ปมการใช้ความรุนแรงของเด็กและเยาวชน “ทำร้ายทุบตีกัน” นับวันยิ่งทวีความรุนแรงเป็นจุดเริ่มต้นให้เด็กบางคนก้าวไปสู่การก่อคดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญในสังคมให้เห็นเป็นข่าวรายวันกันบ่อยๆ

แล้วทุกครั้งที่มี “คดีฆาตกรรมใหญ่ๆ” สังคมไทยมักค้นหาแรงจูงใจใดทำให้ “คนร้าย” กล้าลงมืออุกอาจ โหดเหี้ยม และอำมหิตผิดมนุษย์มนาได้ขนาดนั้นแน่นอนว่า “ครอบครัว” เป็นปัจจัยสำคัญเพราะถ้าเด็กถูกเลี้ยงมาในสภาพแวดล้อมเต็มไปด้วยความรุนแรง ย่อมสร้างบาดแผลในใจให้กลายเป็นฆาตกรเต็มตัวก็ได้

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล ให้ข้อมูลว่า วัยเด็กมักเป็นช่วงพัฒนาการด้านร่างกาย และอุปนิสัยใจคอ โดยเฉพาะพื้นฐานทางจิตใจมักเป็นสิ่งสำคัญต่อ “พฤติกรรมการแสดงออก และการดำเนินชีวิต” สิ่งนี้ล้วนรับอิทธิพลจากครอบครัวทำหน้าที่หล่อหลอม

...

เพื่อให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้ปกติสุข และไม่ก่อความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น แต่ถ้าเด็กต้องตกอยู่ในครอบครัวที่บกพร่องถูกเลี้ยงดูอย่างไม่เหมาะสม “ละเลยทางกายใจ และถูกทำร้ายร่างกายประจำ” เมื่อเด็กเติบโตขึ้นมีครอบครัวก็จะนำมาสู่ “ครอบครัวบกพร่อง” เกิดเป็นวงจรอย่างไม่รู้จบสิ้นไปตลอด

สำหรับในช่วงสำคัญคือ “อายุตั้งแต่ 6–12 ขวบ” เพราะเป็นวัยต่อการพัฒนาด้านร่างกาย สติปัญญา และอารมณ์ สามารถเข้าใจหลักเหตุผล “สนุกสนานกับการเรียนรู้เพิ่มเติม” ถ้าพ่อแม่จัดการเรียนรู้ให้สนุนก็จะสนใจเป็นพิเศษอันจะนำไปสู่ “การสร้างพฤติกรรมที่ดีควบคู่กับอารมณ์แห่งความสุข” กลายเป็นปลูกฝังในระยะยาว

แล้วยังส่งผลต่อ “ทัศนคติ” ดังนั้นการอบรมเลี้ยงดูช่วงระยะนี้มีผลต่อคุณภาพของคนไปตลอดชีวิต แต่ด้วยสังคมเปลี่ยนแปลงไป “พ่อแม่ใช้เวลาอยู่กับลูกน้อยลง” แล้วจำนวนไม่น้อยต้องเผชิญกับปัญหาครอบครัว “ถูกเลี้ยงดูอย่างละเลยไม่เหมาะสม” ส่งผลต่อการพัฒนาทางอารมณ์ และศักยภาพในการเติบโตของเด็ก

ปัญหาคือว่า “เด็กอายุเกิน 12 ปีค่อนข้างสร้างทัศนคติ และพฤติกรรมได้ยาก” เพราะเคยผ่านเรื่องราวการปลูกฝังทัศนคติเกิดขึ้นมาแล้วมากมาย ดังนั้นเด็กวัยนี้ถูกปลูกฝังมาแบบใดก็ต้องเป็นแบบนั้นไป

ต้องเข้าใจว่า “พฤติกรรมบางอย่างมิได้เกิดจากการเรียนรู้” แต่เป็นการปลูกฝังผ่านจิตสำนึกแห่งความทรงจำระยะยาว ถ้าเด็กถูกใช้ความรุนแรงมักกลายเป็นทัศนคติสะท้อนแสดงออกทางอารมณ์พฤติกรรมความโกรธง่ายแล้ว “โต้ตอบด้วยการกระทำ หรือวาจา” ทำให้ไม่แปลกใจสังคมมักทำร้ายตีรันฟันแทงกันให้เห็นอยู่บ่อยๆ

เช่นนี้สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กฯจัดห้อง “Safety Hunter ภารกิจ พิชิตจุดเสี่ยง” เน้นเด็กอายุ 6-9 ขวบ สอนสาธิตฐานความปลอดภัย ฐานปฐมพยาบาล และฐานเกมสมอง เพื่อให้มีทักษะด้านความปลอดภัย

ตอกย้ำว่า “ครอบครัวใช้ความรุนแรง” ไม่ว่าจะเป็นทางด้านร่างกาย เช่น การโดนตีหรือถูกทำร้ายร่างกาย “มักส่งผลกระทบกับเด็กรับรู้ได้ตั้งแต่ปฐมวัย” ทำให้เกิดความเครียดสะสมที่เรียกว่า “ความเครียดเป็นพิษ” อาจมีการตอบสนองแสดงออกด้วยความกลัวหรือต่อสู้ขัดขืนบ้างเป็นบางครั้ง

ทว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นนี้ “สมองส่วนอารมณ์มักถูกกระตุ้นมากเกินไปในวัยเด็ก” สุดท้ายกลายเป็นบาดแผลในใจจะมีพฤติกรรม “หนี นิ่งสู้” กล่าวคือไม่เผชิญหน้ากับสังคม นิ่งเฉย หรือก้าวร้าวแสดงความรุนแรงออกมาเพราะเด็กที่โตมากับความเครียดนั้นสมองส่วนหน้าถูกใช้ในการตัดสินใจหลีกเลี่ยงควบคุมอารมณ์ได้น้อย

ดังนั้นการควบคุมอารมณ์เพื่อไม่ให้ใช้ความรุนแรงย่อมทำไม่ได้ แล้วทำให้มีพัฒนาการช้าเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น “มักใช้ความรุนแรง” ในวัยกลางคนจะป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อ อายุสั้น ปิดทางก้าวสู่สังคมยั่งยืน

สำหรับ “การเลี้ยงดูเด็กไม่เหมาะสม” ถูกแบ่งเป็น 5 กลุ่มคือ ละเลยทางกาย ละเลยทางอารมณ์ ทำร้ายทางกาย ทำร้ายทางอารมณ์ ทำร้ายทางเพศ แล้วพฤติกรรมนี้ล้วนป็นต้นเหตุให้ “เด็กเกิดควมเครียด” สิ่งนี้จะเข้าไปเปลี่ยนวงจรสมองการใช้อารมณ์มากกว่าการใช้สมองส่วนหน้านั้นด้วยซ้ำ

...

สิ่งนี้เรียกว่า “การลัดจงจรทางความคิด” หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกวิธีจะถูกฝังลงใต้จิตสำนึกกลายเป็นตอบสนองระยะยาวสู่พฤติกรรมชอบใช้ความรุนแรงมากขึ้นตามมา แล้วภาวะบกพร่องในครอบครัวนี้ยังจะวกกลับมาทำร้ายเด็กในภายหลัง “เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่” มักใช้อารมณ์ในการแก้ไขปัญหาอยู่เสมอ

ถัดมา “สื่อความรุนแรง” เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่เพราะด้วยสังคมเปลี่ยนแปลงไป “พ่อแม่ไม่มีเวลาอยู่กับลูก” ทำให้เด็กหันหาโซเชียลมีเดียแล้วถ้า “สื่อโซเชียลฯ” มีการหล่อหลอมแก่ “เด็ก” ลักษณะความรุนแรงก็มักทำให้เกิดการเลียนแบบก่อเกิดพฤติกรรมไม่เหมาะสมติดตัวเด็กไปในอนาคตได้เช่นกัน

เพราะเด็กมักตอบสนองสิ่งเร้าจากการเรียนรู้ “เมื่อถูกใช้โซเชียลฯเลี้ยงดู” ที่อาจมีภาพการใช้ความรุนแรงจนถูกหล่อหลอมเกิดเป็นความรู้สึกชื่นชอบแล้วปฏิบัติเจริญรอยตามอารมณ์ที่ได้รับมาอย่างสม่ำเสมอนั้นก็ได้

ความจริงแล้ว “การใช้ความรุนแรงส่งผลให้เด็กจดจำได้ตั้งแต่แรกเกิด” สังเกตง่ายๆ แม่เล่นกับลูกวัย 5 เดือน ด้วยการหยอกล้อยิ้มและเด็กมักจะยิ้มตอบ แต่ถ้าทำหน้าบึ้งใส่เด็กจะเกิดความงงสักพักก็จะร้องไห้ขึ้น

...

นอกจากนี้ยังมีการทดลองตรวจสารเคมีในร่างกาย “ช่วงระหว่างพ่อแม่ใช้ความรุนแรงกับลูก” มักปรากฏพบว่า “ฮอร์โมนคอร์ติซอล และฮอร์โมนอะดรีนาลีน” อันเป็นฮอร์โมนความเครียด และความโกรธจะหลั่งออกมาระดับสูง สามารถตรวจวัดได้จากอัตราการเต้นของหัวใจและความดันเลือดสูงขึ้น

สิ่งนี้สะท้อนว่า “เด็กเล็กรับรู้ตอบสนองสภาวะพ่อแม่ใช้ความรุนแรง” แล้วแสดงออกในรูปแบบฮอร์โมนความเครียดเกิดขึ้น อย่างเช่นหลังการระบาดโควิด-19 “มีสำรวจพฤติกรรมเด็กอยู่บ้านห่างจากโรงเรียน 2 ปีเต็ม” ผลปรากฏพบพฤติกรรมเด็กเปลี่ยนไป 3 กลุ่มคือ 1.ก้าวร้าว 2.หนีไม่ยุ่งกับใคร 3.นิ่งไม่ตอบโต้กับบุคคลอื่น

โดยเฉพาะ “ครอบครัวยากจน” มักมีความรุนแรงในครอบครัวชัดเจน “บางครอบครัวติดยาเสพติด” สิ่งนี้ทำให้เด็กต้องเผชิญสภาพแวดล้อมเลวร้ายตลอดทั้งวัน “กลายเป็นความเครียด” ส่งผลให้มีพฤติกรรมถดถอย

“สุดท้ายทำให้เด็กมีบาดแผลทางใจอันมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆเพราะสังคมมีความเหลื่อมล้ำสูงระหว่างคนรวยคนจน ทำให้เด็กต้องตกอยู่สภาพแวดล้อมเป็นพิษกระตุ้นให้ได้รับการเลี้ยงดูเป็นลบส่งผลต่อสุขภาพจิตใจในช่วงปฐมวัย แล้วเมื่อย้อนดูประวัติพ่อแม่ก็มักจะเคยถูกเลี้ยงดูมาแบบไม่เหมาะด้วยเช่นกัน” รศ.นพ.อดิศักดิ์ว่า

...

ประเด็นนี้นำไปสู่ “จุดเสี่ยงโอกาสก่ออาชญากรรม” สังเกตกรณีเกิดคดีฆาตกรรมขึ้น ถ้าย้อนดูพื้นหลังคนร้ายมักเคยตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว หรือเติบโตในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม “มีเหตุกระเทือนจิตใจรุนแรง” แล้วไม่มีใครเข้าไปช่วยเหลือตั้งแต่เด็กกลายเป็นปัจจัยหนึ่งให้เขาใช้ความรุนแรงแก้ไขปัญหาต่างๆ

อนาคตหาก “ประเทศไทยต้องการสังคมเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ไม่ทำร้ายกัน” ตอนนี้สังคมต้องเริ่มช่วยกันดูแลเด็กถูกทอดทิ้งหรือเด็กตกอยู่ในครอบครัวเลี้ยงดูไม่เหมาะสม เพื่อให้คนเหล่านี้ก้าวเป็นผู้นำอีก 30 ปีข้างหน้า เพราะถ้าเด็กยังถูกทอดทิ้งไม่ได้รับการดูแลที่ดีร่วมกันเช่นนี้ ความหวังจะลดความเหลื่อมล้ำในอนาคตก็เกิดขึ้นได้ยาก

ย้ำต้องเริ่มต้นจัดระบบตั้งแต่ “เด็กแรกเกิด” อาศัยความเป็นชุมชนเข้มแข็งคอยช่วยสอดส่องดูแลกัน อย่างเช่นกลุ่ม อสม.ทำหน้าที่ออกเยี่ยมบ้านให้ความรู้ความเข้าใจ “ผู้ปกครอง” ในการเลี้ยงดูลูกเล็ก หรือเด็กช่วงปฐมวัยตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 8 ขวบอย่างถูกต้อง เพราะเป็นช่วงวัยที่มีการพัฒนาสมองได้ดี

ถ้าจะให้ดี “ควรลงทุนในเด็ก 6 ขวบแรก” ตามข้อมูลทั่วประเทศมีครอบครัวยากจนเปราะบางความเสี่ยงสูง 25% ที่ต้องติดตามไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำต่อ “เด็ก” เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ทั้งกายจิตใจระยะยาว เพราะถ้าถูกเลี้ยงดูไม่เหมาะสมแน่นอนว่า “ย่อมถูกฝังเป็นพฤติกรรมใช้ความรุนแรง” นำไปสู่การก่ออาชญากรรมเกิดขึ้นก็ได้

สุดท้ายนี้เด็กเป็นเหมือนกระจกสะท้อน “พ่อแม่ทำการขู่ใช้คำพูดรุนแรงก้าวร้าว” เด็กจะเกิดการเลียนแบบเมื่อโตขึ้นก็จะมีนิสัยก้าวร้าว และชอบใช้ความรุนแรงตามที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กเช่นกัน.