เมื่อวันที่ 20 มี.ค. ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมบทเรียนและนวัตกรรมการแก้ปัญหาเพื่อรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพัฒนาการของเด็กปฐมวัยหลังโควิด ว่า ตลอดระยะเวลา 3 ปีของการเรียนออนไลน์ในช่วงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้พบว่าเด็กเข้าสู่ภาวะการเรียนรู้ถดถอย หรือ Learning Loss สูญเสียโอกาสที่จะได้สร้างพัฒนาการ ซ้ำร้ายกลายเป็น Lost Generation หลุดออกจากระบบการศึกษามากขึ้น

โมเดล 3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม จึงเป็นทางรอดของไทยที่จะช่วยฟื้นคืนพัฒนาการเด็กปฐมวัย ประกอบด้วย “3 เร่ง” คือ 1.เร่งกำหนด “การฟื้นฟูเด็กปฐมวัย เป็นวาระแห่งชาติ” เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ต่อเนื่องทั้งระบบจนเกิดผล 2.เร่งให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ปกครอง ครู ผู้ดูแลเด็ก และสังคม 3.เร่งค้นหา เยียวยา และพัฒนาเด็กในภาวะเปราะบาง “3 ลด” ได้แก่ 1.ลดการใช้สื่อหน้าจอในเด็กปฐมวัยอย่างจริงจัง 2.ลดความเครียดคืนความสุขแก่เด็ก 3.ลด การใช้ความรุนแรงต่อเด็ก “3 เพิ่ม” ได้แก่ 1.เพิ่ม กิจกรรมฟื้นฟูพัฒนาการที่เสียไป 2.เพิ่มสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า 3.เพิ่มศักยภาพบุคลากรและระบบนิเวศใกล้ตัวเด็ก

ด้านนางสุภาวดี หาญเมธี ประธานอนุกรรมการด้านสื่อสารฯ กล่าวว่า บทบาทใหม่ของครูและผู้ปกครองต่อการฟื้นฟูพัฒนาการเด็ก วิธีการดูแลสุขภาพใจของเด็กเล็กในช่วงโควิด การช่วยเหลือเด็กให้ก้าวข้ามภาวะสูญเสียทางการเรียนรู้ และการเลี้ยงลูกให้สอดคล้องกับบริบทสมัยใหม่ โดยเฉพาะการใช้สื่อหน้าจอหรือโทรศัพท์มือถือ

ซึ่งงานวิจัยจากทั่วโลกชี้ชัดว่าทำลายสมองเด็กเล็กอย่างรุนแรง และห้ามใช้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่าขวบอย่างเด็ดขาด จากนี้คณะอนุกรรมการสื่อสารฯ และ สกศ. จะร่วมระดมกำลังจากทุกฝ่ายบูรณาการงานตามแนวทาง “3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม” เพื่อฟื้นฟูพัฒนาการเด็กปฐมวัยในระยะเวลาอันสั้น เพื่อให้ในระยะยาวประเทศจะไม่สูญเสียพลเมืองคุณภาพจากพัฒนาการที่สูญเสียไปของเด็กปฐมวัยแต่อย่างใด.

...