นายชัยพิสิษฐ์ สอนศรี ประธานกลุ่มเกษตรอินทรีย์หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า ต.บ้านซ่อง อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา หนึ่งในเกษตรกรที่เข้ารับการอบรมหลักสูตร “การผลิตและการใช้ปุ๋ยชีวภาพและชีวภัณฑ์ในการผลิตผักอินทรีย์” โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรฉะเชิงเทรา กรมวิชาการเกษตร เผยว่า เดิมปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ผักบุ้ง ต้นหอม เมื่อประสบปัญหาการระบาดของศัตรูพืช ได้ซื้อสารชีวภัณฑ์ที่จำหน่ายเป็นการค้าเพื่อมาป้องกันกำจัด ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง มีรายได้เฉลี่ย 390,000 บาทต่อปี
“แต่หลังจากเข้ารับการอบรมกับกรมวิชาการเกษตร ได้หันมาปลูกผักแบบผสม ผสานโดยใช้ปุ๋ยชีวภาพและชีวภัณฑ์แล้วนำไปถ่ายทอดต่อให้สมาชิกในกลุ่ม จนได้รับรองมาตรฐาน Organic Thailand และรวมกลุ่มกับสมาชิกส่งผลผลิตให้กับร้านโกลเด้นเพลส และห้างสรรพสินค้าต่างๆ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นปีละ 650,000 บาท”
สำหรับเทคโนโลยีปุ๋ยชีวภาพและสารชีวภัณฑ์ที่กรมวิชาการเกษตรนำไปถ่ายทอดให้กับเกษตรกรประกอบด้วย...ปุ๋ยหมักเติมอากาศ ที่เน้นการผสมรวมกันระหว่างวัสดุอินทรีย์ที่ให้คาร์บอนและไนโตรเจนจากซากพืช ซากสัตว์ และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ที่ใช้วิธีเติมอากาศแทนการกลับกองปุ๋ย เพื่อเร่งกระบวน การย่อยสลายวัสดุอินทรีย์ โดยจุลินทรีย์ธรรมชาติในกองปุ๋ย ทำให้ได้ปุ๋ยหมักที่สมบูรณ์ เมื่อย่อยสลายสมบูรณ์แล้ว ธาตุอาหารจะอยู่ในรูปที่พร้อมปลดปล่อยให้ต้นพืชได้ทันทีเช่นเดียวกับปุ๋ยเคมี
...
ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ เป็นปุ๋ยชีวภาพประกอบด้วยแบคทีเรีย ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช ใช้ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์–1 ผสมดินก่อนปลูกอัตราไร่ละ 1 กก. จะช่วยทำให้เพิ่มปริมาณรากร้อยละ 20 ลดการใช้ปุ๋ยเคมีร้อยละ 25 และเพิ่มผลผลิตร้อยละ 20
แหนแดง เฟิร์นขนาดเล็กที่ช่วยตรึงไนโตรเจนจากอากาศ ทำให้แหนแดงมีปุ๋ยไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบสูง 3-5% ของน้ำหนักแห้ง สามารถนำมาใช้เป็นปุ๋ยพืชสดได้เป็นอย่างดี
ไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ไทย ชีวภัณฑ์ที่กำจัดแมลงศัตรูพืชได้หลายชนิด ฉีดพ่นไปแล้วจะทำให้แมลงตาย เนื่องจากไส้เดือนฝอยจะมีเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เลือดแมลงเป็นพิษ และเกษตรกรสามารถเลี้ยงเพิ่มปริมาณเองได้
แมลงหางหนีบ เป็นตัวห้ำที่ใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืชได้หลายชนิด เช่น หนอนกระทู้ผัก หนอนใยผัก และเพลี้ยอ่อน เป็นต้น
และ เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี ใช้รองก้นหลุมก่อนปลูก ช่วยป้องกันกำจัดไส้เดือนฝอยที่ก่อให้เกิดรากปม มีประสิทธิภาพสูง ใช้ทดแทนสารเคมีได้
“ปัจจุบันศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรฉะเชิงเทราได้ทำแปลงต้นแบบการผลิตพืชอินทรีย์ในพื้นที่เกษตรกร ปลูกผักสลัดอินทรีย์ เปรียบเทียบวิธีของกรมวิชาการเกษตรที่ใช้ปุ๋ยชีวภาพและชีวภัณฑ์ทั้ง 6 เทคโนโลยี เปรียบเทียบกับวิธีที่เกษตรทั่วไปทำกัน พบว่า วิธีของกรมวิชาการเกษตรให้ผลผลิตสูงกว่าวิธีเกษตรกรเฉลี่ยไร่ละ 232 กก. แต่มีต้นทุนน้อยกว่าเฉลี่ยไร่ละ 18,838 บาท สามารถลดต้นทุนได้ถึง 35.77% ทำให้มีรายได้สุทธิเฉลี่ยมากกว่า 37,398 บาทต่อไร่ เกษตรกรที่สนใจเทคโนโลยีนี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-3813-6259” นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ให้ข้อมูล.