“ยุทธการฟ้าใส (CLEAR Sky Strategy)”
แผนปฏิบัติการร่วมไทย-ลาว-พม่า เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดนที่เกิดขึ้นต่อเนื่องรุนแรงส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชนในวงกว้างโดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ ถึงขนาดที่สำนักเลขาธิการอาเซียนได้แจ้งเตือนต่อระดับปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นระดับสูงสุด (ระดับ 3)
จุดความร้อนและหมอกควันข้ามแดนที่เกิดขึ้นในประเทศไทย พม่า และลาว ในปี 2566 เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ถึงร้อยละ 93 เป็นการเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกันคือระหว่างวันที่ 1 ม.ค.–5 เม.ย.2566
โดยในการประชุมผู้นำ 3 ฝ่ายระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยกับ นายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เมื่อวันที่ 7 เม.ย.2566 พล.อ.ประยุทธ์ได้เสนอ “ยุทธการฟ้าใส (CLEAR Sky Strategy)” เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ประกอบด้วย 1.C (Continued Commitment) มุ่งปฏิบัติตามเป้าหมายในการลดจุดความร้อนตามแผนปฏิบัติการเชียงราย ค.ศ. 2017
...
2.L (Leveraging Mechanisms) ไทยจะส่งเสริมความร่วมมือทุกระดับผ่านกลไกคณะกรรมการชายแดนที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งจะหยิบยกประเด็นดังกล่าวในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 42 ในเดือน พ.ค.2566 ที่อินโดนีเซียด้วย 3.E (Experience Sharing) การแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ เพื่อควบคุมปัญหามลพิษหมอกควันข้ามแดน 4.A (Air Quality Network) ส่งเสริมความร่วมมือเครือข่ายการตรวจวัดคุณภาพอากาศของประเทศในอนุภูมิภาค และ 5.R (Effective Response) นายกรัฐมนตรี เสนอให้เจ้าหน้าที่อาวุโสของทั้งสามประเทศประชุมเพื่อต่อยอดผลของการประชุมระดับผู้นำ
“การประชุมผู้นำ 3 ฝ่ายเป็นความริเริ่มของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และกระทรวงการต่างประเทศของไทย เนื่องจากปัญหามลพิษหมอกควันข้ามแดนต้องได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็วด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งผู้นำ 2 ประเทศ คือ พม่าและลาวต่างเห็นพ้องกับยุทธการฟ้าใส โดยจะจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมไทย ลาว พม่า และจะมีการใช้ประโยชน์จากกลไกในทุกระดับในระดับทวิภาคี ทั้งนี้ ไทยจะเสนอผ่านกลไกคณะกรรมการชายแดนในระดับจังหวัด ในระดับอาเซียนในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 42 เดือน พ.ค.นี้ ที่ประเทศอินโดนีเซีย ให้ผู้นำอาเซียนพิจารณาสั่งการเร่งแก้ ปัญหาให้เป็นรูปธรรม” นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส. ระบุถึงความพยายามในการแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน
ปลัด ทส. ยังระบุด้วยว่า ขณะเดียวกันไทยจะต้องเร่งแก้ปัญหาในประเทศด้วย เพราะต้องยอมรับว่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนฯมีจุดความร้อนสูง ซึ่งได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ไปแก้ไขอย่างเร่งด่วนและขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนช่วยกันดูแลไม่ให้มีการเผา ที่ผ่านมามีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและมีการจับกุมผู้ทำความผิดไปแล้วหลายราย
“ที่สำคัญจากนี้ ทส.จะเข้าไปดูแลเรื่องการใช้พื้นที่ของประชาชน ถ้าเป็นพื้นที่ที่มีการอนุญาตให้ประชาชนเข้าไปใช้ประโยชน์ ถ้ามีการเผาก็จะมีการทบทวนว่าจะมีการให้ใช้พื้นที่ต่อไปหรือไม่ เช่น ในพื้นที่ คทช. หรือโครง การจัดที่ดินทำกินตามนโยบายรัฐบาลภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือในพื้นที่ที่มีการประกาศเขตอนุญาตไปแล้ว ซึ่งมีเงื่อนไขชัดเจนเลยว่าเมื่อมีการให้ไปแล้วจะต้องไม่มีการเผา ถ้ามีเผาอาจจะมีการทบทวนการขออนุญาตให้ใช้ที่ดินเป็นต้น”
นายจตุพร กล่าวและว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ในฐานะหน่วยงานกลางประสานการดำเนินการแก้ไขปัญหาหมอกควันร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ ดำเนินการจัดทำกรอบการเจรจาภายใต้ยุทธการฟ้าใส เพื่อสร้างความร่วมมือแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนของภูมิภาคต่อไป
...
ขณะที่ นายปิ่นศักดิ์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า ทั้ง 3 ประเทศจะจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดน โดยประเทศไทยพร้อมจะให้การสนับสนุนองค์ความรู้ด้านวิชาการ ในการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมติดตามตรวจวัดจุดความร้อนและการใช้ประโยชน์ที่ดิน
รวมถึงถ่ายทอดประสบการณ์การบริหารจัดการเกษตรในพื้นที่สูงต่อลาวและพม่าต่อไป
“ปลายเดือน เม.ย.2566 ประเทศ ไทยจะร่วมกับ GIZ หรือองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี จัดประชุมเชิงปฏิบัติการที่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อทำแผนและการถ่ายทอดเทค โนโลยี รวมทั้งการตอกย้ำปฏิญญาเชียงรายที่เป็นความตกลงในระดับอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดนให้มีประสิทธิภาพ โดยให้ปฏิบัติตามเป้าหมายในการลดจุดความร้อนเพื่อควบคุมมลพิษในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง จัดตั้งระบบเตือนภัยและส่งเสริมประสิทธิภาพการดับไฟ การบริหารจัดการป่าไม้รวมถึงพัฒนาความสามารถของเจ้าหน้าที่ แนวทางดำเนินการด้านกฎหมายของแต่ละประเทศเพื่อควบคุมต้นเหตุของปัญหา” นายปิ่นศักดิ์ กล่าว
...
ปัญหาหมอกควันข้ามแดนกำลังได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนภายใต้ “ยุทธการฟ้าใส” ซึ่งถือเป็นการดำเนินการต่อเนื่องหลังจากที่ก่อนหน้านี้ รัฐบาลไทยได้ประกาศให้การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมจัดทำมาตรการระยะยาว ปี 2567-2570 เพื่อเป็นแนวทางแก้ไขปัญหามลพิษระดับทวิภาคี
“ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม” เห็นด้วยกับการแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน เพราะมลพิษทางอากาศในภาคเหนือตอนบนเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่ายาวนานนับสิบๆปี และยิ่งนับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลต่อประชาชนในพื้นที่ เหมือนต้องตกอยู่ในสภาพที่ “ไม่มีสิทธิเลือกอากาศหายใจ” และอยู่แบบ “ตายผ่อนส่ง” เพราะจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษกำลังเพิ่มมากขึ้น
โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาเราได้เห็นว่าเชียงใหม่-เชียงราย สลับกันติดอันดับหนึ่งของเมืองที่มีมลพิษ PM 2.5 สูงสุดในโลกติดต่อกัน
...
เราขอฝากความหวังว่า “ยุทธการฟ้าใส” จะสามารถแก้วิกฤติมลพิษทางอากาศที่เป็นปัญหาเรื้อรังได้ในเร็ววัน
ถึงเวลาหยุดมลพิษทางอากาศ คืนลมหายใจบริสุทธิ์และสกัดการตายผ่อนส่งเสียที.
ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม