โครงการฟันเทียม รากฟันเทียม เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 2567 มุ่งหวังให้ “ผู้สูงอายุ” มีฟันไว้บดเคี้ยวอาหาร ได้สารอาหารครบถ้วนมีสุขภาพแข็งแรง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสในปี 2546 ว่า “คนเราเวลาไม่มีฟันนั้น กินอะไรไม่อร่อย ทำให้ไม่มีความสุข ใจก็ไม่สบาย ร่างกายก็ไม่แข็งแรง”

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขปี 2547 พบว่า ผู้สูงอายุเป็นจำนวนมากที่สูญเสียฟัน ต้องการใส่ฟันทั้งปากมีอยู่ประมาณ 3 แสนคน แต่ว่าการใส่ฟันทั้งปากต้องเป็นทันตกรรมเฉพาะทาง ขณะที่วิธีการทำก็ค่อนข้างยุ่งยากเพราะในขณะนั้นมีแต่เฉพาะโรงพยาบาลใหญ่ๆเท่านั้นที่สามารถให้บริการได้รวมทั้งหมด

ที่สำคัญ...สามารถให้บริการได้ประมาณปีละ 2,000 คนเท่านั้น

ศ.พิเศษ ทพญ. ท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช
ศ.พิเศษ ทพญ. ท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช

...

ศ.พิเศษ ทพญ. ท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช ประธานกรรมการมูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์ บอกว่า ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คณะทันตแพทยศาสตร์ทุกมหาวิทยาลัย รวมทั้งภาคีเครือข่ายต่างๆ

จัดทำโครงการ “ฟันเทียมพระราชทาน” ขึ้น ให้ประชาชนทุกสิทธิสามารถทำรากฟันเทียมได้ที่โรงพยาบาลของรัฐทุกโรงพยาบาล รวมถึงโรงพยาบาลชุมชนด้วย โดยนับตั้งแต่ปี 2548-2565 ที่ผ่านมา มีผู้สูงอายุได้รับการใส่ฟันทั้งปากได้ประมาณ 7.2 แสนคน

ในส่วนของ “รากฟันเทียม” นั้น มีจุดเริ่มต้นจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหัวรัชกาลที่ 9 ในปี 2546 เช่นกัน โดยในตอนนั้นทันตแพทย์ได้ถวายการรักษาพระทนต์แก่พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยการใส่รากฟันเทียม

“พระองค์ทรงพอพระทัยกับรากฟันเทียมนี้มากและรับสั่งว่าฟันเทียมนี้ดีจริงๆ ดีกว่าฟันจริงของเราเสียอีก รวมทั้งมีพระราชปรารภต่อไปว่า ถ้าหากแม่ยังอยู่ (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) ก็อยากใส่ถวายแก่ท่าน เพราะระยะหลังๆท่านเสวยอะไรไม่ค่อยได้เพราะเจ็บฟันอยู่เสมอ” ศ.พิเศษ ทพญ.ท่านผู้หญิงเพ็ชรา ว่า

“อีกทั้งรับสั่งต่อไปว่า ถ้าหากครั้งนั้นเราใส่ถวายให้แก่ท่าน ท่านอาจมีพระชนมายุยืนยาวกว่าที่เป็นอยู่ก็ได้”

เนื่องจากขณะนั้นรากฟันเทียมยังมีราคาค่อนข้างสูง เพื่อเป็นการสนองพระราชดำริของพระองค์ท่าน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้ทำการศึกษาวิจัยและผลิตรากฟันเทียมขึ้นมา

จัดทำเป็นโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติฯในปี 2550 โดยนำรากฟันเทียมที่ผลิตเองมาใช้ในโครงการนี้ ซึ่งในครั้งนั้นมีผู้สูงอายุได้รับการฝังรากฟันเทียม 2 ราก จำนวน 18,400 ราย

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 เสด็จขึ้นครองราชย์ และมีพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะสืบสานรักษาและต่อยอดและครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” เพื่อเป็นการสนองพระราชโองการ จึงได้เกิดโครงการนี้ขึ้นมาอีกครั้ง

โดยเริ่มที่ผู้มี “สิทธิบัตรทอง” ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ และรากฟันเทียมนี้ก็เป็นรากฟันเทียมที่มูลนิธิทันตนวัตกรรมพัฒนาคุณภาพต่อยอดจากของเดิมให้ยึดติดกับกระดูกได้ดีขึ้น ใช้งานได้สะดวกขึ้น

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี

...

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขา สปสช. เสริมว่า โครงการนี้จะดำเนินการไปอีก 2 ปี ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยเคลียร์ความต้องการรากฟันเทียมในกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่สามารถใส่ฟันเทียมแบบถอดได้ให้ลดลง และหลังจากจบโครงการแล้ว ความต้องการรากฟันเทียมและกำลังทันตแพทย์ที่สามารถให้บริการได้ก็จะเข้าสู่ภาวะสมดุล

ย้ำว่า...ปัญหาสุขภาพผู้สูงอายุส่วนหนึ่งคือการสูญเสียฟัน ไม่มีฟันในการบดเคี้ยวอาหาร ทำให้ขาดสารอาหาร ซึ่งในอดีตได้มีการจัดทำมีโครงการพระราชดำริที่จัดหาฟันเทียมทั้งปากแบบถอดได้แก่ผู้สูงอายุ เพื่อช่วยให้มีฟันไว้ใช้ในการบดเคี้ยว โดยดำเนินการอย่างต่อเนื่องหลายปี ตั้งเป้าปีละประมาณ 5-6 หมื่นราย

อย่างไรก็ดี เมื่อถึงจุดหนึ่งพบว่ามีผู้สูงอายุที่ใช้ฟันปลอมแบบถอดได้ประมาณ 10% ที่ร่องเหงือกเริ่มหดร่น จนฟันปลอมหลวมและเคี้ยวอาหารไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีการนำนวัตกรรมรากฟันเทียมมาใช้ฝังในกระดูกกราม ซึ่งจะช่วยให้ยึดฟันเทียมได้แน่นมากขึ้น

“ก่อนหน้านี้นวัตกรรมดังกล่าวมีราคาแพงมาก จนกระทั่งสองปีก่อนประเทศไทยสามารถผลิตรากฟันเทียมได้ในราคาประมาณสามพันบาท จึงเกิดแนวคิดในการนำผลิตภัณฑ์นี้บรรจุเป็นสิทธิประโยชน์แก่ผู้สูงอายุที่ต้องการฟันปลอมทั้งปากที่ไม่สามารถใช้ฟันปลอมแบบถอดได้”

ขณะเดียวกันกระทรวงสาธารณสุขก็ได้จัดโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 เป็นการต่อยอดจากการให้บริการฟันปลอมทั้งปาก ซึ่งผู้ที่มีสิทธิได้รับรากฟันเทียมในโครงการนี้...เบื้องต้นจะเป็นกลุ่มผู้มีสิทธิบัตรทอง

อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่า สปสช. ไม่ได้ให้ความสำคัญแก่กลุ่มอื่นๆที่อาจต้องการฝังรากฟันเทียมแค่ 1 ซี่ ซึ่งในอนาคตจะมีการขยายบริการให้มากขึ้น เพียงแต่ปัจจุบันขอเริ่มที่กลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่มีฟันทั้งปากและเหงือกร่นจนกระทั่งไม่สามารถใส่ฟันปลอมชนิดถอดได้ก่อน

...

“ผู้สูงอายุที่มีปัญหาในการบดเคี้ยว สามารถติดต่อไปยังหน่วยบริการที่มีทันตแพทย์ใกล้บ้านเพื่อขอรับคำปรึกษา หากทันตแพทย์วินิจฉัยแล้วเห็นว่ามีความจำเป็นต้องฝังรากฟันเทียมก็จะดำเนินการฝังรากฟันให้ หรือถ้าหน่วยบริการนั้นทำไม่ได้ก็จะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่สามารถทำได้”

โดย สปสช.จะสนับสนุนในการจัดซื้อรากฟันเทียมนี้ให้ รวมทั้งสนับสนุนค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เกี่ยวข้องให้เพียงพอกับความต้องการของโรงพยาบาล

โดยหลักการแล้ว ประชาชนผู้มีสิทธิสามารถไปรับบริการที่หน่วยบริการไหนก็ได้ในระบบบัตรทอง เพียงแต่เมื่อฝังรากฟันเทียมแล้วจะต้องมีการติดตามอาการต่อเนื่องไปอย่างต่ำ 5 ปี...ปีละ 4 ครั้ง ดังนั้น จึงแนะนำให้ไปรับบริการที่โรงพยาบาลใกล้บ้านจะดีที่สุด

ในระยะเวลา 2 ปี จะมีการรณรงค์กระตุ้นการรับรู้ของประชาชนกลุ่มเป้าหมายให้เข้าสู่ระบบบริการมากขึ้น คาดว่าในระยะ 2 ปีนี้จะมีผู้ที่มารับบริการจำนวนมาก เป็นการเคลียร์กลุ่มที่มีความต้องการรากฟันเทียมอย่างสูงให้ได้รับบริการ และเมื่อเคลียร์ผู้มีความต้องการสูงได้แล้ว จะทำให้คิวรอคอยลดน้อยลง

...

ทพญ.กิ่งเกศ อักษรวงศ์
ทพญ.กิ่งเกศ อักษรวงศ์

กรณีตัวอย่างที่โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช ทพญ.กิ่งเกศ อักษรวงศ์ หัวหน้าหน่วยศัลยกรรมช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล บอกว่า รากฟันเทียมจากบัญชีนวัตกรรมไทยที่ได้นำมาใช้ในครั้งนี้ ต้องบอกว่าค่อนข้างมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ

จากการสอบถามผู้ที่รับการฝังรากฟันเทียมก็ค่อนข้างมีความพอใจ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมีการพัฒนามาโดยตลอดจากโครงการครั้งก่อนๆด้วย ซึ่งจะทำให้เราสามารถให้บริการได้ด้วยความมั่นใจยิ่งขึ้น

อาหารมีความสำคัญทำให้คนเรามีสุขภาพดีและสารอาหาร

ที่ครบบริบูรณ์จะต้องเข้าสู่ร่างกายผ่านการบดเคี้ยว ผู้สูงอายุที่สูญเสีย

ฟันหากได้รับการใส่ฟันเทียมจะทำให้ชีวิตมีความสุขอย่างยิ่ง.