นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เผยถึงผลการเดินทางเข้าร่วมแสดงสินค้าอาหารทะเลของภูมิภาคอเมริกาเหนือ ปี 2566 (Seafood Expo North America and Seafood Processing North America 2023) ณ เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเสตต์ ประเทศสหรัฐอเมริกาว่า งานแสดงสินค้าดังกล่าว เป็นงานแสดงสินค้าประมงที่ใหญ่ที่สุดในทวีปอเมริกาเหนือ มีผู้ประกอบการเข้าร่วมแสดงสินค้ากว่า 1,300 บริษัท จาก 50 ประเทศทั่วโลก และมีผู้เข้าร่วมชมงานมากถึง 23,000 คน ภายในงานมีการจัดแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ รวมถึงเครื่องจักรเทคโนโลยีในการผลิต บรรจุภัณฑ์ การเก็บรักษาคุณภาพสินค้า อีกทั้งยังมีการจับคู่ทางธุรกิจเพื่อหาโอกาสทางการค้าร่วมกัน
“ปีนี้มีหลายประเทศจากภูมิภาคเอเชีย ได้ร่วมออกร้านแสดงสินค้าและนิทรรศการเป็นลักษณะพาวิลเลียน เช่น จีน เวียดนาม เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย รวมถึงประเทศไทย ซึ่งมีผู้ประกอบการรายใหญ่ ได้แก่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด ร่วมออกร้านด้วย นับเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะได้แสดงศักยภาพด้านการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงไทย เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ในเวทีระดับโลก และได้รับทราบถึงแนวโน้มความต้องการของตลาดคู่ค้าต่างประเทศ รวมทั้งได้ศึกษาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเครื่องจักร และเครื่องมือสมัยใหม่เพื่อนำมาใช้ตลอดสายการผลิต สำหรับเป็นแนวทางในการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงของไทยให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคต่อไป”
...
อธิบดีกรมประมงยังเปิดเผยอีกว่า การเดินทางไปครั้งนี้มี พล.ต.อ.จารุวัฒน์ ไวศยะ ประธานคณะอนุกรรมการติดตามการบังคับใช้กฎหมายการประมงและแรงงานในภาคการประมง ร่วมคณะไปด้วย ได้มีการร่วมหารือผู้แทนขององค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NOAA) ในประเด็นการดำเนินการของไทย และความคืบหน้าต่อกฎระเบียบในการบังคับใช้ข้อกำหนดว่าด้วยการนำเข้าสินค้าประมง ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำเพื่อคุ้มครองสัตว์ทะเลที่เลี้ยงลูกด้วยนม (MMPA) และกฎระเบียบเพิ่มเติมด้านการตรวจสอบสินค้าประมงนําเข้า (SIMP) ที่สหรัฐอเมริกามีแผนจะปรับเพิ่มจำนวนชนิดสัตว์น้ำที่นำเข้าในการตรวจสอบภายใต้ระบบ SIMP ดังกล่าว
“การหารือครั้งนี้ เรามั่นใจว่าผู้แทนของ NOAA มีความเข้าใจในการทำประมงและมาตรการในการอนุรักษ์สัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม ที่ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติตามกฎระเบียบ MMPA และระบบ SIMP ของสหรัฐอเมริกามากยิ่งขึ้น จะช่วยเสริมสร้างความร่วมมือด้านการค้าสินค้าประมงกับสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ของไทยได้เป็นอย่างดี และนับเป็นการสร้างโอกาสทางการแข่งขันในสินค้าประมงไทยในอนาคต” นายเฉลิมชัยกล่าว.