ร.ต.ต.ดับคาชุดจราจร คาด “ฮีตสโตรก” หลังโบกรถตอนเช้า

ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม เสียชีวิตหลังหมดสติจากภาวะ “ฮีตสโตรก”

“ฮีตสโตรก” คร่าชาวอินเดีย 11 ชีวิต ขณะร่วมงานกลางแจ้ง

ข่าวความสูญเสียชีวิตจาก โรคลมแดด หรือ โรคฮีทตสโตรก Heat Stroke จากบุคคลที่มีชื่อเสียง จุดประกายความสนใจของผู้คนที่มีความเสี่ยงกับการเป็นโรคฮีตสโตรก รวมถึงอาชีพที่ต้องทำงานกลางแดดอย่างตำรวจจราจร แรงงานก่อสร้าง ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ หรือไรเดอร์ที่ส่งของและอาหาร ท่ามกลางอากาศร้อนจัด และภาวะโลกร้อน ที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี

สำหรับปี 2566 กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าสภาพอากาศในประเทศไทยจะร้อนจัดยาวตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย.ถึงเดือน พ.ค.2566 และบางพื้นที่อุณหภูมิสูงสุด อยู่ที่ 40-43 องศาเซลเซียส ขณะที่ดัชนีความร้อน ซึ่งหมายถึงอุณหภูมิที่คนเรารู้สึกได้ในขณะนั้น บางวันบางพื้นที่สูงถึง 54 องศาเซลเซียส มีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะโรคฮีตสโตรกนั่นเอง

...

แน่นอนนั่นย่อมหมายถึงความเสี่ยงต่อการเป็นโรคลมแดด หรือฮีตสโตรกที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

โดย นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย อธิบายว่า โรคฮีตสโตรกมีสาเหตุเกิดจากการที่ร่างกายอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่อุณหภูมิสูง และได้รับความร้อนมากเกินไป ทำให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติของสมองในส่วนการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ทำให้มีอุณหภูมิในร่างกายสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส ส่งผลต่อระบบไหลเวียนโลหิตและระบบสมอง ผู้ที่มีความเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่ออกกำลังกายหรือทำงานใช้แรงงานอย่างหนักท่ามกลางอากาศร้อนเป็นเวลานาน เช่น คนงานก่อสร้าง ทหารเกณฑ์ เกษตรกร นักวิ่งมาราธอน ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ ดื่มน้ำในปริมาณน้อย ติดสุราทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่สูง กลุ่มสูงอายุ กลุ่มเด็กเล็กที่มีความสามารถในการระบายความร้อนจากร่างกายได้น้อยกว่ากลุ่มวัยรุ่นที่มีร่างกายแข็งแรงปกติ คนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง รวมถึงผู้ที่ต้องใช้ยารักษาโรคบางชนิดเป็นยาที่กระตุ้นการขับปัสสาวะ ที่ขัดขวางกลไกการกำจัดความร้อนออกจากร่างกาย

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย

สำหรับกลุ่มเสี่ยงควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งต่อเนื่องเป็นเวลานาน ควรเลือกทำกิจกรรมในอาคารที่มีอากาศเย็นหรือที่ร่ม แต่หากมีความจำเป็นต้องอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน ควรป้องกันตนเองด้วยการใช้อุปกรณ์กันแดด ได้แก่ ร่ม หมวกปีกกว้าง แว่นกันแดด ครีมกันแดด ตั้งแต่ SPF 15 ขึ้นไป ควรจิบน้ำบ่อยๆ โดยไม่ต้องรอให้กระหายน้ำ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด

“โรคฮีตสโตรก มี 4 อาการสำคัญที่เราควรหมั่นสังเกตอาการตนเองและคนรอบข้าง ได้แก่ 1. เหงื่อไม่ออก 2.สับสน มึนงง 3.ผิวหนังเป็นสีแดง และแห้ง 4.ตัวร้อนจัด หากพบผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าว ให้โทร.แจ้ง 1669 และทำการปฐม พยาบาลเบื้องต้น โดยให้พาผู้ป่วยหลบเข้าที่ร่ม หรือห้องที่มีความเย็น ให้นอนราบ ยกเท้าและสะโพกสูง ถอดเสื้อผ้าให้เหลือเท่าที่จำเป็น รีบใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัวหรือวางถุงน้ำแข็งที่คอ รักแร้ และขาหนีบ หากผู้ป่วยหมดสติให้จับนอนตะแคงเพื่อป้องกันโคนลิ้นอุดทางเดินหายใจ และนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว” นพ.สุวรรณชัย กล่าวถึงอาการของโรคฮีทสโตรกที่ไม่ควรมองข้าม

...

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความเสี่ยงของโรคฮีตสโตรกที่คุกคามสังคมไทยอยู่ในขณะนี้ ก็นับว่ามีความโชคดีของคนในยุคที่เทคโนโลยีมีวิวัฒนาการทางการแพทย์ เพื่อเข้ามามีส่วนช่วยในการประเมินเพื่อป้องกันการเกิดโรคฮีตสโตรก ซึ่งคิดค้นโดยคนไทยและได้รับรางวัลเหรียญทองระดับโลก สิ่งประดิษฐ์นานาชาติเจนีวา ปี 2021 เป็นผลงานชื่อว่า ระบบ AI เครื่องมือตรวจวัดสีปัสสาวะและสภาพอากาศอัตโนมัติเพื่อประมวลผลความเสี่ยงและเฝ้าระวังการเจ็บป่วยจากโรคลมร้อน (Automatic Urine Color and Weather Measurement Tool for Risk Assessment and Prevention of Heat Stroke) โดยมี ผศ.ดร.นริศ หนูหอม ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล เป็นหัวหน้าทีมวิจัย คณะวิจัย ได้แก่ รศ.ดร.มนตรี มาลีวงศ์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์, รศ.ดร.อนุชิต จิตพัฒนกุล คณะวิทยา ศาสตร์ประยุกต์ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, พ.อ.ศ.ดร.ราม รังสินธุ์, พ.อ.ศ.ดร.มฑิรุทธ มุ่งถิ่น, พ.อ.หญิง ผศ.ปนัดดา หัตถโชติ จากวิทยาลัยแพทยศาสตร์ พระมงกุฎเกล้า

...

ผศ.ดร.นริศ หนูหอม
ผศ.ดร.นริศ หนูหอม

ผศ.ดร.นริศ เล่าว่า ระบบ AI เครื่องมือตรวจวัดสีปัสสาวะและสภาพอากาศอัตโนมัติเพื่อเฝ้าระวังการเจ็บป่วยจากความร้อน โดยเก็บข้อมูลจากการฝึกทหารใหม่ จะทำงานเชื่อมโยงกัน 3 ระบบ คือ 1.เครื่องตรวจสีปัสสาวะ สียิ่งเข้มแสดงถึงภาวะขาดน้ำและมีความเสี่ยง 2.เครื่องตรวจวัดสภาพอากาศแบบเรียลไทม์ 3. ระบบ AI ประเมินความเสี่ยง โดยใช้ข้อมูลสีปัสสาวะ อุณหภูมิร่างกาย และน้ำหนัก มีค่าความเสี่ยง 5 ระดับ ซึ่งครูฝึกและผู้เกี่ยวข้องจะทราบความเสี่ยงและสามารถปรับแนวทางการฝึกให้เหมาะสมลดการสูญเสียกำลังพลได้

...

ขณะนี้ทีมวิจัยกำลังพัฒนาต่อยอดเครื่องมือเป็นรุ่นที่ 2 ได้รับทุนจาก ม.มหิดล โดยปรับปรุงให้ทั้ง 3 ระบบของรุ่นที่ 1 มาอยู่ในเครื่องเดียวกัน คล้ายเครื่องชั่งน้ำหนัก ทำงานแบบ One Stop Service คาดว่าจะแล้วเสร็จกลางปี 2567 กลุ่มคนที่ผมอยากให้ได้ใช้เครื่องมือนี้คือ กลุ่มทหารใหม่ คนงานก่อสร้าง นักกีฬากลางแจ้ง ตำรวจจราจร กลุ่มไรเดอร์ นักวิ่ง โดยอุปกรณ์นี้วัดระดับความร้อนสะสมในร่างกายได้ 5 ระดับ หากถึงระดับที่ 4 ครูฝึก นายจ้าง ควรให้หยุดงานเพื่อลดความสูญเสีย เพราะการป้องกันจะดีกว่าการรักษา เพราะต้องช่วยให้ทันภายใน 1-2 ชั่วโมง ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ หัวหน้าทีมวิจัยกล่าว

ทีมข่าวสาธารณสุข มองว่าการป้องกันตนเองเป็นสิ่งสำคัญ ขณะเดียวกันการใช้นวัตกรรมมาช่วยเสริม เพื่อประเมินความเสี่ยง ถือเป็นหนึ่งตัวช่วยสำคัญเพื่อป้องกันอีกขั้นหนึ่ง สำคัญที่สุดคือ การรู้เท่าทันโรคด้วยการสังเกตอาการและเรียนรู้วิธีช่วยเหลืออย่างถูกต้องและทันเหตุการณ์ น่าจะเป็นคำตอบที่ช่วยให้ลดความสูญเสีย.

ทีมข่าวสาธารณสุข