เทศกาลสงกรานต์ปีนี้เพิ่งผ่านพ้นไป “ทิ้งไว้แต่ร่องรอยความสูญเสีย” อันเกิดจากความรุนแรงของอุบัติเหตุบนท้องถนนจนแทบจะกลายเป็นเหมือนเรื่องเคยชินของคนในสังคมไทยไปแล้วด้วยซ้ำ

เมื่อวิเคราะห์ตัวเลขอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลกลับเห็นสิ่งที่น่าวิตกใจเพียงแค่ 7 วันสามารถคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 264 ราย และบาดเจ็บอีก 2,208 ราย สาเหตุมาจากการขับรถเร็ว ไม่สวมหมวกนิรภัย แล้วเวลากลางคืนเป็นช่วงเกิดเหตุมากที่สุด “บนถนนทางหลวง” โดยเฉพาะมอเตอร์ไซค์เป็น ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดเช่นเดิม

ส่วนผู้ฝ่าฝืนกฎจราจรมีทั้งสิน 499,282 ราย แยกเป็นเมาแล้วขับ 23,278 รายมากกว่าค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง 21% ขับรถเร็วเกินกำหนด 195,118 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย 94,745 ราย ไม่รัดเข็มขัดนิรภัย 24,967 ราย

ขณะที่ “กรมคุมประพฤติ” ก็มีรายงานคดีคุมความประพฤติยอดสะสม 7 วัน (วันที่ 11-17 เม.ย.2566) ทั้งสิ้น 8,869 คดี เป็นเมาแล้วขับ 8,575 คดี ขับรถประมาท 23 คดี ขับซิ่ง 1 คดี และขับเสพ 270 คดี จังหวัดมีคดีเมาแล้วขับสูงสุด คือ กรุงเทพฯ 522 คดี จ.ร้อยเอ็ด 473 คดี จ.เชียงใหม่ 458 คดี

...

เมื่อเปรียบเทียบคดีเมาแล้วขับสะสม 7 วัน เข้าสู่ระบบงานคุมประพฤติช่วงสงกรานต์ปี 2565 จำนวน 7,141 คดี กับปี 2566 จำนวน 8,575 คดี เท่ากับว่ามีคดีเพิ่มขึ้น 1,434 คดี หรือคิดเป็น 20.08%

ทำให้ชวนมาถอดบทเรียนอุบัติเหตุครั้งนี้โดย นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผจก.ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน บอกว่า สถิติการเกิดอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์ปีนี้ในภาพรวมยังถือว่าไม่ดีขึ้นด้วยซ้ำ แม้สถิติสะสม 7 วันอันตรายมีผู้เสียชีวิต 264 ราย ลดลงกว่าช่วงเวลาเดียวกันในช่วงสงกรานต์ปี 2565 จำนวน 14 ราย

ส่วนตัวเลขที่ยังลดลงได้ไม่ชัดนั้น “เพราะพฤติกรรมความเสี่ยงการก่อให้เกิดอุบัติเหตุ” ยังไม่ได้รับการแก้ไขถูกเปลี่ยนแปลงไปไม่ว่าจะเป็นจาก “รถมอเตอร์ไซค์หรือการขับด้วยความเร็ว” อันเป็นความเสี่ยงนัมเบอร์วันมาตลอด “เว้นแต่เมาแล้วขับฝ่าฝืนน้อยลง” เนื่องจากมาตราทางกฎหมายถูกบังคับใช้หลายมิติเข้มงวดขึ้น

ทว่า สาเหตุสำคัญคือ “ข้อจำกัดของโครงสร้างระบบขนส่งสาธารณะประเทศไทยยังไม่สามารถเชื่อมโยงครอบคลุมในทุกพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง” ทำให้การบริการรถโดยสารไม่สอดคล้องความต้องการของประชาชน ส่วนใหญ่มักมีวิ่งเฉพาะเส้นทางถนนสายหลัก แต่ถนนสายรองและสายย่อยกลับมี บริการน้อยมาก

หนำซ้ำ “บางจังหวัดแทบไม่มีรถโดยสารวิ่งในเขตเมืองเชื่อมต่อยังอำเภอ” เพื่อเข้าสู่ตำบลเชื่อมต่อหมู่บ้านต่างๆ สิ่งนี้เป็นรากเหง้าปัญหาให้ประชาชนหันไปใช้รถส่วนตัวไม่ว่าจะเป็นมอเตอร์ไซค์ รถปิกอัพ และรถเก๋ง เพื่อความสะดวกสบายในการเดินทางช่วงเทศกาล ทำให้เป็นต้นตอนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุที่มีแนวโน้มสูงขึ้น

หากเปรียบเทียบกับ “ต่างประเทศก็มีเทศกาลสำคัญวันหยุดยาว” ส่วนใหญ่ก็มีการเดินทางท่องเที่ยวเฉลิมฉลองเช่นเดียวกับ “ประเทศไทย” แต่แตกต่างกันตรงที่ว่า “หลายประเทศไม่มีการระดมเจ้าหน้าที่หลายพันคน” เพื่อมาป้องกัน หรือลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนในช่วงเทศกาลสำคัญนั้น

เพราะด้วยระบบโครงสร้างรถโดยสารสาธารณะมีความพร้อมครอบคลุมทุกพื้นที่จูงใจให้ประชาชนหันมาใช้บริการจนสามารถช่วยลดอุบัติเหตุให้น้อยลงได้อย่างเช่น “ประเทศจีน” ที่มีการเดินทางช่วงเทศกาลปีใหม่ และเทศกาลตรุษจีนกันเป็นจำนวนมาก แต่คนจีนมุ่งเน้นใช้บริการรถโดยสารสาธารณะเป็นหลักแทนการใช้รถส่วนตัว

...

ดังนั้น โจทย์แรกสำหรับ “ประเทศไทย” จำเป็นต้องมีการทุ่มงบประมาณพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งมวลชนให้มีความสะดวกครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ตั้งแต่กรุงเทพฯเชื่อมต่อยังจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน เพื่อให้ประชาชนหันมาใช้บริการเดินทางด้วยระบบรถโดยสารสาธารณะมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

ถัดมาโครงสร้างที่สอง...“ถนนถูกพัฒนาขยายเติบโตขึ้น” ตามข้อมูลสะท้อนบทเรียนจากอุบัติเหตุในช่วงสงกรานต์ปี 2566 “ทำให้เห็นปัจจัยเสี่ยงของการใช้ความเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนดในถนนทางหลวง” สาเหตุมาจากโครงข่ายผิวจราจรถูกขยายใหญ่ขึ้น เพื่อตอบโจทย์ตามความเจริญของเขตเมือง

แต่เดิมเคยเป็นถนน 2 เลนก็ถูกขยายกลายเป็น 4 เลน แล้วในบางช่วงของเขตเมืองกลับถูกพัฒนาขยายถนนเป็น 6 เลนด้วยซ้ำ ทำให้ผู้ใช้รถใช้ถนนสามารถเร่งความเร็วได้อย่างเต็มที่ไม่มีขีดจำกัด “ยิ่งกว่านั้นถนนที่ถูกขยายนี้มักถูกเชื่อมต่อกับทางเข้าหมู่บ้าน” กลายเป็นเสมือนนำถนนที่รถใช้ความเร็วสูงมาตั้งอยู่หน้าบ้าน

แล้วเมื่อ “ประชาชนยังคงใช้รถส่วนตัวกันอยู่เป็นจำนวนมากนี้” โดยเฉพาะรถมอเตอร์ไซค์ที่ถูกนำมาใช้สำหรับการเดินทางใกล้ๆบ้านอย่างเช่น กรณีขับขี่ไปซื้อสิ่งของในร้านสะดวกซื้อ หรือตลาดสด แต่ว่าบางเส้นทางอาจต้องขับผ่านถนนสายหลัก กลายเป็นว่าผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ต้องใช้ถนนร่วมกับรถยนต์ที่ใช้ความเร็วสูง

โดยเฉพาะถนน 4 ช่องทางแบบเกาะสี “ผู้ขับขี่” มักมองเห็นเป็นถนนโล่งกว้างเหมือนไม่มีเกาะกลางถนนกลายเป็นเอื้อต่อการแซงบนช่องเกาะสี ขณะเดียวกันคนข้ามถนน รถมอเตอร์ไซค์ รถจักรยาน กลับใช้เกาะสีจอดรอข้ามไปอีกฟากถนนเสี่ยงต่อการชนกันขึ้น ยิ่งกว่านั้นยังเสี่ยงต่อรถยนต์อีกฟากเสียหลักข้ามมาชนปะทะอีก

...

อันนำไปสู่ “การเกิดอุบัติเหตุ และเสียชีวิตช่วงเทศกาล” ดังจะสังเกตได้จากช่วงการควบคุมเข้มข้น 7 วันอันตราย “รถมอเตอร์ไซค์จะเกิดอุบัติเหตุสูงสุด” แล้วจำนวนผู้เสียชีวิต 2 ใน 3 มักเกิดบนทางหลวง

ถ้าเปรียบเทียบกับ “ต่างประเทศ” กรณีการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนทางหลวงนั้น “ส่วนใหญ่มักเป็นรถยนต์ หรือรถบรรทุก” เพราะกฎหมายบังคับให้ถนนทางหลวงเป็นพื้นที่ของรถขนาดใหญ่วิ่งได้เท่านั้น

ต่อมาโครงสร้างที่สาม...“การบังคับใช้กฎหมาย” ตามการวิเคราะห์สังเกตเห็นว่า “การบังคับใช้กฎหมายยังไม่มีประสิทธิภาพ” ด้วยสาเหตุจากสังคมไทยมีระบบอุปถัมภ์ “อะลุ่มอล่วยต่อกัน” เช่น กรณีหญิงสาวคนหนึ่งโพสต์เมาแล้วขับเข้าด่านถูกเป่าแอลกอฮอล์แต่กลับไม่ถูกจับดำเนินคดี

กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักก่อนภายหลังพากันออกชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น สิ่งนี้กำลังสะท้อนให้เห็นกรณี “การบังคับใช้กฎหมายบางส่วนนั้น” ยังไม่สามารถปฏิบัติให้เกิดเป็นมาตรฐานอย่างเต็มที่ได้

...

แต่หากย้อนดู “การบังคับใช้กฎหมายในช่วงสงกรานต์ปี 2563” คราวนั้นมีโรคระบาดโควิด-19 “รัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อคุมโรค” ตั้งแต่การห้ามมั่วสุม ห้ามจำหน่ายสุรา และลดการเดินทางตอนกลางคืน “ทำให้สงกรานต์ปีนั้นลดอัตราเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ 167 ราย” เมื่อเทียบกับปี 2562 ลดลงถึง 56.7%

สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า “หากต้องลดการสูญเสียชีวิตในช่วงเทศกาลนั้น” จำเป็นต้องมีการบังคับใช้กฎหมายกันอย่างจริงจัง ตั้งแต่ห้ามจำหน่ายสุรา ห้ามเดินทางในช่วงกลางคืน เพราะถ้าสังเกตจากอุบัติเหตุในช่วงสงกรานต์ปีนี้ “มักเกิดขึ้นช่วงเวลากลางคืน” ส่วนผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิตจะอยู่ในวัยอายุ 20-29 ปี

ข้อมูลนี้สอดคล้องกับ “กระทรวงสาธารณสุข” สำรวจพบว่า “เด็กเยาวชนต่ำว่า 20 ปี” ที่บาดเจ็บจากอุบัติเหตุเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลไม่ต่ำกว่า 279 ราย สามารถเข้าถึงแอลกอฮอล์ร่วมอยู่ด้วย

แล้วเรื่องสำคัญสุดท้ายคือ “ในเชิงระบบการเกิดอุบัติเหตุโยงความรับผิดชอบต่อหน่วยงานรัฐได้ไม่ชัดเจน” ส่วนใหญ่มักโยนความผิดให้เหยื่อผู้ประสบเหตุไม่ว่าจะเป็นเรื่องความประมาท ขาดจิตสำนึกเคารพกฎจราจรหรือผูกโยงสถานที่อาถรรพณ์ ทำให้รากเหง้าปัญหาไม่ถูกหยิบยกขึ้นมานำไปสู่การแก้ไขตรงจุดได้อย่างแท้จริง

ทั้งหมดนี้คือการวิเคราะห์ข้อมูลถอดบทเรียน “กรณีการเสียชีวิตในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2566” ล้วนมีความเชื่อมโยงกับ “ปัญหาโครงสร้างเดิมๆที่ไม่ถูกแก้ไข” ทำให้ความรุนแรงของอุบัติเหตุยังวนเวียนเกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างไม่มีวันสิ้นสุดอยู่นี้...