"บิ๊กป้อม" หนุนอุตสาหกรรมไทยเข้าร่วมลดก๊าซเรือนกระจก ผลักดันรถโดยสารประจำทางสาธารณะของภาคเอกชนเป็นรถโดยสารประจำทางไฟฟ้าใน กทม.

วันที่ 5 เมษายน 2566 ที่ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (กนภ.) ครั้งที่ 1/2566 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบการเข้าร่วมดำเนินงานและขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากกลุ่มดำเนินงานด้านกรดไนตริกเพื่อสภาพภูมิอากาศ เพื่อลดการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจก ที่มีค่าศักยภาพในการทำให้โลกร้อนสูงถึง 265 เท่าของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ คาดว่าการดำเนินงานดังกล่าวจะสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ ประมาณ 130,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ช่วยให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคเอกชนและอุตสาหกรรมไทย เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ

นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบ (ร่าง) แผนที่พื้นที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินถล่มของประเทศไทย มาตราส่วน 1 : 250,000 ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยง 135,000 ตารางกิโลเมตร และมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเห็นชอบก่อนเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ประโยชน์ ในการเตรียมการรับมือเพื่อลดความสูญเสียและความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

โดย ทส. จะมีการจัดทำแผนที่พื้นที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินถล่มของประเทศไทยที่มีความละเอียดมากขึ้นในระดับจังหวัดและระดับชุมชนในระยะต่อไป

ขณะที่ประชุมรับทราบ โครงการเพิ่มศักยภาพการปลูกข้าวที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ (Thai Rice GCF) เพื่อขอรับการสนับสนุนทางการเงินต่อกองทุนภูมิอากาศสีเขียว เพื่อปรับเปลี่ยนวิถีของเกษตรกรไทยไปสู่การทำนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำและรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พื้นที่ดำเนินการ 4.5 ล้านไร่ ครอบคลุม 21 จังหวัดในภาคกลาง ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การเข้าร่วมปฏิญญากลาสโกว์ของผู้นำด้านป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน การจัดส่งยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ การจัดทำแนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต และการผลักดันโครงการเปลี่ยนรถโดยสารประจำทางสาธารณะของภาคเอกชนเป็นรถโดยสารประจำทางไฟฟ้า (รถร่วมบริการ) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

...

ในวันเดียวกัน รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้าง ครั้งที่ 2/2566 เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์และจัดการช้างนำไปสู่การจัดการปัญหาช้างป่าทั้งในพื้นที่อนุรักษ์และในพื้นที่ชุมชน การกำหนดมาตรการต่างๆ และการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า ตามแนวนโยบายของรัฐบาล

โดยคณะกรรมการฯ ได้เห็นชอบ กรอบมาตรการแก้ไขปัญหาช้างป่า 6 ด้าน ได้แก่ การจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพื่อเป็นแหล่งอาศัยของช้างป่า, แนวป้องกันช้างป่า, ชุดเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่า และเครือข่ายชุมชน, การช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่า, การจัดการพื้นที่รองรับช้างป่าอย่างยั่งยืน และการควบคุมประชากรช้างป่า ด้วยวัคซีนคุมกำเนิด เพื่อเป็นแนวทางการจัดการช้างป่าและการบริหารจัดการพื้นที่ นำไปสู่การอนุรักษ์และการจัดการประชากรช้างป่าให้มีปริมาณที่สมดุล ลดปัญหาระหว่างคนกับช้างป่า ทำให้เกิดการอนุรักษ์และจัดการช้างป่าอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืนต่อไป.