เดือน ม.ค.-เม.ย.ของทุกปี ในช่วงปลายหนาวถึงต้นฤดูแล้ง กลายเป็นฤดูกาลฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 ประชาชนหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคกลาง กรุงเทพฯ เผชิญปริมาณฝุ่นสูงเกินมาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

ตอกย้ำสุขภาวะคนไทยดิ่งเหวลงทุกวัน วินาทีของลมหายใจเข้าออกตายผ่อนส่ง นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยข้อมูลเฝ้าระวังโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-19 มี.ค.2566 พบผู้ป่วยรวม 1,730,976 ราย ส่วนใหญ่เป็นโรคทางเดินหายใจ โรคผิวหนังอักเสบ โรคตาแดง

เตือนให้ประชาชนดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ ออกนอกบ้านทุกครั้งให้สวมหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่น ไม่จำเป็นอย่าออกไปไหน งดออกกำลังกายกลางแจ้ง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่เป็นโรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจ ควรอยู่บ้าน ปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิด และสังเกตอาการ หากแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก รีบไปแพทย์

สถานการณ์ฝุ่นควัน ยังสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล เว็บไซต์ทีดีอาร์ไอ หัวข้อ “ข้อจำกัดในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5” เขียนโดย คุณนิพนธ์ พัวพงศกร คุณกัมพล ปั้นตะกั่ว และสุทธิภัทร ราชคม ประเมินมีแนวโน้มทวีความรุนแรง ธนาคารโลกประเมิน ว่าต้นทุนเศรษฐกิจของไทยเพิ่มจาก 2.10 แสนล้านบาท ในปี 2533 เป็น 8.71 แสนล้านบาทในปี 2566

และจากการศึกษาของ คุณวิษณุ อรรถวานิช (2562) พบ มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจของครัวเรือนไทยสูงถึง 2.17 ล้านล้านบาทต่อปี เฉพาะครัวเรือนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีมูลค่าความเสียหายต่อครัวเรือน 4.36 แสนล้านบาทต่อปี

ในรอบหลายปีการแก้ปัญหานี้ถูกมองว่าล้มเหลว เกิดจากหลายสาเหตุ อาทิ แนวทางการจัดการภัยพิบัติ ไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสม เช่น ตั้งคณะกรรมการจัดการปัญหาในเดือน ต.ค.ก่อนมีฝุ่น PM2.5 และสลายตัวเดือน พ.ค.ในปีถัดไป ทำให้ขาดความเป็นสถาบัน ขาดการจัดการ การศึกษาวิเคราะห์แบบต่อเนื่องโดยมืออาชีพ กรณีนี้ต้องเปลี่ยนระบบการจัดการเชิงโครงสร้าง

...

แม้รัฐบาลผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติก็แล้ว ขอยืมคำพูดของคอลัมน์ “ซูม เหะหะพาที” ที่ระบุว่าในที่สุดก็ต้องขยับไปเป็น “วาระแห่งชาติ (หน้า)” คือชาติหน้าค่อยแก้เช่นเดียวกับอีกหลายๆปัญหาของประเทศไทย แต่ยังพอมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์อยู่บ้าง

ช่วงการเลือกตั้งพรรคการเมืองมีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 อาทิ พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนากล้า และก่อนหน้านั้นพรรคการเมือง ภาคประชาชนเคยเสนอร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด เข้าสภาผู้แทนราษฎร แต่ถูกไอ้โม่งที่อยู่เบื้องหลังผู้มีอำนาจตีตกแบบน่าเสียดาย

โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ.ฉบับที่เสนอในนาม เครือข่ายอากาศสะอาด เป็นการรวมกลุ่มจากภาคประชาชน นักเคลื่อนไหวทางสังคม นักวิชาการหลายสาขา รวมพลังยกร่างขึ้นมา เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติแก้ปัญหามลพิษทางอากาศที่มีความซับซ้อน ยุ่งยากแบบรอบด้าน และเป็นระบบที่ยั่งยืนในประเทศไทย

กำหนดให้อากาศสะอาดเป็นสิทธิของประชาชน-รัฐมีหน้าที่ปกป้องคุ้มครอง หากรัฐทำไม่ได้แปลว่าผิด ประชาชนฟ้องรัฐได้-กำหนดให้มีคณะกรรมการอากาศสะอาด เป็นหน่วยงานดูแลเรื่องนี้โดยตรง ไม่ต้องผ่านกระทรวงให้ยุ่งยาก ไม่พึ่งงบประมาณแผ่นดิน แต่ไปเก็บเงินจากผู้ปล่อยมลพิษ

ผมเห็นแวว คุณวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เป็นอีกคนที่รู้ถึงปัญหานี้ดีและเคยเสนอวิธีรับมือมัจจุราชเงียบเป็นฉากๆ แต่ระบบจัดการเชิงโครงสร้างของประเทศบริหารจัดการแบบไทยๆ ฉะนั้นหลังเลือกตั้งขอเสนอให้ท่านเป็นหัวหอกผลักดันออกกฎเหล็กให้เสร็จภายในปีแรกของรัฐบาลชุดใหม่ และเมื่อกฎหมายมีผลบังคับต้องทำให้ศักดิ์สิทธิ์ เชื่อว่าปัญหานี้คงคลี่คลายลงได้.

“พายุบูรพา”