“น้ำ” คือทรัพยากรที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของประเทศ จากการเป็นองค์ประกอบหลักในกิจกรรมของมนุษย์เกือบจะทุกประเภท ทั้งการอุปโภคบริโภค การเกษตร ปศุสัตว์ รวมไปถึงการใช้งานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในหลากหลายด้าน การติดตามสถานการณ์น้ำและตระเตรียมให้ “น้ำต้นทุน” มีเพียงพอต่อการใช้งานของประชาชนจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง
กรมชลประทาน ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบด้านทรัพยากรน้ำโดยตรง และมีวิสัยทัศน์ที่ยกระดับจะเป็น “องค์กรอัจฉริยะที่มุ่งสร้างความมั่นคงด้านน้ำ (Water Security) เพื่อเพิ่มคุณค่าการบริการภายในปี 2580” ได้มีการดำเนินงานด้านยุทธศาสตร์อย่างต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว อาทิ การพัฒนาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทานตามศักยภาพลักษณะลุ่มน้ำ (Basin-based Approach), การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ ตามวัตถุประสงค์การใช้น้ำ, การป้องกันความเสียหายและสนับสนุนการบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำ, การสร้างเครือข่าย และการมีส่วนร่วม (Networking and Participation) ของทุกภาคส่วนในการบริหารจัดการน้ำชลประทานในระดับพื้นที่ (Networking Collaboration Participation) ซึ่งแนวคิดเหล่านี้ได้กลายเป็นรากฐานสำคัญของโครงการต่างๆ ที่กรมชลประทานได้ลงมือทำ รวมไปถึงเมกะโปรเจกต์ที่เราจะมาพูดถึงในบทความนี้ที่อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ที่ทำให้ความมั่นคงทางทรัพยากรน้ำของไทยยกระดับไปสู่อีกขั้นอย่างแท้จริง โดยโครงการดังกล่าวมีชื่อว่า “โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล จังหวัดแม่ฮ่องสอน” ซึ่งจะเป็นการผันน้ำส่วนเกินจากแม่น้ำยวมและแม่น้ำเมยในฤดูฝนที่ไหลลงแม่น้ำสาละวินไม่ได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์มาเก็บกักไว้ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล เพื่อนำน้ำมาใช้ในฤดูแล้งให้เกิดประโยชน์สูงสุด
โครงการนี้นับได้ว่าเป็นโปรเจกต์ที่ยิ่งใหญ่และท้าทายอย่างมาก แต่หากสำเร็จจะมีข้อดีอะไรเกิดขึ้นบ้าง มาติดตามไปพร้อมกัน
“เขื่อนน้ำยวม” กุญแจสำคัญเติมน้ำต้นทุน เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ ยกระดับวิถีชีวิต
“โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล จังหวัดแม่ฮ่องสอน” เกี่ยวพันโดยตรงกับการบริหารจัดการ “น้ำต้นทุน” โดยน้ำต้นทุนนั้นหมายถึงทรัพยากรน้ำของประเทศที่นำมาจัดสรรใช้ในกิจกรรมต่างๆ ทั้งอุปโภค บริโภค การทำเกษตร อุตสาหกรรม และรักษาระบบนิเวศ โดยกรมชลประทานเป็นหน่วยงานหลักในการกักเก็บน้ำและบริหารจัดการน้ำต้นทุนให้เกิดประสิทธิภาพและเพียงพอต่อความต้องการในแต่ละกิจกรรม โดยการวางแผนการบริหารน้ำต้นทุนในช่วงฤดูฝนและสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งเป็นประจำในทุกๆ ปีเพื่อให้เกิดความสมดุล
ข้อมูลระบุว่า ปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลมีปริมาณเฉลี่ยปีละ 5,642 ล้าน ลบ.ม. จากความจุเต็มที่ 9,662 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งปริมาณดังกล่าวถือว่ายังไม่มั่นคงและอาจทำให้เกิดความเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำในพื้นที่แม่น้ำปิงตอนล่าง น่านตอนล่าง และโครงการเจ้าพระยา ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ มีพื้นที่ชลประทานกว่า 10 ล้านไร่ และยังเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว มีการใช้น้ำในกิจกรรมต่างๆ เป็นปริมาณมาก ซึ่งการขาดแคลนน้ำจะสร้างผลกระทบต่อภาพรวมของประเทศอย่างมหาศาล เหตุนี้หลายๆ โครงการที่จะช่วยบรรเทาสถานการณ์ดังกล่าวได้จึงถูกนำกางบนโต๊ะ ซึ่งโครงการที่ถูกมองว่ามีศักยภาพที่สุดก็คือการผันน้ำจากลำน้ำยวมที่อยู่ห่างออกไปเพียง 61.52 กิโลเมตร เพื่อนำมาเติมให้กับอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล
จากการประเมิน น้ำจากลำน้ำยวมที่สามารถผันมาเติมจะมีปริมาณเฉลี่ยถึงปีละ 1,795.25 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเมื่อรวมกับปริมาณน้ำต้นทุนเดิมจะทำให้อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำมากถึง 7,437 ล้าน ลบ.ม. โดยผลสืบเนื่องที่ตามมาจะไม่ใช่เพียงความมั่นคงที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยลดปัญหาการรุกตัวของน้ำเค็มในฤดูแล้งบริเวณโรงสูบน้ำดิบสำแล จ.ปทุมธานี ซึ่งจะทำให้ระบบสูบมีปัญหาและต้องเสียค่าใช้จ่ายซ่อมแซมจำนวนมาก แต่การผันน้ำจะช่วยให้น้ำเค็มเจือจาง ทำให้ค่าใช้จ่ายลดน้อยลง นอกจากนี้โครงการยังทำให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวกในด้านอื่นๆ อีกหลายประการ ทั้งในเรื่องของวิถีชีวิตและมูลค่าทางเศรษฐกิจที่จะเพิ่มขึ้น
ด้านการเกษตร
มีผลการศึกษาระบุว่า การผลิตของเกษตรกรในเขตชลประทานจะมีความมั่นคงและสูงกว่าเกษตรกรนอกเขตชลประทาน ชี้ให้เห็นชัดว่าหากเข้าถึงและมีน้ำเพียงพอ การผลิตและรายได้เกษตรกรจะเพิ่มขึ้น กล่าวคือการมีโครงการจะทําให้เกษตรกรในพื้นที่โครงการมีรายได้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้กลุ่มบุคคลที่อยู่นอกภาคการเกษตรยังมีรายได้เพิ่มสูงขึ้นด้วย จากการขายสินค้าด้านเกษตร สินค้า อุปโภคบริโภค การให้บริการ เพราะเมื่อเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจะมีการบริโภคหรือใช้บริการ หรือขยายการลงทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งมีการประเมินว่าจะสามารถเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกฤดูแล้งในโครงการกําแพงเพชรและโครงการเจ้าพระยาใหญ่รวมกันถึง 1,610,026 ไร่
ด้านการประมงและระบบนิเวศ
ในการผันน้ำจากลำน้ำยวมสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล จะมีการสร้าง “เขื่อนน้ำยวม” ขึ้นในบริเวณเหนือจุดบรรจบแม่น้ำเมยทางด้านเหนือน้ำประมาณ 13.8 กิโลเมตร หรือในพื้นที่ระหว่าง อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน และอ.ท่าสองยาง จ.ตาก โดยตัวเขื่อนจะมีความสูง 69.50 เมตร ความกว้างสันเขื่อน 9 เมตร และมีความยาวสันเขื่อน 260 เมตร ซึ่งการสร้างเขื่อนนี้จะทำให้เกิดเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาด 2,075 ไร่ สามารถกักเก็บน้ำได้ตลอดปี เอื้อต่อการเพาะพันธุ์ปลาและปล่อยปลาให้ประชาชนในพื้นที่สามารถจับเพื่อบริโภคหรือนำไปสร้างรายได้ โดยการศึกษาเบื้องต้นพบว่าผลผลิตของปลาเฉลี่ยประมาณ 8.5 กิโลกรัมต่อไร่ หรือรวมประมาณ 17,638 กิโลกรัมต่อปี ไม่เพียงเรื่องของผลผลิตเท่านั้นแต่ยังสร้างสมดุลระบบนิเวศในอ่างเก็บน้ำ นอกจากนี้เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก ปลาบางส่วนก็จะลงสู่ท้ายน้ำเข้าสู่แม่น้ำเมย บางส่วนก็จะว่ายเข้าสู่ลําน้ำยวมตอนบน ลําน้ำเงา และลําน้ำสาขาที่เชื่อมต่อกัน ทําให้ผลผลิตปลาในลําน้ำต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งในส่วนที่อยู่นอกเขตพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 และอยู่นอกเขตป่าสงวนแห่งชาติประชาชนจะสามารถจับสัตว์น้ำได้อย่างอิสระ
ด้านการผลิตไฟฟ้า
ปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนภูมิพลหลังจากรวมกับน้ำที่ผันเข้ามาจะมีปริมาณมากถึง 7,437 ล้าน ลบ.ม. ทำให้มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 417 ล้านหน่วยต่อปี ข้อดีคือการผลิตไฟในส่วนนี้จะไม่ได้มีต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่ม นอกจากนี้ การผลิตไฟฟ้าได้มากขึ้นจะทำให้ กฟผ. สามารถประหยัดต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ (LPG) ได้บางส่วน ซึ่งจะทำให้การเรียกเก็บค่า Ft ลดลง ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนได้อย่างมาก
ด้านการท่องเที่ยว
แนวสันเขื่อนและบริเวณโดยรอบนับว่าเป็นแลนด์มาร์กยอดนิยมสำหรับคนรักการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติมาโดยตลอด เพราะหากใครที่เคยได้ไปชื่นชมความมหึมาของสันเขื่อน หรือความสวยงามสุดลูกหูลูกตาของอ่างเก็บน้ำมาสักครั้ง ย่อมจะต้องประทับใจจนอยากกลับไปเยือนบ่อยๆ โดยโครงการนี้จะช่วยให้บริเวณทะเลสาบดอยเต่าที่ปกติจะมีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมแพจำนวนมากเฉพาะในช่วงเดือนที่มีน้ำ (ก.ค.-ม.ค.) สามารถเปิดบริการได้ตลอดปีแม้กระทั่งในช่วงที่เคยเป็นฤดูน้ำแล้ง ซึ่งจากข้อมูลพบว่าในปัจจุบันผู้ประกอบการมีรายได้เฉลี่ยเท่ากับ 10.52 ล้านบาทต่อปี แต่เมื่อมีโครงการจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 15.28 ล้านบาทต่อปีทีเดียว
นอกจากนี้ในพื้นที่ของเขื่อนน้ำยวม จะมีการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณโดยรอบเพื่อทำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่จะดึงดูดให้นักเดินทางแวะมาเยือนและบอกต่อมากขึ้น ซึ่งคาดการณ์ว่าจะสามารถสร้างรายได้จากส่วนนี้มากถึงปีละ 4.32 ล้านบาท ทั้งยังช่วยพัฒนาท้องถิ่น เปิดโอกาสในการสร้างงานสร้างอาชีพใหม่ๆ ช่วยให้ชุมชนเติบโตกว่าเดิม
เดินหน้าพัฒนาควบคู่การศึกษาผลกระทบ
การวางแผนสร้างเขื่อนแต่ละครั้งมักมีข้อกังวลจำนวนมากเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ณ บริเวณโครงการ อย่างไรก็ตามในเรื่องนี้กรมชลประทานเองก็ได้มีการเปิดเผยข้อมูลในส่วนของการวางแผนติดตามตรวจสอบและแก้ไขผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของป่าไม้และสัตว์ป่าที่มีการศึกษาและติดตามอย่างใกล้ชิด โดยมีแผนงานที่เตรียมการไว้ คือ การประสานกับกรมป่าไม้เพื่อพิจารณามองหาพื้นที่ที่ เหมาะสมในการปลูกป่าทดแทนเป็นจำนวน 2 เท่า หรือ 7,284 ไร่ ตามแนวทางปฏิบัติของกรมป่าไม้ โดยจะแบ่งเป็น 3 ระยะ พร้อมทำแนวกันไฟและดูแลรักษาต่อเนื่องเป็นเวลา 9 ปี รวมไปถึงการศึกษาแนวทางต่างๆ สำหรับการเคลื่อนย้ายสัตว์ป่าในพื้นที่ อาทิ การเข้าถึงแหล่งที่อยู่เพื่อช่วยเหลือและโยกย้าย, การผลักดันให้ย้ายออกตามธรรมชาติอย่างปลอดภัย และการวางมาตรฐานป้องกันการลักลอบล่าสัตว์ป่าอย่างเข้มงวด ในส่วนของสัตว์น้ำ ก็จะมีการใช้งานนวัตกรรมอุโมงค์สั่นสะเทือนคัดแยกพันธุ์ปลาเพื่อป้องกันปลาเข้ามาในบริเวณสูบน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลูกปลา และไข่ปลา
เรื่องราวของ “โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพลจังหวัดแม่ฮ่องสอน” ที่กำลังเดินหน้าไปตามแผนงานนี้นับเป็นประเด็นที่น่าสนใจและน่าติดตามอย่างยิ่งทั้งในแง่ของประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นซึ่งจะช่วยพัฒนาประเทศในองค์รวมในหลากหลายด้าน รวมไปถึงในส่วนที่ต้องศึกษากันอย่างต่อเนื่อง อาทิ แนวทางในการทดแทนและเติมเต็มธรรมชาติที่อาจจะต้องสูญเสียเพื่อโครงการดังกล่าว กระนั้นด้วยองค์ความรู้ต่างๆ ที่เรามีมากขึ้น และการรวมพลังจากทีมงานที่เชี่ยวชาญ ก็อาจจะเบาใจได้ในระดับหนึ่งว่าผลกระทบจะถูกควบคุมให้เหลือน้อยที่สุด และจะได้รับการทดแทนอย่างสมเหตุสมผล รวมไปถึงเม็ดเงินที่ได้ลงทุนไปจะแปรเปลี่ยนเป็นผลลัพธ์ที่คุ้มค่า สามารถสร้างประโยชน์ได้มหาศาลดังที่ได้มีการศึกษา
สำหรับผู้ที่สนใจในประเด็นนี้ สามารถติดตามต่อได้ในบทความสรุปงานเสวนาเชิงวิชาการ “'ได้' หรือ 'เสีย' เปิดทุกมุมมอง ตอบทุกประเด็น โครงการผันน้ำยวม” โดยกรมชลประทาน ที่เหล่าผู้เชี่ยวชาญเรื่องทรัพยากรน้ำ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับโครงการกันอย่างลงลึก เพื่อหาคำตอบร่วมกันว่าโครงการนี้จะมีประโยชน์ต่อพวกเราทั้งหมดอย่างไร