นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 ได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา มีสาระสำคัญคือ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไม่เกิน 1% ต่อปี กรณีผิดนัดชำระลดอัตราเบี้ยปรับเหลือไม่เกิน 0.5% ต่อปี และไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันในทุกกรณี กองทุนยังขยายโอกาสให้แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนให้เข้าถึงการศึกษาที่หลากหลายในหลักสูตรระยะสั้น เพื่อ Reskill Upskill ครอบคลุมหลักสูตรอาชีพ เพื่อยกระดับทักษะ สมรรถนะ เสริมทักษะเฉพาะทางสำหรับวิชาชีพต่างๆ ทั้งนี้จะช่วยเหลือผู้กู้ยืมเงินที่อยู่ระหว่างดำเนินคดีหรืออยู่ระหว่างการบังคับคดีให้สามารถผ่อนผันการชำระเงินคืน ปรับโครงสร้างหนี้ หรือแปลงหนี้ใหม่ ตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกองทุนกำหนด

ผู้จัดการ กยศ.กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ หลักเกณฑ์สำคัญที่มีการปรับเปลี่ยนตาม พ.ร.บ.กยศ. (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 คือ ลำดับการตัดชำระหนี้ใหม่ ซึ่งกำหนดให้นำเงินที่ผู้กู้ยืมเงินชำระไปหักต้นเงินเฉพาะส่วนที่ครบกำหนดดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่นใด และเงินเพิ่มตามลำดับ ปัจจุบันกองทุนอยู่ระหว่างปรับปรุงระบบการตัดชําระหนี้เพื่อให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ เมื่อระบบเสร็จสมบูรณ์แล้วกองทุนจะนำยอดรับชำระเงินทุกรายการตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.2566 มาคำนวณการรับชำระใหม่อีกครั้งและปรับข้อมูลให้ถูกต้อง โดยจะนำเงินที่ได้รับมาหักต้นเงินเฉพาะส่วนที่ครบกำหนด ดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่นใดและเงินเพิ่มตามลำดับ และจะคำนวณเบี้ยปรับใหม่ จากเดิม 7.5% เหลือเพียง 0.5% ซึ่งผู้กู้ยืมเงินจะไม่เสียสิทธิอันพึงได้ตามกฎหมายหรือได้รับผลกระทบใดๆ

“ในส่วนของการให้กู้ยืมในปีการศึกษา 2566 กองทุนได้จัดเตรียมวงเงินกู้ยืมกว่า 40,000 ล้านบาท สำหรับนักเรียน นักศึกษากว่า 6 แสนราย ทั้งนี้ กองทุนจะเป็นหลักประกันให้กับทุกครอบครัวว่าเด็กทุกคนที่เกิดมาในประเทศนี้จะมีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันทุกคน ซึ่งความยากจนจะไม่ใช่อุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษาอีกต่อไป” นายชัยณรงค์กล่าว

...

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการศึกษาของเยาวชนไทย ให้เข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.กยศ. ฉบับที่ 2 นี้ จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ทั้งผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกัน ช่วยให้การชำระหนี้มีความเป็นธรรม สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมการศึกษาในทุกประเภทเพื่อรองรับการเรียนรู้.