แม้ว่าการปฏิรูปตำรวจผ่าน “พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565” ประกาศบังคับใช้ได้ไม่นานมานี้ก็มีเสียงเรียกร้องดังขึ้นอีกครั้ง “เมื่อมีข้าราชการตำรวจถูกกล่าวหาเข้าไปเกี่ยวข้องพัวพันกับธุรกิจสีเทา” ต้องถูกดำเนินคดีในฐานความผิดร่วมกันกระทำการทุจริตออกวีซ่าให้กลุ่มชาวต่างชาติบางคน

ด้วยการสร้างหลักฐานให้สามารถเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย “อันมีตำรวจเกี่ยวพันกว่า 107 นาย” ถูกดำเนินคดีร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ในจำนวนนี้ 9 นายนี้ถูกเพิ่มความผิดเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินประโยชน์โดยมิชอบฯ

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล

คดีนี้สร้างความเสื่อมเสียสะเทือน “วงการสีกากี” จนประชาชนขาดความเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจสะท้อนผ่านเวทีเสวนา “ปฏิรูปตำรวจปฏิรูป หรือปฏิลวง?” จัดโดย ม.รังสิต ในการนี้ รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผช.อธิการบดีและประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม ม.รังสิต บอกว่า

...

การปฏิรูปตำรวจนี้ไม่ใช่เพิ่งพูดกันเป็นครั้งแรก แต่ถ้าย้อนดูประวัติศาสตร์ไทยถูกหยิบยกมาไม่ต่ำกว่า 15-20 ปี เพราะด้วยหลักสำคัญเป็นอาชีพมีความใกล้ชิดกับประชาชนต้องดูแลทุกข์สุข รวมถึงให้ความเป็นธรรมเสมอภาคแก่คนไทยทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน แม้บุคคลนั้นจะมีสถานภาพทางสังคมแตกต่างกันมากเพียงใดก็ตาม

แต่จากงานวิจัยพบว่า “ประเทศไทย” เมื่อคนมีสถานภาพทางสังคมแตกต่างกันมักส่งผลต่อความแตกต่างทางด้านความยุติธรรมด้วยเช่นกัน ทำให้เรื่องการปฏิรูปตำรวจต้องถูกหยิบยกขึ้นพูดกันอยู่ตลอด เพราะต้องยอมรับว่า “องค์กรตำรวจมีลักษณะการบังคับบัญชามีชั้นยศเหมือนกับทหาร” ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ในประเทศที่พัฒนาแล้วมองว่า “การบังคับบัญชาแบบตำรวจไทย” ส่งผลให้ตำรวจห่างจากประชาชน ทั้งด้านการรับฟังปัญหา การแก้ไขปัญหา รวมถึงการจัดการปัญหาอาชญากรรมต่างๆ เพราะโครงสร้างยังเป็นระบบงานแบบดั้งเดิมมีนายพล 500-600 นายสั่งการบังคับบัญชาตำรวจ 2 แสนกว่านายทั่วประเทศ

ดังนั้นผู้ขึ้นมาเป็นนายพลมักมีพ่อค้า นักธุรกิจ และประชาชนอยากทำความรู้จัก “ขอนามบัตรติดกระเป๋า” เมื่อสังคมไทยสร้างความนิยมเช่นนี้ตำรวจต่างขวนขวายต้องการขึ้นเป็นนายพลกลายเป็นปัญหาอื่นตามมา

ประการถัดมา “ปัญหาสายบังคับบัญชาตำรวจ” มักส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อตัวตำรวจยิ่งลดน้อย “เพราะมีโครงสร้างระบบเดียวจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ” สวนทางกับหลักการปฏิบัติหน้าที่ที่ต้องมีความใกล้ชิด “ประชาชน” ในการแก้ไขปัญหาทุกข์สุขให้แก่ประชาชนนั้น

เมื่อเทียบกับ “ต่างประเทศ” อันเป็นองค์กรตำรวจสมัยใหม่ เช่น อังกฤษ ใช้ระบบกิจการงานตำรวจมาจากความเห็นชอบของประชาชนมานานกว่า 100 ปี เพราะเขาใช้หลักคิดว่ากิจการงานตำรวจเป็นความรับผิดชอบของประชาชนอย่างเช่นประชาชนบอกว่า “การตั้งด่าน” ไม่มีความจำเป็นในการป้องกันอาชญากรรมให้ใช้มาตรการอื่น

ทำให้ตำรวจอังกฤษก็ไม่ตั้งด่านยิ่งกว่านั้น “ประชาชนทั่วไป” ก็สามารถเข้ามาเป็น “ตำรวจอาสามีอำนาจพกพาอาวุธได้” ยกเว้นไม่มีค่าตอบแทน อีกประเภทคือ “ตำรวจอาสามีค่าตอบแทน” ทำหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยแต่ละชุมชน ดังนั้นตำรวจ 1 แสนนายสามารถดูแลประชาชน 70 ล้านคนทั่วประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ถ้าเปรียบเทียบกับ “ประเทศไทย” อย่างเช่นกรณีเฉพาะในชุมชนล้อมรอบ ม.รังสิต “อันมีประชากร 4–5 หมื่นคนแต่กลับมีตำรวจดูแลเพียง 2 นายเท่านั้น” ทำให้ตั้งข้อสงสัยว่าตำรวจหายไปไหนกัน...? เพราะเท่าที่ดูสัดส่วนตำรวจทั่วประเทศ “ก็ไม่ถือว่าขาดแคลน” สามารถดูแลประชากร 70 ล้านคนตามมาตรฐานสากลได้ด้วยซ้ำ

ในส่วนประเด็น “ตำรวจบางนายเกี่ยวพัวพันกับธุรกิจสีเทา” เบื้องต้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็มีผลตรวจสอบยืนยันชัดว่า “ตำรวจเรียกรับผลประโยชน์จริง” ทำให้โครงสร้างของตำรวจต้องปรับการบังคับบัญชา โดยเฉพาะ “การรวมศูนย์อำนาจยึดโยงฝ่ายการเมือง” ด้วยปัจจุบันการเมืองกำลังครอบคลุมตำรวจอยู่

...

กระทั่งกลายเป็น “เครื่องมือของการเมือง” ทำให้ต้องเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรตำรวจใหม่ “ไม่ให้ยึดโยงกับการเมืองร้อยเปอร์เซ็นต์” แต่ต้องยึดโยงกับประชาชนเพื่อคงไว้ หรือการผดุงไว้ซึ่งอำนาจของตำรวจนั้น

ประการต่อมา “การแต่งตั้งโยกย้ายของตำรวจ” เรื่องนี้ค่อนข้างเป็นปัญหาใหญ่มากๆ ด้วยการโยกย้ายแต่ละครั้งมีส่วนเกี่ยวข้องส่งผลกระทบต่อ “ความเป็นอยู่ครอบครัวตำรวจด้วย” เช่น ตำรวจบางคนทำงานประจำอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ถ้าไม่เข้าหาผู้บังคับบัญชาอาจส่งผลให้ต้องถูกย้ายไปพื้นที่ต่างจังหวัดก็ได้

หนำซ้ำบางคนถูกย้ายไปพื้นที่ 3 จชต.โดยไม่มีความผิดหรือไม่สมัครใจแตกต่างจากตำรวจอังกฤษ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เมื่อบรรจุมักอยู่ในพื้นที่นั้นจนเกษียณอายุราชการ เว้นแต่ต้องการความก้าวหน้าสมัครใจโยกย้ายไปเอง

ดังนั้นแล้วการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจควรมีการปรับเปลี่ยนใหม่ “เน้นความโปร่งใส และเป็นธรรมยึดโยงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ” โดยไม่ใช่ยึดโยงเฉพาะแต่ผู้บังคับบัญชาเป็นที่ตั้งอย่างทุกวันนี้

...

ตอกย้ำ “ขบวนการแทรกแซงการทำงานตำรวจ” ปัจจุบันการปฏิบัติหน้าที่มักถูกแทรกแซงทุกระดับตั้งแต่การสืบสวนสอบสวนจับกุมที่ไม่ได้ มีเฉพาะผู้บังคับบัญชาเท่านั้นแต่มีหน่วยงานภายนอกด้วย เช่น ก่อนมางานเสวนานี้ “ผู้พิพากษา” ส่งข้อมูลมาว่าตำรวจสารวัตรทำการจับกุมคดียาเสพติดที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนักการเมือง

ทำให้ขออนุมัติศาลออกหมายจับปรากฏว่า “ตำรวจชุดจับกุม” ถูกผู้เรียกพบแล้วให้ “ทำเรื่องถอนหมายจับ” แต่ตำรวจปฏิเสธเพราะการถอนหมายจับไม่มีเหตุอันควรนั้นอาจต้องมีความผิดทางวินัย และอาญาสิ่งนี้ตอกย้ำกระบวนการแทรกแซงการทำงานของตำรวจที่มีจริงแล้วสังคมจะต้องแก้ไขปัญหานี้ให้ได้ยังไง...?

ถัดมา “เรื่องความเป็นมืออาชีพของตำรวจ” กล่าวคือผู้ปฏิบัติหน้าที่ต้องได้รับการพัฒนาให้เชี่ยวชาญในด้านนั้นจริงๆ เพราะก่อนหน้านี้เคยพูดคุยกับตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พบว่าประชาชนตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางออนไลน์เฉลี่ย 800-1,000 คดีต่อวัน

...

นั่นหมายความว่า “แต่ละเดือนมีผู้ตกเป็นเหยื่อ 3 หมื่นคดี” ปรากฏว่าตำรวจทำ 1 คดีได้เร็วสุด 2 สัปดาห์ “กลายเป็นคดีคงตกค้างมาก” ส่วนใหญ่ เลือกทำเฉพาะคดีความเสียหายสูง หรือคดีที่ผู้บังคับบัญชาไล่จี้ก่อน

ต่อมา “การปฏิบัติหน้าที่ตำรวจต้องสอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบัน” ไม่ว่าจะเป็นวิธีการ แนวคิด วัฒนธรรม และการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการปฏิบัติหน้าที่ให้มากขึ้น โดยเฉพาะความพร้อมด้านการทำงาน เพราะเท่าที่คุยกับตำรวจสายตรวจโรงพักปากคลองรังสิตเคยเล่าให้ฟังว่าน้ำมันเติมรถสายตรวจ ก็แทบจะไม่พอใช้ด้วยซ้ำ

เมื่อเป็นเช่นนี้ตำรวจสายตรวจมักหยุดตรวจเฉพาะย่านชุมชนใหญ่ “ทำให้มีคำถามว่าน้ำมันใช้ทำงานหายไปไหนถึงไม่พอใช้กัน...?” แม้แต่พนักงานสอบสวนยังต้องซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ใช้กันเอง ฉะนั้นถ้าไม่แก้ปัญหาอุปกรณ์ให้เพียบพร้อมเพียงพอใช้ในการปฏิบัติหน้าที่อาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการคอร์รัปชันตามมาก็ได้

สุดท้ายนี้ “ตามประสบการณ์การศึกษารูปแบบการปฏิรูปตำรวจในหลายประเทศ” ส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จมักต้องอาศัยหลัก 3P กล่าวคือ “Political View เจตจำนงทางการเมืองต้องแน่วแน่” โดยพรรคการเมืองต้องเสนอนโยบายปฏิรูปตำรวจให้มีความชัดเจน เป็นรูปธรรม และสามารถจับต้องได้

จากนั้นถัดมา “Police ตำรวจ” ต้องอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในองค์กรตัวเอง เพราะตามที่รับฟังรุ่นพี่รุ่นน้องตำรวจหลายคนต่างรู้สึกเบื่อหน่ายระบบจนต้องลาออก หรือฆ่าตัวตายก็มี “Public People ประชาชน” ต้องอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของตำรวจด้วย ถ้าครบองค์ประกอบ 3 เรื่องนี้ เมื่อไหร่การปฏิรูปตำรวจจะเกิดขึ้นแน่นอน

ทั้งหมดนี้คือเสียงสะท้อนปัญหาที่เรียกร้องให้ “ปฏิรูปองค์กร โครงสร้าง สวัสดิการตำรวจให้เกิดขึ้นแท้จริง” เพื่อให้ทำหน้าที่ดูแลทุกข์สุข ให้ความเป็นธรรม และความเสมอภาคกับประชาชนทุกคน.