ความเดิมที่ว่า...ปัจจุบัน “กากกัมมันตรังสี” ที่จัดการแล้วจะถูกนำมาเก็บเพื่อรอเวลาให้หมดสภาพความเป็นสารกัมมันตรังสี อยู่ทั้ง 3 พื้นที่สำนักงานของสำนักงานของ สทน. ได้แก่ สำนักงานบางเขน 2 อาคาร สำนักงานเทคโนธานี 2 อาคาร สำนักงานใหญ่องครักษ์ 1 อาคาร

ปุจฉาสำคัญมีว่า... การจัดเก็บทั้งสองพื้นที่สำนักงาน ได้แก่ สำนักงานเทคโนธานีและสำนักงานใหญ่องครักษ์ ดำเนินการโดยไม่มีใบอนุญาตจาก ปส. (สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ)?

สืบเนื่องจากหน่วยงานกำกับดูแลคือ ปส. และผู้ปฏิบัติคือ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. เป็นหน่วยงานภายใต้สังกัด กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยทั้งสองหน่วยงานขึ้นอยู่กับสำนักงานปลัด อว. จึงกล่าวได้ว่า... สายบังคับบัญชาเดียวกันก็ว่าได้

...มีความเป็นไปได้สูงไหมว่า ที่จะทำให้เกิดการครอบงำทั้งสองหน่วยงาน เพราะขาดความเป็นอิสระ อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ สทน.สามารถดำเนินการโดยไม่ต้องมีใบอนุญาตตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา โดยปราศจากการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานกำกับดูแลตามกฎหมาย (ปส.)

...

และข้อสังเกตอีกอย่างก็คือ เลขาธิการ ปส. กลับมีตำแหน่งในบอร์ดบริหารของ สทน. โดยตำแหน่งก็บ่งบอกถึงความสัมพันธ์พิเศษมากระหว่าง “ผู้กำกับดูแล” และ “หน่วยงานผู้ปฏิบัติ”

หนึ่งใน “เครือข่ายคนรักษ์นครนายก มรดกธรรมชาติ” ที่เคยสื่อสะท้อนเงื่อนปัญหาใหญ่ยักษ์ต่อกรณี...“สำนักงานคลองห้า” ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาธาตุหายาก ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี และกรณีค้างคา “เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์” ที่ อ.องครักษ์ จ.นครนายก ตั้งข้อสังเกต

กระทั่งในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ก็มีกฎกระทรวง “ศักยภาพของผู้ให้บริการจัดการกากกัมมันตรังสีการอนุญาตและการเลิกดำเนินการให้บริการจัดการกากกัมมันตรังสี” ออกมาโดย ปส. ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นกฎหมายนิรโทษกรรมให้ สทน.ก็ว่าได้

เพราะตลอดระยะที่ผ่านมาดำเนินการโดยไม่มีใบอนุญาตในการจัดการกากกัมมันตรังสีทั้ง 3 ใบ ซึ่งระบุไว้ในบทเฉพาะกาลดังนี้...บทเฉพาะกาลข้อ 55 ผู้ใดให้บริการจัดการกากกัมมันตรังสีอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตดำเนินการให้บริการจัดการกากกัมมันตรังสีภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน

นับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ โดยไม่ต้องขอรับใบอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อตั้งสถานที่ให้บริการจัดการกากกัมมันตรังสีและใบอนุญาตก่อสร้างสถานที่ให้บริการจัดการกากกัมมันตรังสี

และ...เมื่อได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตแล้วให้ดำเนินการให้บริการจัดการกากกัมมันตรังสีต่อไปได้ จนกว่าจะได้รับแจ้งคำสั่งไม่อนุญาตจากเลขาธิการ

จากบทเฉพาะกาลดังกล่าวจะเห็นได้ว่าให้อำนาจเลขาธิการ ในการตัดสินใจบนเงื่อนไขหรือดุลพินิจใดไม่อาจจะทราบได้ แต่ที่แน่ๆกฎกระทรวงนี้ขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 58 อย่างชัดเจน

...

อีกประเด็นสำคัญที่น่าสนใจ สทน. ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542 ในมาตรา 14 ระบุว่า... “บรรดารายได้ขององค์การมหาชน ไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง และกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ”

นั่นหมายความว่าหน่วยงานสามารถบริหารจัดการรายได้ของตนเองได้โดยไม่ต้องส่งคืนรัฐ แต่กลับใช้งบประมาณสนับสนุนจากรัฐ และใช้ทรัพยากรของรัฐในการดำเนินการ จึงเป็นช่องทางที่ส่อให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์ได้ ซึ่งหากดูรายงานประจำปีในส่วนรายได้ ค่อนข้างมีมูลค่าสูงมาก

ยกตัวอย่างรายได้ประจำปี 2563 (เอกสารอ้างอิง) แม้นว่า สทน. เป็นหน่วยงานของรัฐไม่ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อแสวงหาผลกำไรเป็นหลัก แต่หากสังเกตจากรายได้ตามรายงาน เงื่อนไขการยกเว้นภาษีเพราะเป็นหน่วยงานของรัฐ ข้อนี้มีความพิเศษเพราะหน่วยงานของรัฐ แสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรที่ตนมี

เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ระบุไว้ในมาตรา 8 “ทรัพย์สินของรัฐหรือของหน่วยงานของรัฐซึ่งใช้ในกิจการของรัฐหรือของหน่วยงานของรัฐ หรือในกิจการสาธารณะ ทั้งนี้ โดยมิได้ใช้หาผลประโยชน์” ดังนั้น สทน.ต้องเสียภาษีตามกฎหมายนี้ และปฏิบัติตามกฎหมายด้านภาษีอย่างเคร่งครัด

เพื่อให้เป็นแบบอย่างที่ดีของหน่วยงานรัฐ

...

นอกจากนี้ สทน. ได้มีความพยายามจะจัดทำโครงการเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยขนาด 20 MW ซึ่งตอนนี้อยู่ในการทำ EHIA ครั้งที่ 3 แต่ก็ติดปัญหาต่างๆนานา ทั้งผลกระทบโควิดและแรงต้านจากภาคประชาชนถึงความไม่ชอบมาพากลต่างๆ เช่น มีความพยายามก่อสร้างในพื้นที่เดิมที่เคย มีกรณีข้อพิพาทในการก่อสร้างครั้งที่แล้วแต่ไม่สามารถก่อสร้างได้อันเนื่องมาจากสารพัดปัญหา จนเกิดการฟ้องร้องระหว่างผู้รับจ้างและหน่วยงานรัฐ

น่าสนใจว่า...มูลค่าฟ้องร้องสูงเกือบหมื่นล้านบาทในขณะนั้น ตลอดจนความฉ้อฉลจากบุคลากรภายในหน่วยงานของรัฐจนเกิดการฟ้องร้องอีกมากมาย ซึ่งคดีในส่วนผู้รับจ้างอยู่ในชั้นอนุญาโตตุลาการ

ในเวลาต่อมาก็มีรายงานการประชุมสภานโยบาย อว. ออกมาว่า “ผู้รับจ้างที่มีคดีความกันอยู่นั้นนำเสนอข้อเสนอเพื่อยุติคดีโดยมีข้อแลกเปลี่ยน” ขณะเดียวกันก็มีความพยายามจากรัฐมนตรี อว. ส่งหนังสือ ที่ นร.0505/850 ลงวันที่ 13 มกราคม 2565 ไปยังสำนักงานเลขาธิการ คณะรัฐมนตรี

หนังสือนั้น มีความพยายามดึงโครงการ “เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัย” เดิมเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้วขึ้นมาใหม่อีกครั้งแต่มีขนาดกำลังที่ใหญ่ขึ้น โดยขอให้มีข้อยกเว้นแบบพิเศษ หากเรื่องนี้ได้รับการเห็นชอบจาก ครม. นั่นหมายถึงบรรยากาศเดิมๆอาจจะกลับมาอีกครั้ง

...

แต่...หากมองความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันแล้วการเลือกใช้พื้นที่เดิมคือ “อำเภอองครักษ์” นั้น ถือว่าเป็นการใช้หลักการและเหตุผลที่ใช้ไม่ได้ เพราะบริบทมิติทางภูมิศาสตร์ ประชากร การขยายตัวของเมือง เปลี่ยนไปมาก แตกต่างจากเมื่อ 30 กว่าปีก่อน จะใช้ข้อมูลการเลือกพื้นที่ไว้แล้วกว่า 30 ปีมาตัดสินใจ...

โดยไม่มองบริบทปัจจุบัน ดูไม่สมเหตุสมผล อีกทั้งพื้นที่สำนักงานองครักษ์ มีขนาดที่เล็กเกินไปไม่เป็นไปตามมาตรฐานทบวงพลังงานนิวเคลียร์ระหว่างประเทศ (IAEA)

หรือแม้แต่เรื่อง “เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็ก” หรือที่เรียกว่า Small Module Nuclear Reactor (SMR) เพื่อผลิตไฟฟ้า...อย่าลืมว่าปัจจุบันปริมาณไฟฟ้าสำรองของประเทศไทยเกินอยู่ในระบบมาก

อยากขอย้ำอีกครั้งว่า หน่วยงานของรัฐ ผู้มีหน้าที่กำกับดูแล (ปส.) หรือหน่วยงานปฏิบัติ (สทน.) จะต้องมองความเป็นจริงที่เกิดขึ้นและยอมรับอย่างตรงไปตรงมา แล้วหาทางออกที่เหมาะสม เพราะ...“หากไม่ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นย่อมไม่พัฒนา” อีกทั้งในส่วนกำกับดูแล ต้องมีความใส่ใจในรายละเอียดให้มาก

...ระบบติดตาม ระบบเตือนภัยต่างๆ เมื่อวัตถุกัมมันตรังสีหายไปจากพื้นที่หรือระบบ ต้องมีการนำเทคโนโลยีมาช่วย บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสร้างแผนเผชิญเหตุ บังคับใช้กฎหมายให้รัดกุม...ส่วนผู้ใช้งานหรือโรงงานต้องมีความรับผิดชอบตามกฎหมาย หาไม่แล้ว “ประชาชน” คือผู้รับกรรม ผลกระทบในวงกว้าง

เมื่อ “สารกัมมันตรังสี” ปนเปื้อนสู่สภาพแวดล้อม ยากทีเดียวหรือเรียกว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้สภาพแวดล้อมกลับคืนมาเป็นปกติเหมือนเดิม.