มิติใหม่ของอาชีพ “เลี้ยงมด” กำลังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายสำหรับคนชื่นชอบสัตว์จำพวกแมลงตัวจิ๋วกลายเป็นการต่อยอด “ทำธุรกิจผลิตรังมดจำลอง” เพื่อขายสร้างรายได้หลายหมื่นบาทต่อเดือน
กระทั่งเกิดเป็นปรากฏการณ์ “คอมมูนิตี้ของคนเลี้ยงมดบนโลกโซเซียลฯ” เป็นไวรัลแรงไม่ตกในกลุ่มเด็กเยาวชนต่างหันมานิยมเลี้ยงมากขึ้นเรื่อยๆเพื่อความเพลิดเพลินในการเฝ้าดูวงจรชีวิตฝูงมดสร้างแอนท์ณาจักร เช่นเดียวกับ สุทธิพงษ์ บุญโปร่ง อายุ 55 ปี อดีตพนักงานบริษัทเอกชนหันมาสนใจเลี้ยงมด 2 ปี จนได้ไอเดียทำรังมดจำลองขายผ่านเฟซบุ๊กเพจ Circuminsect เพื่อเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำนี้
“สุทธิพงษ์” บอกว่า เดิมทำงานในบริษัทเอกชนตำแหน่งผู้จัดการอาวุโส ทำหน้าที่ดูแลงานออกแบบตกแต่งภายในโทรศัพท์มือถือแล้วในปี 2011 ได้ตัดสินใจลาออกมาทำธุรกิจส่วนตัวเกี่ยวกับ “อพาร์ตเมนต์และร้านคาเฟ่” ภายในซอยงามวงศ์วาน 52 เขตจตุจักร กทม. ทำให้เป็นช่วงค่อนข้างมีเวลาว่างมากพอสมควร
...
แล้วในจังหวะนั้นพอดี “ลูกชาย” กำลังหลงใหลกับวิถีการเลี้ยง “มดตะลานป่าหัวแดง” ที่มีชื่อเสียงเป็นมดยอดนิยม “ด้านความตัวใหญ่” สีสันสวยไม่มีพิษ สร้างรังในดินแต่มักหากินบนพื้นดินหรือตามพุ่มไม้ ส่วนใหญ่พบในป่าธรรมชาติลักษณะอากาศเย็นอันเป็นมดประจำถิ่นพบในพื้นที่เหนือ
ตลอดทั้งวันมักจะขะมักเขม้นจดจ่ออยู่กับ “การเลี้ยงมด” แล้วเริ่มซื้อรังเลี้ยง บ้านมด อาหาร หลอดทดลอง และอุปกรณ์อื่นมากขึ้น ทำให้สงสัยความพิเศษของการเลี้ยงอยู่ตรงไหนทำไมคนถึงเลี้ยงมดกัน...?
ก่อนเริ่มทำศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมบนโลกออนไลน์ พบว่า ผู้คนไม่น้อยที่ชื่นชอบการเลี้ยงสัตว์พวกแมลงต่างพากันเลี้ยงมดอย่างแพร่หลาย “บางคนทำเป็นธุรกิจก็มี” ฉะนั้น เมื่อเห็นลูกชายชื่นชอบกับการเลี้ยงมดก็เลยหันมาทดลองเลี้ยงด้วย เพราะอย่างน้อยก็ถือว่าเป็นกิจกรรมทำร่วมกันในครอบครัว
เพราะตั้งแต่เล็กจนเติบโต “ลูกชายชื่นชอบอยากทำอะไรในสิ่งสร้างสรรค์ หรือไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร” เราในฐานะผู้เป็นพ่อก็พร้อมยินดีให้การสนับสนุนส่งเสริมอย่างเต็มที่อยู่แล้ว
ทว่า ในส่วน “ขั้นตอนการเลี้ยงมด” ถ้าเป็นมือใหม่มักเลี้ยงกันง่ายๆ “ในหลอดทดลอง” เมื่อมีความเชี่ยวชาญในการเลี้ยงแล้วค่อยเพิ่มออปชันเป็น “รังมดแบบอะคริลิกใส” มีขนาดใหญ่ดูคล้ายอาณาจักรมดใต้ดินที่มีขนาดใหญ่ค่อนข้างราคาแพง เพราะจำเป็นจะต้องทำจากวัสดุใส เพื่อชมโชว์เรียลลิตี้น้องมดได้อย่างชัดเจน
พอเลี้ยงไปเริ่มเห็นสิ่งน่าสนใจอย่างแรกคือ “มดเป็นสัตว์สังคมคล้ายคน” ภายในรังจะมี “ราชินีหรือนางพญา” ทำหน้าที่ออกไข่ชุดแรกคือ “มดงาน” เป็นตัวเมียไม่มีปีกเป็นหมันทำหน้าที่หาอาหารและดูแลนางพญา
นอกจากนี้ ยังมี “มดทหาร” เป็นมดขนาดตัวใหญ่ทำหน้าที่หลักดูแลความปลอดภัยหรือเป็นบอดี้การ์ดให้มดนางพญา และดูแลรัง ดังนั้น เมื่อภายในรังนั้นมีมดงาน และมดทหารจำนวนเยอะมากแล้ว “มดนางพญา” มักจะให้กำเนิดมดสืบพันธุ์มีทั้งเพศผู้ และนางพญาวัยอ่อนมาสืบทอดสายพันธุ์ต่อไป
หนำซ้ำยังทำให้ได้เห็น “กลไกชีวิตของมดอย่างแท้จริง” แต่ละตัวมีหน้าที่นิสัยแตกต่างกัน เช่น บางตัวคอยทำความสะอาดนำขยะทิ้งนอกรัง บางตัวออกหาอาหารเข้ามาเก็บไว้ในรัง บางตัวเลี้ยงดูตัวอ่อนเฝ้าไข่ทั้งวัน และบางตัวทำหน้าที่ป้องกันศัตรูที่เข้ามาในรัง หรือคอยดูแลมดงานออกหาอาหารไม่ให้เกิดอันตราย
...
สิ่งนี้คือ “ความมหัศจรรย์ของมดที่เกิดขึ้น” กลายเป็นความชื่นชอบจนหันมาเลี้ยงอย่างจริงจังนำไปสู่ “การออกล่าจับมดนางพญา” เพราะต้องเข้าใจว่าการจะเลี้ยงมดให้สร้างอาณาจักรได้นั้น “จำเป็นต้องมีมดนางพญาที่ผสมพันธุ์แล้ว” ส่วนใหญ่มักนิยมออกล่ากันในช่วงฝนแรกปลายเดือน เม.ย.ของทุกปี
สาเหตุเป็นช่วง “มดนางพญาตัวอ่อน” จะบินออกมาจากรังเดิมในการจับคู่กับ “ตัวผู้ผสมพันธุ์” ส่วนสถานที่ที่นิยมไปจับคือ “บริเวณร้านสะดวกซื้อ หรือปั๊มน้ำมัน” เพราะมดมักเกาะตามกระจกร้าน กำแพงสีขาว หรือตามป้ายต่างๆ แล้วข้อสังเกตคือ “มดนางพญา” จะมีรูปร่างขนาดใหญ่แตกต่างกันของแต่ละชนิด
เมื่อเจอต้องต้อนใส่หลอดพลาสติกแบบมีฝาปิด และหลีกเลี่ยงการสัมผัสตัวมดโดยตรงที่อาจทำให้บาดเจ็บ แล้วควรจับมาหลายๆตัว “เพราะบางตัวอาจยังไม่ผสมพันธุ์” ทำให้ต้องลุ้นกันต่อว่ามดจะวางไข่หรือไม่
คราวนั้นจำได้ว่า “จับมดนางพญาสายพันธุ์ตะลายอกส้มได้นับร้อยตัว” แล้วนำไปพูดคุยในกลุ่มคนที่ชื่นชอบการเลี้ยงมดผ่านเฟซบุ๊ก “ก่อนมีคนขอซื้อตัวละ 100–200 บาท” ทำให้เห็นว่ามดธรรมดาสามารถขายสร้างรายได้ นับจากนั้นก็เริ่มออกตระเวนหา “จับมดนางพญา” เพื่อนำมาขายสร้างรายได้เล็กๆน้อยๆ
...
อีกทั้งพยายามศึกษาหาความรู้ “วงจรชีวิตการเลี้ยงมด” ทำให้รู้ว่ามือใหม่มักเลี้ยงกัน “ในหลอดทดลอง” เมื่อมดงานฟักตัวขยายแอนท์ณาจักรแตกแขนงออกไปมากขึ้น “คนเลี้ยง” มักต้องหาซื้อรังมดสำเร็จรูป
ตรงนี้ทำให้ผุดไอเดียเห็นช่องทางสร้างรายได้อีก “ด้วยความที่เรียนจบศิลปะ และทำงานออกแบบ” จึงนำทักษะที่ตัวเองถนัดมาประยุกต์พัฒนาออกแบบดีไซน์รังมดจำลองตอบโจทย์ “กลุ่มผู้เลี้ยง” แล้วนำออกจำหน่วยครั้งแรกปรากฏว่ามีลูกค้าสนใจสั่งซื้อกันมาเป็นจำนวนมากจนแทบทำกันไม่ทันด้วยซ้ำ
กลายเป็นการต่อยอด “ธุรกิจทำรังมดจำลองขายจริงจัง” ปัจจุบันนี้ทำรังจำลองหลายรูปแบบหลายวัสดุตั้งแต่ “ราคาหลักร้อยบาท” ที่ทำจากวัสดุกล่องพลาสติกแล้วใช้ปูนเทสร้างเป็นฐาน และนำหลอดทดลองมาวางให้มดเข้าไปอาศัยอยู่ ถัดมาคือ “ราคา 4–5 พันบาทขึ้นไป” จะออกแบบเมือง ป่า มีภูเขาเป็นถ้ำให้มดอยู่นั้น
เปรียบเทียบอารมณ์คล้ายๆ “ตัวเองเป็นมัณฑนากร” ทำหน้าที่ออกแบบตกแต่งสร้างบ้านให้มดตามความต้องการของลูกค้า แต่การเป็นมัณฑนากรสร้างรังมดก็ใช่ว่าทุกคนทำกันได้ เพราะผู้ออกแบบต้องเข้าใจวงจรชีวิต และพฤติกรรมมดแต่ละชนิด เพื่อให้สามารถออกแบบขนาดรังหรือสภาพความชื้นภายในให้เหมาะสมกับมดชนิดนั้น
สำหรับ “ห้องมด” ควรดูขนาดของมดนางพญาไม่สร้างรังเล็กเกินไปหรือใหญ่มากเกินไป เช่นเดียวกับห้องอื่นควรเป็นไปตามความเหมะสมเพื่อให้มดได้เกาะหรือเขยื้อนตัวได้สบาย แล้วรังต้องมีระบบทำความชื้นตรงตามชนิดของมด เพราะบางชนิดชอบความชื้นมาก และบางชนิดก็ชอบความชื้นน้อย
อย่างเช่น “มดไม่ชอบความชื้น” ก็ใช้ปูนหล่อแตกแต่งด้วยต้นไม้หญ้าเทียม “มดชอบความชื้นมาก” ก็ใช้อิฐมวลเบาเก็บความชื้นในห้องได้ดี สิ่งนี้ถูกนำมาผสมการออกแบบ “ไร้สไตล์” ทำให้รังมดโดดเด่นเป็นที่สนใจกับ “ลูกค้า” โดยเฉพาะนักเลี้ยงมดต่างชาติชอบสั่งรังมดจำลองเมืองแบบไดโอรามา (diorama) หรือแบบจำลองสามมิติ
...
ลักษณะสร้างฉากจำลองเหตุการณ์น่าตื่นเต้นในพื้นที่เล็กๆ เช่น ห้วงเวลาในประวัติศาสตร์ ฉากธรรมชาติ หรือสถานการณ์จากเรื่องแต่งโดยใส่ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมต่างๆเข้าไปอยู่ในรังมด ส่วนขั้นตอนการสร้างต้องเริ่มจากหล่อปูนตามแบบให้แห้งนำมาแกะสลักแยกห้องความชื้น อุโมงค์ถ้ำ ภูเขา และเพนต์สี
ตกแต่งด้วยหญ้า ต้นบอนไซนานาชนิด และเจาะรูระบายอากาศ หรือช่องฉีดน้ำเพิ่มความชื้น
สิ่งเหล่านี้ “ล้วนเป็นงานฝีมือใช้เวลาทำ” เพื่อรังสรรค์รังมดให้สวยงามสามารถตั้งโชว์ได้ โดยเน้นขายผ่านเพจ Circuminsect แต่ช่วงหลังลูกค้าติดต่อซื้อกันมากทำให้เปิดหน้าร้านคู่กับร้านคาเฟ่ในซอยงามวงศ์วาน 52
“ตอนนี้มีรายได้กับการขายรังมดและอุปกรณ์เลี้ยงมดต่างๆเฉลี่ยอย่างต่ำวันละ 1,000-5,000 พันบาท อนาคตกำลังมีแผนพัฒนาออกแบบผลิตรังมดสำเร็จรูปแบรนด์ตัวเองด้วย เพื่อรองรับกลุ่มเลี้ยงมดในประเทศที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ มีตั้งแต่เด็กนักเรียนไปจนถึงคนวัยทำงานหลากหลายอาชีพ” สุทธิพงษ์ว่า
นี่คือโลกของคนชอบเลี้ยงสัตว์แปลก “พลิกแพลงจนเกิดเป็นอาชีพสร้างรายได้” ในการเลี้ยงมดที่สามารถเห็นวงจรชีวิต “การทำงานของมดอย่างเป็นระบบ” อันเหมาะกับเด็กๆ นอกจากได้ความเพลิดเพลินแล้วยังมีประโยชน์ต่อการเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตด้านชีววิทยาอีกด้วย.