ปฏิเสธไม่ได้ว่าพฤติกรรมการใช้ชีวิตในแต่ละวันมีผลต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “โรคหัวใจ” ที่นับวันจะกลายเป็นภัยเงียบพร้อมเกิดขึ้นได้กับทุกคน จากสถิติขององค์กรอนามัยโลก (WHO) ได้ระบุว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของโลกมากถึงร้อยละ 32 หรือประมาณ 17.9 ล้านคน สำหรับประเทศไทยจากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า อัตราการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจของคนไทยมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉลี่ยมากถึงปีละ 7 หมื่นราย

แพทย์ชี้ผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายหัวใจต้องทำให้ทันเวลา

นายแพทย์พัชร อ่องจริต แพทย์ศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เผยว่า ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวเป็นจำนวนมาก โดยเกิดจากความเสียหายของกล้ามเนื้อหัวใจ ที่มีสาเหตุหลักคือ หัวใจขาดเลือด หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการ ซึ่งพบมากถึง 2 ใน 3 ของจำนวนผู้ป่วย โดยจะต้องทำการรักษาด้วยการผ่าตัด “เปลี่ยนหัวใจ” ซึ่งเป็นการรักษาผู้ป่วยหัวใจวายระยะสุดท้ายที่ได้ผลดีที่สุด เพราะผู้ป่วยเหล่านี้เป็นผู้ที่หัวใจเสียหายเกินกว่าจะรักษาด้วยวิธีอื่นได้ และหากไม่ได้รับการรักษาอาจเสียชีวิตในเวลาอันสั้น

นายแพทย์พัชร กล่าวต่ออีกว่า หัวใจเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย และเป็นเพียงอวัยะเดียวที่ไม่สามารถรับจากญาติหรือคนในครอบครัวได้ เพราะฉะนั้นการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ หลักการคือเป็นการนำหัวใจจากผู้บริจาคที่มีลักษณะพิเศษ โดยมีภาวะก้านสมองตายแต่หัวใจยังเต้น ซึ่งในทางการแพทย์และทางกฎหมายถือว่าเป็นผู้เสียชีวิตแล้วจึงจะสามารถบริจาคอวัยวะได้

“สิ่งสำคัญในการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายหัวใจคือข้อจำกัดเรื่องเวลา ที่ต้องทำให้เสร็จตั้งแต่นำหัวใจออกจากผู้บริจาคจนถึงผู้รับบริจาค ต้องให้อยู่ภายใน 4-6 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งการเดินทางต้องใช้เครื่องบินส่วนตัวที่เป็นเครื่องบินเช่าเหมาลำเพื่อให้ทันเวลาในการรักษาเคสเร่งด่วน เพราะจากสถิติผู้บริจาคหัวใจ ส่วนมากมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น อุบลราชธานี อุดรธานี ขอนแก่น หรือในพื้นที่ห่างไกล หากเดินทางด้วยวิธีอื่น เช่น รถยนต์หรือเครื่องบินพาณิชย์ จะมีข้อจำกัดด้านของเวลาและระยะทาง”

ที่ผ่านมาการขนส่งหัวใจด้วยเครื่องบินจะได้รับการสนับสนุนจากสายการบินพาณิชย์ แต่มีข้อจำกัดทั้งในด้านของเวลาที่ใช้เวลานานและต้องเดินทางตามตารางบินไม่สามารถยืดหยุ่นได้ ทำให้บางครั้งเมื่อมีเคสผู้ป่วยเร่งด่วน ก็ไม่สามารถทำการผ่าตัดปลูกถ่ายได้ทัน

เครือซีพีหนุนภารกิจช่วยขนส่งหัวใจด้วยเครื่องบินเช่าเหมาลำ

ด้วยข้อจำกัดของ “เวลา” และ “ระยะทาง” ที่ผู้บริจาคหัวใจส่วนใหญ่อยู่ต่างจังหวัดในพื้นที่ห่างไกลนั้น ได้มีหลายภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน เข้ามาสนับสนุนด้านการขนส่งหัวใจด้วยเครื่องบินเช่าเหมาลำ หนึ่งในภาคเอกชนที่มีความมุ่งมั่นที่จะนำศักยภาพมาช่วยอย่างเต็มกำลังก็คือ บริษัท สยามแลนด์ ฟลายอิ้ง ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี)


นายแพทย์พัชร กล่าวว่า ด้วยความห่วงใยจากท่านประธานอาวุโสเครือฯ ธนินท์ เจียรวนนท์ที่เล็งเห็นความสำคัญและพร้อมช่วยเหลือด้านการเดินทางของทีมแพทย์พยาบาลในการนำอวัยวะจากผู้บริจาคเพื่อมาทำการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจให้ผู้ป่วยที่เข้าขั้นวิกฤต โดยท่านได้สนับสนุน “เครื่องบินเช่าเหมาลำ” ของบริษัท สยามแลนด์ ฟลายอิ้ง ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ พร้อมนักบินทำภารกิจเร่งด่วน ในการบินรับส่งทีมศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอกไปยังจังหวัดต่างๆ ที่ห่างไกลเพื่อไปทำภารกิจในพื้นที่ได้โดยตรง ทำให้สามารถลดระยะเวลาในการเดินทางลงและสามารถนำอวัยวะ กลับมาช่วยชีวิตผู้ป่วยที่รอคอยอวัยวะให้สามารถผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจได้อย่างสำเร็จลุล่วงทันเวลา

“เรามีสถิติอยู่ว่าการเดินทางด้วยเครื่องบินเช่าเหมาลำในการขนส่งอวัยวะสามารถประหยัดเวลาได้มากกว่า 1.30 ชั่วโมง ซึ่งทำให้ผลลัพธ์ของการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายหัวใจให้ผู้ป่วยโดยรวมมีประสิทธิภาพดีขึ้นอย่างมาก ผู้ป่วยมีอัตราการรอดชีวิตสูง อัตราการเต้นของหัวใจกลับสู่ภาวะปกติเร็วขึ้นส่งผลต่อร่างกายมีการฟื้นตัวกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ทั้งหมดนี้เป็นประโยชน์โดยตรงต่อผู้ป่วย”

ทั้งนี้เครือซีพี โดยบริษัท สยามแลนด์ ฟลายอิ้ง ได้สนับสนุนเครื่องบินเช่าเหมาลำโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน โดยมีการขนส่งอวัยวะตลอดระยะเวลา 3 ปีแบ่งเป็น หัวใจ 18 ตับ 4 ไต 13 และดวงตา 6 รวมเที่ยวบินทั้งหมด 18 เที่ยวบินด้วยเครื่องบินส่วนตัวแบบใบพัด (King Air350) และเครื่องบิน Jet (Hawker 850XP) ซึ่งช่วยลดระยะเวลาของการขาดเลือดของหัวใจได้ ส่งผลให้อัตราการรอดชีวิตและการฟื้นตัวของคนไข้ที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจดีขึ้นอย่างมาก นอกจากนี้ยังเพิ่มโอกาสการบินไปรับหัวใจของผู้บริจาคในจังหวัดอื่นมากขึ้นด้วย

“การได้รับสนับสนุนการขนส่งอวัยวะทางอากาศเพื่อการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะในตอนนี้มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในระยะยาวรัฐบาลมีแผนการที่จะหาทางสนับสนุนในส่วนนี้ แต่ยังต้องใช้เวลาในการทำระบบรองรับที่ถาวร ซึ่งการได้รับการสนับสนุนจากเครือเจริญโภคภัณฑ์และกลุ่มภาคเอกชนต่างๆ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในช่วงเวลานี้ ถือเป็นการร่วมแรงร่วมใจของกลุ่มภาคเอกชนที่เข้ามาเสริมการบริการของภาครัฐ เพื่อเพิ่มโอกาสช่วยเหลือผู้ป่วยหัวใจวายระยะสุดท้ายที่รอความหวังได้รับหัวใจใหม่ สามารถรอดและกลับมาใช้ชีวิตได้ดีขึ้น ผลลัพธ์ทางการรักษาเราก็ดีขึ้นมาก”

ผู้ได้รับการเปลี่ยนถ่ายหัวใจเหมือนได้ชีวิตใหม่

นายภูวนัย คล้ายแจ้ง อายุ 22 ปี อดีตเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย หนึ่งในผู้ป่วยที่เกิดอาการหัวใจวายเฉียบพลันและต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายหัวใจเร่งด่วน ด้วยวิธีการขนส่งหัวใจจากผู้บริจาคด้วยเครื่องบินเช่าเหมาลำที่ได้รับการสนับสนุนจากเครือซีพี ทำให้สามารถรักษาได้ทันเวลา

นายภูวนัย ได้เล่าเหตุการณ์วินาทีชีวิตว่า ในตอนนั้นผมนั่งดูโทรทัศน์อยู่ แล้วก็วูบหมดสติไปเลย ฟื้นมาอีกทีคือมองทุกอย่างเป็นสีเหลืองหมด ผมคิดว่าผมจะตายแล้ว คุณพ่อรีบมาปั้มหัวใจได้ทันและรีบส่งรักษาที่โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์หลังจากนั้นผมถูกส่งตัวมารักษาต่อที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพราะเป็นผู้ป่วยที่เข้าขั้นวิกฤต ในตอนนั้นคุณหมอแจ้งว่าโอกาสที่จะรอดชีวิตน้อยมากแค่ 10% เพราะหัวใจเต้นอ่อนมากเข้าขั้นวิกฤต คุณหมอแจ้งว่าต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายหัวใจให้เร็วที่สุด จากการประสานงานที่ดีมากทำให้ผมได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายหัวใจได้ทันเวลา จนตอนนี้อัตราการเดินของหัวใจกลับมาอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ผมใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติมากขึ้น

“ผมรู้สีกดีใจมากที่ได้เปลี่ยนถ่ายหัวใจดวงใหม่ ทำให้ผมมีอัตราการเต้นของหัวใจกลับมาปกติอีกครั้ง ร่างกายฟื้นตัวเร็วขึ้น ตอนนี้ผ่านมา 1 ปีหลังจากได้รับผ่าตัด ร่างกายกลับมาฟื้นตัวเกือบจะสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ เดิน วิ่งไม่เหนื่อย ขอขอบคุณผู้บริจาคหัวใจ คุณหมอ คุณพยาบาลที่รักษาผมจนกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ ขอบคุณซีพีที่สนับสนุนเครื่องบินไปรับหัวใจที่บริจาค ทำให้ผมมีชีวิตรอดมาถึงทุกวันนี้ เหมือนกับว่าได้ชีวิตใหม่”

ในขณะที่นายพรรษวุฒิ ตปนียศิลป์ อายุ 36 ปี ช่างซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าชาวจ.สมุทรปราการ เป็นผู้ป่วยที่เกิดอาการติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ จนต้องได้รับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วนในตอนนี้ได้ผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายหัวใจมาแล้ว 6 เดือน ร่างกายฟื้นตัวกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติมากขึ้น ได้เล่าว่า จากแต่ก่อนเพียงแค่เดินไปเข้าห้องน้ำก็มีอาการเหนื่อยหอบ ในตอนนั้นผมเป็นผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มเข้าขั้นวิกฤตที่ต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายหัวใจเร่งด่วน เพราะเกิดการติดเชื้อ สุ่มเสี่ยงจะเกิดน้ำท่วมปอด ทางโรงพยาบาลจุฬาฯได้เร่งประสานหาผู้บริจาคหัวใจและประสานการขนส่งได้รวดเร็วมาก ทำให้ผมได้รับการผ่าตัดไปเมื่อเดือนตุลาคม 65 จนตอนนี้อาการดีขึ้นมาก ได้กลับมาใช้ชีวิต กลับมาทำงานหาเลี้ยงชีพช่วยเหลือครอบครัวได้ ผมขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ช่วยชีวิตผมขอขอบคุณผู้บริจาคหัวใจ แม้จะมีอุปสรรคในการรักษาที่มีข้อจำกัดของเวลาในการขนส่งนำหัวใจจากผู้บริจาคมายังผู้รับบริจาค แต่คุณหมอ คุณพยาบาลและผู้ที่สนับสนุนการขนส่งหัวใจก็ช่วยกันเต็มที่จนทำให้การรักษาผ่านไปด้วยดี

เป็นอีกภารกิจที่ทำให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจจากทีมแพทย์ของโรงพยาบาลจุฬาฯ ที่ได้ทุ่มเท เสียสละรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจที่เข้าขั้นวิกฤตได้อย่างไม่ย่อท้อ ในขณะเดียวกันยังสะท้อนถึงความมุ่งมั่นตั้งใจจริงของเครือซีพีที่ได้นำศักยภาพของบริษัทในเครือฯ ตอบแทนคุณแผ่นดิน สนับสนุนงานด้านสาธารณสุขอย่างเต็มกำลัง เพื่อให้ประชาชนในประเทศได้มีโอกาสเข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็วทันท่วงที