"กรมทะเลชายฝั่ง" พบปะเครือข่ายทางทะเลครั้งที่ 6 เสริมสร้างความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ มุ่งสู่การเป็นชุมชนชายฝั่งเข้มแข็ง เพื่อปกป้องทะเลอ่าวไทย "รูป ก"

วันที่ 3 พ.ค. 2566 นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (รรท.อทช.) เผยว่า ชุมชนชายฝั่งในอดีตเป็นชุมชนที่พึ่งพาตนเอง มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างพอเพียงในระบบเศรษฐกิจแบบยังชีพ ส่วนใหญ่ชุมชนชายฝั่งหาเลี้ยงชีพด้วยการทำประมงชายฝั่งและหาของในป่าชายเลน เพื่อนำไปแปรรูปจำหน่ายและประกอบอาหารในครัวเรือน

ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ของชุมชนชายฝั่งจะเป็นแบบพึ่งพาอาศัยกัน สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล การพัฒนาที่ทำให้ชุมชนชายฝั่งมีความเข้มแข็งได้นั้นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการให้คำปรึกษาและสนับสนุนทั้งด้านองค์ความรู้ บุคลากร นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ เจ้าหน้าที่ ยานพาหนะ งบประมาณ และอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพการทำงานของเครือข่ายชุมชนชายฝั่งในการปกป้องดูแลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในพื้นที่ รวมถึงพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนให้สำนึกรักและห่วงใยในธรรมชาติ เพื่อค้นหาทรัพยากรที่เป็นประโยชน์สามารถพัฒนาต่อยอดสร้างอาชีพให้เกิดรายได้ในชุมชนชายฝั่ง

...

นอกจากนี้ การทำงานร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องขยายโอกาสให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ผ่านการเป็น อาสาสมัครพิทักษ์ทะเล โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้เปิดรับสมัครอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติแบบไม่จำกัดจำนวนผ่านเว็บไซต์ของกรมฯ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีประชาชนทั่วไปสมัครเข้ามาเป็นอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลเป็นจำนวนมาก

สำหรับผู้ที่สนใจอยากเป็นนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจะต้องเป็นผู้ที่มีใจรักในธรรมชาติ สามารถปกป้อง คุ้มครอง ทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่ง และป่าชายเลน รวมถึงสัตว์ทะเลหายาก ตลอดจนแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าอื่นๆ ตามบริเวณแนวชายฝั่งทะเลของประเทศไทย ซึ่งลำพังเจ้าหน้าที่ของกรมฯ ที่ปฏิบัติหน้าที่นั้นมีไม่เพียงพอต่อการดูแลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทั้งประเทศ ฉะนั้นเราจึงต้องการที่จะพัฒนาประสิทธิภาพและเพิ่มองค์ความรู้ในด้านการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อในอนาคตบุคคลเหล่านี้จะสามารถนำความรู้ในด้านต่างๆ มาใช้ในการปกป้องครอบคลุมทุกพื้นที่ที่สิ่งแวดล้อมทางทะเลได้รับผลกระทบจากการดำเนินกิจกรรมของมนุษย์

ทั้งนี้ ได้มีโอกาสลงพื้นที่พบปะพี่น้องเครือข่ายชุมชนชายฝั่งและอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลจังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ ในเวทีการประชุมภาคีชุมชนชายฝั่ง อาสาสมัครพิทักษ์ทะเล (อสทล.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครั้งที่ 6 พร้อมมอบนโยบายและแนวทางการดำเนินงานของกรมฯ โดยมีนายธเนศ มั่นน้อย ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 2 พร้อมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ในสังกัดกรมฯ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ และเครือข่ายชุมชนชายฝั่งและอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล เข้าร่วมประชุม จำนวน 120 คน ณ ห้องประชุมรัตนแกรนด์บอลรูม โรงแรมรัตนชล ต.บางปลาสร้อย อ.เมือง จ.ชลบุรี

ทั้งนี้ ภายในงานได้มีการนำเสนอผลงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของชุมชนชายฝั่ง อาสาสมัครพิทักษ์ทะเล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูและป้องกันปราบปรามทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยกลุ่มประมงต้นแบบบ้านอ่าวอุดม จ.ชลบุรี กลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนชุมชนบ้านแหลมฉบัง จ.ชลบุรี กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและชายฝั่งตำบลแหลมฟ้าผ่า จ.สมุทรปราการ กลุ่มโรงเรียนนอกกะลา (บ้านลุงสอนหลาน) จ.สมุทรปราการ กลุ่มชุมชนบ้านบน จ.ฉะเชิงเทรา และกลุ่มรักษ์ปากอ่าวบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา อีกทั้งรับฟังเสียงสะท้อนจากพี่น้องเครือข่ายฯ แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการดำเนินกิจกรรมร่วมกับกรม ทช. ด้านสถานการณ์ ปัญหา ภัยคุกคาม สาเหตุ และแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

อย่างไรก็ตาม ถ้าทุกคนหันมาใส่ใจในทรัพยากรหน้าบ้านของตน สานต่ออาชีพที่บรรพบุรุษสร้างไว้ให้แข็งแกร่ง โดยการรวมกลุ่มกันนำวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาแปรรูปให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบัน ผนวกกับการใช้ระบบเทคโนโลยีเข้ามาเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ในการเผยแพร่ข้อมูลเชิงสินค้าและผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่รู้จัก ตนเชื่อว่าสินค้าและผลิตภัณฑ์แปรรูปเหล่านี้จะช่วยสร้างเม็ดเงินให้กับชุมชนชายฝั่ง ในส่วนของกรมฯ จะคอยเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำและเป็นที่ปรึกษาในด้านต่างๆ เพื่อลูกหลานของเราก็จะไม่ต้องผลัดถิ่นฐานไปทำงานนอกบ้าน และทุกคนในครอบครัวจะได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน คอยดูแลซึ่งกันและกัน รวมถึงปกป้องทรัพยากรในทะเลอ่าวไทยรูปตัว ก ควบคู่กับทรัพยากรป่าชายเลนในพื้นที่ให้คงความสมบูรณ์และยั่งยืนสืบไป.

...