ประเทศไทยเตรียมรับศึกหนัก “วิกฤติภัยแล้งรุนแรงยาวนาน” นับแต่ปรากฏการณ์ลานีญาอ่อนกำลังลงเข้าสู่เส้นศูนย์สูตรแล้วจะพลิกกลับมาเป็นปรากฏการณ์เอลนีโญอย่างเต็มตัวปลายปี 2566–2570 ปริมาณฝนจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติ 20% กระทบต่อพื้นที่นอกเขตชลประทานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ปัจจัยเกิดจากความผิดปกติผันผวนแปรปรวนอากาศเป็นสัญญาณส่อเค้าภัยแล้งรุนแรงที่ต้องวางมาตรการรับมือนี้ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต บอกว่า

ช่วงที่ผ่านมานี้ “ประเทศไทยเจอกับลานีญาติดต่อกัน 3 ปี” ทำให้ฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติต่อเนื่องมาจนถึงเดือน ก.พ. 2566 “สภาพอากาศเข้าสู่เส้นศูนย์สูตรเป็นค่าปกติ” ปริมาณฝนกลับมามีค่าเฉลี่ยปกติ หรือฝนตก น้อยกว่าปีที่แล้ว “แต่ก็ยังไม่เจอภัยแล้งที่น่ากังวลนัก” เพราะด้วยเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านลานีญาเข้าสู่เป็นเอลนีโญ

ทำให้มีฝนตกอยู่บ้างแล้วน้ำต้นทุนภาพรวมก็อยู่ในเกณฑ์ดีเพียงพอใช้อุปโภคบริโภคได้ตลอดปี

...

ปัญหาว่า “เกษตรกรเมื่อเห็นฝนมักต้องปลูก” เรื่องนี้มีความสำคัญเพราะเดือน มิ.ย.-ก.ค. “ฝนจะทิ้งช่วง” ทั้งยังเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ “เอลนีโญ” ที่เริ่มยกกำลังไต่ระดับความรุนแรงอันจะสูงสุดในเดือน ธ.ค.2566

ทำให้ปริมาณฝนจะลดลงแม้เป็นช่วงฤดูฝนก็ตาม “น้ำฝนน่าจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติราว 20%” ทำให้ปีหน้าจะเป็นปีแห่งการเริ่มต้นวิกฤติภัยแล้งหนักแน่นอน แล้วไม่เท่านั้นในการคาดการณ์ระยะยาว “เอลนีโญ” น่าจะอยู่ระดับสูงสุดต่อเนื่องไปอีก 5-6 ปีข้างหน้า ทำให้เกิดสภาวะขาดแคลนน้ำสะสมตั้งแต่ปี 2567-2671

โดยเฉพาะปี 2569 จะเป็นปีแห่งการเผชิญภัยแล้งหนักที่สุด “กระทบกลุ่มเปราะบางสาหัสจนต้องล้มกันเป็นจำนวนมาก” ดังนั้น ภาครัฐต้องบริหารการใช้น้ำแต่ตอนนี้ได้เลย

สังเกตดัชนีชี้วัดความเสี่ยงที่จะเกิดภัยแล้งหนัก “น้ำต้นทุนในเขื่อนขนาดใหญ่” แม้ปีนี้จะมีปริมาณน้ำค่อนข้างดีมาจากปี 2565 แต่เขื่อนบางแห่งมีน้ำใช้การได้จริงต่ำกว่า 30% ของความจุ อย่างวันที่ 17 เม.ย.2566 เขื่อนสิริกิติ์มีน้ำใช้การได้จริง 1,907 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 29% ของความจุอ่าง เขื่อนภูมิพลมีน้ำ 4,930 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 51%

ถัดมาคือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีน้ำ 293 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 31% เขื่อนแควน้อยมีน้ำ 306 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 34% “สะท้อนให้เห็นว่าพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจะเจอภัยแล้งหนัก” ทั้งตามการคาดการณ์ฝนในเดือน พ.ค.-ต.ค. มีแนวโน้มน่าจะไม่ดีอีกเพราะเป็นจังหวะช่วงเอลนีโญเริ่มไต่ระดับจะเห็นได้ชัดในเดือน เม.ย.-พ.ค.2566

นั่นก็แปลว่า “ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับสภาวะเอลนีโญตั้งแต่กลางปีนี้แล้ว” เหตุปัจจัยนี้ย่อมทำให้ “ช่วงต้นฤดูฝนจะมีน้ำดีแต่พอเข้ากลางฤดูฝนสถานการณ์น้ำจะลดลง” อันเป็นเสมือนการส่งสัญญาณสำคัญว่า “ปีหน้าน้ำต้นทุนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจะย่ำแย่” เพราะเป็นพื้นที่ที่มีการทำนาปรังกันมากสุดของประเทศ

ต่อมาคือ “ภาคอีสาน” เขื่อนอุบลรัตน์มีน้ำ 314 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 17% เขื่อนลำปาวมีน้ำ 806 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 43% เขื่อนลำตะคองมีน้ำ 198 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 68% แต่ประเด็นว่าแม้มีปริมาณน้ำมากเพียงใดก็ไม่อาจพอต่อการใช้ เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ปลูกข้าวนาน้ำฝน 90% ส่วนพื้นที่ทำการเกษตรในเขตชลประทานมีเพียง 10%

“ฉะนั้น ปีนี้ถ้าฝนไม่ดีน้ำต้นทุนก็ต้องมีน้อยหากใช้ไม่ประหยัด หรือใช้หมดหน้าตักย่อมเจอภัยแล้งกระทบยาวถึงปี 2570 เกิดเป็นเอลนีโญ 3 ยอด คือ ยอดแรกปลายปีนี้เริ่มต้นภัยแล้ง ยอดสองปี 2567-2568 ฝนไม่ดีต้นทุนน้ำถูกใช้จนเก็บไม่ได้สถานการณ์ยิ่งหนักขึ้นและยอดสามปลายปี 2569-2570 ภัยแล้งจะเลวร้ายสูงสุด” รศ.ดร.เสรีว่า

...

นับจากนั้นในปี 2571 “สภาวะเอลนีโญ” จะอ่อนกำลังมาอยู่เส้นศูนย์สูตรเป็นค่าปกติ “ฝนปีนั้นจะอยู่ในค่าปกติ” แล้วถัดมาปี 2572 ก็จะพลิกกลับมาเข้าสู่ “ลานีญา” ตรงนี้ต้องประเมินสถานการณ์ล่วงหน้า 4-5 ปีได้เลย

แต่กลับกลายเป็นว่า “แม้กรมชลประทานออกมาขอความร่วมมือเกษตรกรไม่ให้ปลูกข้าวนาปรังรอบ 2” ปรากฏว่าตอนนี้ตั้งแต่ จ.พระนครศรีอยุธยา จนถึง จ.กำแพงเพชร มีการปลูกข้าวรอบ 2 กันเต็มที่แล้ว เพราะเกษตรกรทราบดีว่า “ช่วงแล้งมักต้องปล่อยน้ำ” เพื่อมาเลี้ยงข้าวนาปรังรอบแรกจนกว่าจะเก็บเกี่ยวในเดือน พ.ค.นี้

เมื่อเกษตรกรปลูกข้าวรอบ 2 “จะสามารถเก็บเกี่ยวได้อีกครั้งในเดือน ส.ค.2566” แต่อย่าลืมว่าในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. ฝนจะทิ้งช่วงแถมกำลังเข้าสู่ “เอลนีโญ” อีกทั้งยังเป็นช่วงสิ้นสุดการปล่อยน้ำลงมาหล่อเลี้ยงข้าวนาปรังรอบแรกด้วย เหตุนี้เกษตรกรปลูกข้าวนาปรังรอบ 2 ก็ย่อมมีโอกาสเสี่ยงที่จะได้รับความเสียหาย

ประการถัดมา “ประเทศไทยมักวางแผนใช้น้ำปีต่อปี” ด้วยการใช้แบบหมดหน้าตักรอความหวังฝนใหม่ เช่น ปีนี้เขื่อนบางแห่งปล่อยน้ำต่ำกว่า 30% ของความจุอ่าง เพื่อหวังน้ำฝนลงมาช่วยเติม “อันเป็นการบริหารน้ำแบบไม่มีอนาคต” ดังนั้น การบริหารน้ำใช้ปีต่อปีอาจต้องคิดใหม่ เพราะ Climate Change ไม่อาจทำอย่างนั้นได้แล้ว

ตอกย้ำให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นตามหลักในอดีต “สภาวะลานีญา” มักเกิดขึ้นทุก 2-3 ปี ปกติจะอยู่ 9-12 เดือน แต่ในช่วงหลายปีมานี้ “สภาพอากาศแปรปรวนจากโลกร้อน” ทำให้ในปี 2563-2565 เกิดลานีญายาวนาน 3 ปี เช่นเดียวกับ “สภาวะเอลนีโญ” มักเกิดขึ้นเฉลี่ยทุก 5-7 ปี แล้วปกติมักมีอิทธิพลรุนแรงเพียง 1 ปีเท่านั้น

...

ก่อนจะอ่อนกำลังลงมาอย่างในปี 2558 ประเทศไทยเจอภัยแล้งรุนแรงมากเมื่อเข้าปี 2559 “เอลนีโญก็อ่อนกำลังลง” แต่คราวนี้สภาพอากาศมีความผิดปกติทำให้ “เอลนีโญเกิดยาวนานต่อเนื่อง 5–6 ปี” อันเป็นปรากฏการณ์ไม่เคยเกิดขึ้นในอดีตจนเป็นประเด็นให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศพยายามหาคำตอบสิ่งที่เกิดขึ้นนี้

ปัจจัยสำคัญคือ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ตามที่ทำงานกับคณะทำงานระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ทำการประเมินความรุนแรงของอุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นเฉลี่ย 1.5 องศาฯ ภายใน 5 ปีข้างหน้า “อันเป็นรหัสแดงจะเกิดขึ้นทั่วโลก” รวมถึงประเทศไทยต้องเจอภัยคุกคามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นับเป็นคำเตือนครั้งล่าสุดก่อนการประชุม COP28 ทำลายข้อตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ในการประชุม COP 21 ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส กำหนดมาตรการรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 2 องศาฯ ในปี 2643 และพยายามรักษาไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาฯ

ด้วยการกำหนดแผนดำเนินการในปี 2573 ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 50% ในปี 2593 การปลดปล่อยต้องเป็นศูนย์ (Net Zero) แต่ปัจจุบันกลับมีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมเพิ่มขึ้น

...

อันมีผลทำให้โลกร้อนส่งผลกระทบให้ “สภาวะเอลนีโญ”ที่กำลังเกิดขึ้นมีแนวโน้มรุนแรงตั้งแต่ปี 2567 อาจจะต่อเนื่องไปจนถึงปี 2572 ฉะนั้น เกษตรกรควรประเมินความเสี่ยงเรื่องน้ำเพื่อการเกษตร เช่น ลดพื้นที่การปลูกข้าวนาปรังให้เหลือครึ่งหนึ่งแล้วหันไปเพาะปลูกพืชอายุสั้นใช้น้ำน้อย

ส่วน “ภาครัฐ” ต้องวางแนวทางนโยบายส่งเสริมการเพาะปลูกพืชอายุสั้น ถ้าหากเกษตรกรไม่ยอมก็ต้องคุยให้เข้าใจกับสถานการณ์ เพื่อลดความเสี่ยงต่อเกษตรกรนั้นแล้วในอนาคต “ต้องสนับสนุนให้มีนวัตกรรม” ลดการ ปลูกให้สอดคล้องกับสภาพแล้ง ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยส่งเสริมแบบสมาร์ทฟาร์ม หรือเกษตรอัจฉริยะ

ในการทำเกษตรแบบใหม่ที่ทำให้การทำไร่ทำนามีภูมิคุ้มกันต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป

อย่ามุ่งแต่ใช้เงินชดเชยเยียวยา จำนำ หรือการประกัน เพราะมักไปต่อไม่ได้ ดังนั้น การเตรียมพร้อมรับภัยแล้งจึงเป็นเรื่องจำเป็นไม่เช่นนั้น “อาจสายเกินแก้” เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤติภัยแล้งครั้งนี้ไปจนถึงปี 2572 “อันจะเข้าสู่สภาวะลานีญา” ที่อาจจะต้องเจอน้ำท่วมใหญ่รุนแรง เนื่องจากอุณหภูมิเฉลี่ยโลกสูงขึ้นจนระดับน้ำทะเลสูงตาม

นี่คือแนวโน้ม “สถานการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นอีก 5–6 ปีข้างหน้านี้” เพื่อให้ประชาชนเกษตรกร และหน่วยงานของรัฐ เตรียมพร้อมรับมือช่วงวิกฤติประเมินความเสี่ยงเรื่องน้ำใช้ในการเกษตรอย่างรอบคอบและบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่ตอนนี้เพื่อทุกคนจะได้อยู่รอดไปด้วยกัน.