ถือเป็นข่าวดี นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาสแรก ปี 2566 (มกราคม–มีนาคม 2566) ขยายตัวร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สาขาพืช ขยายตัวร้อยละ 7.9 ปศุสัตว์ ร้อยละ 0.8 บริการทางการเกษตร ร้อยละ 4.0 ป่าไม้ ร้อยละ 0.7 มีเพียงสาขาประมงเท่านั้นที่ -0.5

ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรทั้งปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.0–3.0 เมื่อเทียบกับปี 2565

ทุกสาขาการผลิตมีแนวโน้ม ขยายตัว จากปัจจัยสนับสนุนด้านสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำตามธรรมชาติที่มีเพียงพอสำหรับการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ และทำประมง

การดำเนินนโยบายของภาครัฐและความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ในการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการผลิต ยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร และผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับ

ปัจจัยเอื้ออีกอย่างคือ ส่งเสริมการรวมกลุ่มในการผลิตและแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค เพิ่มช่องทางให้เกษตรกรเข้าถึงและใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ และบริหารจัดการสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มที่ดี ช่วยสนับสนุนให้ความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารเพิ่มขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าหลักก็มีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ ที่อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกษตร การระบาดของโรคพืชและสัตว์ที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

ปัจจัยถ่วงสำคัญอีกอย่างคือ ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากราคาปัจจัยการผลิตทั้งราคาน้ำมัน ปุ๋ยเคมี สารกำจัดศัตรูพืช และอาหารสัตว์

...

รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ สงครามทางการค้า และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัว นี่คือสิ่งที่รัฐบาลหลังเลือกตั้งต้องรับมือ.

สะ–เล–เต