ประชาชนภาคเหนือฟ้องนายกฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช้อำนาจทางกฎหมายแก้วิกฤติฝุ่น PM 2.5

วันที่ 10 เมษายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรีนพีซ ประเทศไทย ได้เผยแพร่ข้อความเกี่ยวกับการฟ้องนายกฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากไม่ใช้อำนาจทางกฎหมายแก้วิกฤติฝุ่น PM 2.5 

โดยออกแถลงการณ์ ทำแล้ว ทำอยู่ ทำอะไร ทำไมปอดถึงพัง: ประชาชนภาคเหนือฟ้องนายกฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เหตุไม่ใช้อำนาจทางกฎหมายแก้วิกฤติฝุ่น PM 2.5 ผ่านเว็บไซต์ https://www.greenpeace.org/ ระบุว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 จนถึงปัจจุบัน สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ภาคเหนือ มีความเข้มข้นสูงปกคลุมเหนือ อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเป็นวิกฤติระดับสูงสุด และมีผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศสะสมแล้วกว่า 2 ล้านคน โดยเฉพาะในเขตจังหวัดภาคเหนือตอนบนของไทย เช่น จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน โดยมีฝุ่น PM 2.5 สูงกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป ต่อเนื่องกันนับสัปดาห์ เป็นวิกฤติด้านสาธารณสุขที่ส่งผลอย่างร้ายแรง และถูกเพิกเฉยจากรัฐบาลมายาวนาน

วันนี้ เครือข่ายประชาชนภาคเหนือ นักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ สภาลมหายใจเชียงใหม่ สภาลมหายใจภาคเหนือ และประชาชน จึงได้ร่วมกันยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ไม่ได้ใช้มาตรการทางกฎหมาย กลไกทางสิทธิมนุษยชน นโยบาย และแผนที่มีอยู่ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและจัดทำแผนฉุกเฉิน เพื่อแก้ไขสถานการณ์วิกฤติฝุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยเปิดให้ประชาชนร่วมลงชื่อสนับสนุนการฟ้อง ตั้งแต่วันที่ 7-9 เมษายน 2566 ซึ่งมีประชาชนมาร่วมลงชื่อที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กว่า 727 คน และลงชื่อออนไลน์เพื่อสนับสนุนประเด็นการแก้ไขวิกฤติฝุ่นจากเกษตรพันธสัญญาจำนวนกว่า 980 คน และยังได้รับการสนับสนุนจากภาคประชาสังคมอื่นๆ เช่น มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กลุ่มสม-ดุล เชียงใหม่ ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น และกรีนพีซ ประเทศไทย ฯลฯ

...

ซึ่งการฟ้องร้องครั้งนี้ มีข้อเรียกร้องสำคัญทางคดี 3 ประการ ได้แก่ 1. ฟ้องนายกรัฐมนตรีให้ใช้อำนาจตามมาตรา 9 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติอย่างร้ายแรง ให้มีอำนาจสั่งการให้หน่วยงานทำหน้าที่อย่างเข้มงวด เนื่องจากนายกรัฐมนตรีไม่ได้ใช้อำนาจนี้ จนการแก้ไขปัญหาวิกฤติฝุ่น PM 2.5 มีความล่าช้า ไม่ทันต่อความร้ายแรงของเหตุการณ์

2. ฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้ปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ "การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง" ซึ่งรัฐบาลประกาศแผนนี้มาตั้งแต่ปี 2562 เนื่องจากในระยะเวลา 4 ปีในการใช้แผนนี้ แทบจะไม่เห็นความคืบหน้า และปัญหายังคงความรุนแรงอยู่ นี่คือความผิดปกติที่เราไม่อาจยอมรับ

และ 3. ฟ้องคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ซึ่งมีหน้าที่ครอบคลุมถึงพันธกรณีนอกอาณาเขต (Extraterritorial Obligations) ให้กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการจัดทำรายงานการเปิดเผยข้อมูลอย่างรอบด้าน เพิ่มในแบบรายงาน 56-1 One Report หรือแบบอื่นๆ ในฐานะเอกสารสำคัญสำหรับการตรวจสอบข้อมูลตลอดห่วงโซ่อุปทาน อันเกี่ยวเนื่องกับแหล่งกำเนิดฝุ่น PM 2.5 ซึ่งส่งผลกระทบข้ามพรมแดนมายังประเทศไทย

ทั้งนี้ แคมเปญดังกล่าว มีการพูดถึงในวงกว้าง พร้อมกับติดแฮชแท็ก #คืนปอดให้ประชาชน.