคล้องกับพระปฐมบรมราชโองการ "เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป" ทำให้พวกเรามีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุข ด้วยการที่พระองค์ท่านนำเอาสิ่งที่สมเด็จย่าของพระองค์ หรือ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง มาสืบสาน รักษา และต่อยอด โดยพระองค์ได้เสด็จไปทรงงานในจังหวัดต่างๆ ด้วยพระปณิธานอันแรงกล้าที่ต้องการต่อยอดผ้าไทย งานหัตถกรรมไทยให้เป็นสากล เป็นที่นิยมของคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกชาติ ทุกภาษา และทรงมุ่งมั่นในเรื่องการสร้างความยั่งยืน ให้เกิดขึ้นทุกพื้นที่ เพื่อรอยยิ้ม และความสุขของคนไทยทุกคน" ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวทิ้งท้าย