นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่สำนักงบประมาณได้จัดสรรงบประมาณให้หน่วยงานของรัฐเป็น 4 ไตรมาส ซึ่งในส่วนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 นั้น ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รับการจัดสรรงบประมาณในไตรมาสที่ 3 ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เดือน เม.ย.-มิ.ย.มาแล้ว ซึ่งในส่วนของไตรมาสที่ 1 และ 2 ที่ได้รับมาก่อนหน้านี้นั้น นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. ได้เน้นย้ำให้มีการติดตามและใช้จ่ายเงินให้เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ไม่อยากให้ค้างจ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งงบประมาณในการดำเนินงาน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องดำเนินการด้วยความละเอียดรอบครอบโปร่งใสตามระเบียบของทางราชการ

“ต้องยอมรับว่าอาจจะมีงบประมาณบางส่วน โดยเฉพาะงบประมาณที่เกี่ยวข้องครุภัณฑ์ ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างที่อาจจะมีค้างจ่ายอยู่บ้าง เพราะบางโครงการยังอยู่ระหว่างหาผู้รับเหมาก่อสร้าง ซึ่งนายอัมพรก็ได้กำชับให้เร่งรัด ทั้งนี้ เชื่อว่าการใช้จ่ายงบประมาณของ สพฐ.จะเป็นไปตามแผนงาน อย่างไรก็ตาม ปีนี้ สพฐ.ได้รับงบฯลดลงหลายพันล้านบาท โดยเฉพาะงบฯ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สำนักงบฯระบุไว้ชัดเจนว่าโรงเรียนใดที่มีเด็กนักเรียนน้อยกว่า 1,500 คน ต่อไปจะไม่จัดสรรงบฯผูกพันข้ามปีให้ ดังนั้นจึงทำให้หลายๆโรงเรียนไม่สามารถของบฯเพื่อก่อสร้างอาคารเรียนขนาดใหญ่ได้ทั้งที่หลายโรงเรียนมีความจำเป็นมากๆ เนื่องจากอาคารขนาดใหญ่ต้องใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างหลายปี เมื่อสำนักงบฯไม่จัดสรรงบฯผูกพันข้ามปีได้จึงไม่สามารถทำได้ จึงทำให้หลายโรงเรียนได้รับความเดือดร้อน ซึ่ง สพฐ.ก็ต้องหาช่องทางช่วยบรรเทาความเดือดร้อน” รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าว

นายพัฒนะกล่าวอีกว่า เนื่องจากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 พบว่ามีผู้รับเหมาทิ้งงานก่อสร้างอาคารเรียน และอาคารอื่นๆของโรงเรียนในสังกัด สพฐ.เป็นจำนวนหลายร้อยแห่ง เนื่องจากเกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง และขาดแรงงานในการดำเนินงาน ซึ่งบางแห่งสามารถหาผู้รับเหมารายใหม่ทันก็ได้ทำต่อ แต่หลายแห่งไม่สามารถหาผู้รับเหมาใหม่ได้ก็ถูกสำนักงบฯดึงงบฯกลับ ทำให้อาคารที่กำลังก่อสร้างค้างคาอยู่อย่างนั้น บางแห่งมีแค่เสา ซึ่งนายอัมพรได้สั่งการเร่งรัดให้มีการสะสางปัญหาดังกล่าวซึ่งโรงเรียนได้รับความเดือดร้อนนี้อย่างเร่งด่วน.

...