“โนรา” นาฏยลักษณ์ชาวใต้ “มหรสพการแสดงที่งดงาม ทรงพลัง และมีชีวิตชีวา” ที่ได้รับการประกาศจากองค์การยูเนสโก ให้เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ปี 2564
ด้วยคุณค่าและอัตลักษณ์อันโดดเด่นด้านศิลปะการแสดงของชาวใต้ ที่มีการสืบทอดมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18-19 ทั้งมีรากฐานมาจากความเชื่อและพิธีกรรมของชุมชนที่ให้ความเคารพบูชาต่อบรรพบุรุษ มีการร่ายรำที่ทรงพลังงดงาม ควบคู่ไปกับการขับบทร้องเป็นภาษาถิ่นใต้ที่ต้องอาศัยปฏิภาณไหวพริบในการโต้ตอบ โดยมีดนตรีประกอบจังหวะที่ให้ทำนองเร้าใจ เรื่องราวที่แสดงนำมาจากนิทาน ตำนาน และวรรณกรรมพื้นบ้าน ส่วนเครื่องแต่งกายสะท้อนให้เห็นถึงงานช่างฝีมือที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น
นอกจากนี้ โนรายังได้ส่งต่อศรัทธาความรู้ที่ได้รับจากบรรพบุรุษ เพื่อสืบทอดจริยธรรมแนวทางปฏิบัติตนเพื่อสร้างความสามัคคี ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เชื่อมโยงจารีตทางวัฒนธรรมผ่านศิลปะการแสดงที่มีลักษณะเฉพาะของท้องถิ่นภาคใต้
เพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง รักษาและต่อยอด อัตลักษณ์ของศิลปะพื้นบ้านโนราให้ดำรงอยู่ งานโนราภูมิปัญญาแห่งแผ่นดินจึงเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2 โดยในครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้ชื่อ โนราภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน สู่ถิ่นตำนานครูต้นโนรา ที่วัดพระบรมธาตุเจดีย์ เขียนบางแก้ว อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง โดยการสนับสนุนของ ศูนย์สื่อศิลปวัฒนธรรม ไทยพีบีเอส กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการ
สร้างเสริมสุขภาพ และเครือข่ายหน่วยงานในพื้นที่ จ.พัทลุง และพื้นที่ใกล้เคียง โดยมี นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) และ รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ร่วมเป็นประธานเปิดงาน
...
นางยุพา กล่าวว่า นับเป็นโอกาสอันดีที่ทุกภาคส่วน ร่วมกันสร้างความตระหนักรู้ถึงคุณค่าความสำคัญของโนรา สร้างการมีส่วนร่วมของศิลปิน ชุมชนโนรา และสถาบันการศึกษาเพื่อส่งเสริมการสืบทอดโนรา เป็นการต่อยอดหลังจากยูเนสโกประกาศให้ “โนรา” เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ หรือมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ดังนั้นจึงมุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้าใจต่อเรื่องราวของโนราในเนื้อหาและมุมมองที่หลากหลายและลงราย ละเอียดในเชิงลึกมากยิ่งขึ้น
“น่ายินดีที่กิจกรรมในงานนี้ได้รับความสนใจอย่างล้มหลาม ทั้งการแสดงโนราบันเทิงและโนราร่วมสมัย พิธีกรรมโนราโรงครู (ใหญ่) ในรูปแบบโรงครูสาธิตประกอบการบรรยายให้ความรู้ โนราประชันโรง จัดเวทีเสวนา ตลอดจนพื้นที่จัดแสดงภูมิปัญญา และศิลปหัตถกรรมที่เกี่ยวข้องกับโนรา อาทิ บูธ work shop แกะสลักหน้าพราน สาธิตซ่อมเครื่องดนตรีโนรา บูธสาธิตเรียนรู้พื้นฐานโนรา ท่ารำ และเครื่องแต่งกายโนรา บูธวัตถุมงคล และเครื่องรางเกี่ยวเนื่องกับโนรา และ หลังจากนี้ วธ.จะเดินหน้าเผยแพร่มรดกภูมิปัญญา การแสดงโนราอันทรงคุณค่าให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมากขึ้น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ” ปลัด วธ.กล่าว
...
อีกหนึ่งบูธในงานโนราภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน สู่ถิ่นตำนานครูต้นโนรา ที่มีผู้คนแวะเวียนเข้าชมอย่างไม่ขาดสาย นั่นคือ โรงหมอยาสารพัดทางเลือก ซึ่งให้ความรู้เกี่ยวกับศาสตร์ ความเชื่อ พิธีกรรม ในการดูแลรักษาโรคภัยต่างๆ ประกอบด้วย หมอยาพื้นบ้านและหมอพิธีกรรม หมอบีบนวดไสยเวท ที่ให้คำปรึกษาการดูแลสุขภาพจิตวิญญาณจากตายายโนรา
โสปรินญา ไชยพลบาล หรือ “หมอเอ๋” นักค้นคว้าโนราพื้นถิ่น เชื้อสายโนราพัทลุง เล่าว่า โนรานอกจากเป็นการแสดงแล้ว อีกด้านหนึ่งของการเป็นโนราตามความเชื่อ พิธีกรรม คือ ต้องเข้าใจเรื่องราวของศาสตร์ในการรักษาจิตวิญญาณและศาสตร์ของความเป็นหมอ ต้องมีความรู้ใน 3 เรื่องคือ หนึ่ง การดูโหร ดูดวง สอง ดูฤกษ์ดูยามเป็น ทำให้รู้ว่าควรปลูกโรงครูในวันไหนที่เป็นมงคลกับเจ้าของบ้านที่ให้โนราไปทำพิธีกรรม สาม ต้องเป็นหมอรักษาโรค รู้เรื่องสมุนไพรและการปรุงยา
หมอเอ๋ ยังฉายภาพการนำโนรามาทำหน้าที่เสมือนหมอทางใจด้วยว่า ตนได้รับการถ่ายทอดศาสตร์การถอดรหัสชีวิตผู้คนมาจากครูหมอโนรา ซึ่งมีส่วนช่วยคนป่วยทางวิญญาณ หรือมีความเศร้าทางวิญญาณ ที่มีการป่วยจากสภาวะกลัว หรือเกิดจากการเสียขวัญจากการสูญเสีย จิตใจฟุ้งซ่าน คล้ายคนที่มีสติฟั่นเฟือน หรือมีอาการนั่งๆอยู่ก็ร้องไห้ และเสียใจ มีอะไรบางอย่างที่ไม่สามารถอธิบายได้ การถอดรหัสชีวิตนั้น เหมือนหมอทางใจ มีวิธีดูแลรักษาคนป่วยทางจิตวิญญาณผ่านการเฝ้าสังเกตและใช้วิชาโหรในศาสตร์โนรา สามารถรักษาทำให้ดวงจิตเรียกขวัญกลับมาให้มีสภาพดังเดิมได้ โดยเฉพาะใช้การทำความเข้าใจในเหตุที่ก่อให้เกิดทุกข์ ทำให้ยอมรับสภาพความจริง นำไปสู่การปล่อยวาง พร้อมให้ผู้ป่วยสร้างความยินดีกับผู้อื่น ฝึกที่จะเห็นใจคนอื่นให้มากกว่าตัวเอง ซึ่งเป็นการสร้างพลังใจขึ้นมาในตัวเอง
...
ขณะที่ในส่วนเวทีเสวนาก็เป็นอีกกิจกรรมที่ทำให้ผู้ร่วมงานได้เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ รับฟัง เรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องกับวิถีของสตรีเพศกับโนรา และสิ่งเหนือธรรมชาติ โดย โนราจงดี พรหมเมศร์ ถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิต เปิดมุมมองที่น่าสนใจว่า ความเชื่อดั้งเดิม ครอบครัวที่มีคณะโนรามักไม่อยากให้ลูกผู้หญิงได้ฝึกหัดรำโนรา เพราะเชื่อว่าการรำหรือสืบทอดโนรา เป็นหน้าที่และบทบาทของผู้ชายเท่านั้น ซึ่ง ตนอยู่ในครอบครัวที่คุณปู่มีคณะโนราและสืบทอดมาถึงคุณพ่อ จำได้ว่า เมื่ออายุราว 5 ขวบ ตนตัวผอมมาก เดินไม่ได้ นอนอย่างเดียว แม้คุณปู่จะเป็นหมอยาก็ไม่สามารถรักษาอาการป่วยนี้ให้หายได้ จนกระทั่งวันหนึ่งคุณปู่บอกให้ลูกคู่ที่มีหน้าที่เล่นดนตรีให้คณะโนราเอาโหน่ง ฉิ่ง ฉาบ กรับ ทับมาตี เมื่อตนได้ยินเสียงเครื่องดนตรีเหล่านั้น ก็มีแรงฮึดลุกขึ้นมารำและเดินได้อย่างปาฏิหาริย์ จากนั้นก็ฝึกฝนรำโนราอย่างจริงจัง จนมีชื่อเสียงจวบกระทั่งถึงปัจจุบัน
ทีมข่าววัฒนธรรม มองว่า นับเป็นความภาคภูมิใจที่ประเทศ ไทย สามารถอนุรักษ์ สืบสาน และต่อยอดการแสดงศิลปวัฒนธรรมที่เป็นรากเหง้าของอนุชนชาวใต้ ให้ประจักษ์ชัด ไม่เพียงแต่ในประเทศ แต่ยังสร้างชื่อเสียงขจรขจายไปไกลถึงต่างแดน
...
ณ วันนี้ “โนรา” ศาสตร์และศิลป์ แดนใต้ เป็นอีกหนึ่งมรดกไทยสู่มรดกโลก อย่างเต็มภาคภูมิ.
ทีมข่าววัฒนธรรม