ผศ.ดร.เชษฐา ทรัพย์เย็น ผช.อธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และนักวิชาการการศึกษาด้านอุดมศึกษา เปิดเผยว่า จากการติดตามนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆในการเลือกตั้งปี 2566 นั้น ภาพรวมทุกพรรคจะเน้นนำเสนอนโยบายการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพราะครอบคลุมผู้เกี่ยวข้องทั้งนักเรียน ผู้ปกครอง ครู ผู้บริหาร หลายล้านคน ขณะนี้นโยบายระดับอุดมศึกษากลับถูกละเลยหรือไม่ใส่ใจ โดยพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ ไม่มีนโยบายเกี่ยวกับอุดมศึกษาเลย ส่วนพรรคก้าวไกลมีเรื่องการส่งเสริมให้นิสิตนักศึกษามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของมหาวิทยาลัยเท่านั้น

“การศึกษาระดับอุดมศึกษามีความสำคัญไม่น้อยกว่าการศึกษาระดับอื่นๆ มีนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล มหาวิทยาลัยรัฐเดิมและเอกชนกว่า 1 ล้านคน อาจารย์และบุคลากรทุกสังกัดไม่น้อยกว่า 2 แสนคน และครอบครัว รวมทั้งหมดก็มีมากกว่า 1 ล้านคน แต่กลับมองไม่เห็น ทุกพรรคให้ความสำคัญน้อยกว่านโยบายด้านเศรษฐกิจ ประชานิยม เกษตร และการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่น่าแปลกใจคือ มีอดีตผู้บริหารมหาวิทยาลัยเข้าไปอยู่ในพรรคการ เมืองแต่กลับได้รับมอบหมายให้ดูแลงานด้านเศรษฐกิจ” ผศ.ดร.เชษฐากล่าว

ผศ.ดร.เชษฐากล่าวต่อว่า อยากเรียกร้องให้ทุกพรรคการเมืองกำหนดนโยบายด้านอุดมศึกษา เช่น สวัสดิการต่างๆ บุคลากรในมหาวิทยาลัย ซึ่งไม่ได้รับการดูแลมาตั้งแต่ปี 2553 หรือมากกว่า 10 ปี, การพัฒนานิสิตนักศึกษาทั้งการให้เงินกู้ให้ได้เรียน การพัฒนาคุณภาพให้เหมาะสมกับทักษะในศตวรรษที่ 21, การส่งเสริมธรรมาภิบาลในมหาวิทยาลัย และการกำหนดทิศทางมหาวิทยาลัยในอนาคตที่คนเข้าสู่ระบบอุดมศึกษาลดน้อยลง ทั้งนี้ ตนเห็นว่าที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัย ทั้ง 4 กลุ่ม ได้แก่ ทปอ., ทปอ.มรภ., ทปอ.มทร. และสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ควรเป็นแกนหลักนำเสนอนโยบายอุดมศึกษาต่อพรรคการเมือง แต่ก็น่าแปลกใจที่ทั้ง 4 กลุ่มไม่มีบทบาทใดๆในเรื่องนี้ และอยากเรียกร้องให้ที่ประชุมสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) รวมทั้งที่ประชุมสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) จับมือกันจัดเวทีนำเสนอนโยบายเช่นกัน เพื่อให้พรรคการเมืองกำหนดเป็นนโยบายพรรค หากได้เป็นรัฐบาลก็จะได้มีนโยบายด้านอุดมศึกษาเป็นนโยบายรัฐบาล.

...