ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานแนวโน้มฝุ่น PM 2.5 วันนี้ (10 เม.ย.) ดีขึ้น เฝ้าระวัง 14-17 เม.ย. สภาพอากาศปิดบางพื้นที่ ยังตามใกล้ชิด 17 จังหวัดภาคเหนือ

วันที่ 10 เมษายน 2566 ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานผลการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2566 ของกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ โดยระบุว่า วันที่ 11-13 เมษายน 2566 สถานการณ์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ยังคงมีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากสภาพอากาศที่เปิดมากขึ้น เพดานการลอยตัวอากาศที่สูงขึ้น ประกอบกับลมทางใต้ที่กำลังแรง ช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่

อย่างไรก็ตาม วันที่ 14-17 เมษายน 2566 อาจมีสภาพอากาศที่ปิดได้ในบางพื้นที่ จึงควรเพิ่มการเฝ้าระวัง

พื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ มีแนวโน้มที่ควรเฝ้าระวังในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ในวันที่ 11-17 เม.ย. 2566 ซึ่งจังหวัดที่ควรเน้นการเฝ้าระวัง ได้แก่ จังหวัดเชียงราย และน่าน

ขณะที่ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร สรุปผลการตรวจวัด PM 2.5 เมื่อเวลา 05.00-07.00 น. (3 ชั่วโมงล่าสุด) ตรวจวัดได้ 10-28 มคก./ลบ.ม. ค่าเฉลี่ยของกรุงเทพมหานคร 18.9 มคก./ลบ.ม. ค่า PM 2.5 มีแนวโน้มลดลง และอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานทุกสถานีที่มีการตรวจวัด

ทั้งนี้ ณ เวลา 07.00 น. ตรวจวัดค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ได้ 10-27 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) โดยมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับเมื่อวานในช่วงเวลาเดียวกัน และพบว่า ไม่เกินมาตรฐานทุกพื้นที่ที่มีการตรวจวัด

ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง (คาดการณ์แนวโน้มสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อฝุ่น PM 2.5 โดยสภาพทางอุตุนิยมวิทยา) ในช่วงวันที่ 10-16 เม.ย. 2566 คาดว่า จะมีการระบายอากาศอยู่ในเกณฑ์ อ่อน/ดี ตลอดช่วง ประกอบกับมีสภาพอากาศเปิด ทำให้ฝุ่น PM 2.5 สามารถระบายได้ปานกลาง และมีแนวโน้มลดลง 

ในช่วงวันที่ 10-13 เม.ย. 2566 เป็นต้นไป สถานการณ์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลยังคงมีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากสภาพอากาศที่เปิดมากขึ้น เพดานการลอยตัวอากาศที่สูงขึ้น ประกอบกับลมทางใต้ที่กำลังแรง ช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่

อย่างไรก็ตาม วันที่ 14-16 เม.ย. 2566 อาจมีสภาพอากาศที่ปิดได้ในบางพื้นที่ จึงควรเพิ่มการเฝ้าระวัง

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลจุดความร้อน (Hotspot) ผ่านดาวเทียม จากหน่วยงาน NASA ไม่พบจุดความร้อนที่ดาวเทียมตรวจพบค่าความร้อนสูงผิดปกติจากค่าความร้อนบนผิวโลก บริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานคร.

...