การคัดแยกขยะแล้วนำเศษขยะมาทำปุ๋ยมีให้เห็นกันมานาน แต่มักติดขัดปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะความร่วมมือจากชาวบ้าน ขณะที่ภาครัฐเอง โดยเฉพาะท้องถิ่นไม่ได้มีงบประมาณมากในการสร้างโรงผลิต สุดท้ายเลยแทบไม่เกิดโรงงานผลิตปุ๋ยของรัฐในประเทศเลย

แต่ไม่ใช่กับเทศบาลนครรังสิตที่แทบไม่ต้องลงทุนกับโรงงานผลิตปุ๋ยมูลค่ากว่า 30 ล้านบาท แถมได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านในการแยกเศษอาหารได้ถึงวันละ 3-4 ตัน

“พื้นที่เทศบาลนครรังสิต จ.ปทุมธานี มีขยะรวมวันละประมาณ 160 ตัน ในจำนวนนี้มีขยะสามารถใช้ทำปุ๋ยได้ 20% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตลอด ผมจึงมองว่าเพื่อให้ขยะเหล่านี้เกิดประโยชน์ที่สุด เทศบาลควรนำขยะเหล่านี้มาทำปุ๋ย แล้วแจกจ่ายให้แก่คนในพื้นที่ที่ยังมีการทำเกษตรให้เห็นกันพอสมควร แต่ติดตรงที่ต้องใช้งบสร้างโรงผลิตปุ๋ยหลายสิบล้านบาท คงเกินกำลังเทศบาล ฉะนั้น ปีที่แล้วเราจึงร่วมมือกับเอกชน ที่มีความพร้อม ใช้สถานที่ของโรงคัดแยกขยะเดิมของเทศบาลเป็นโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์”

ร.ต.อ.ตรีลุพธ์ ธูปกระจ่าง นายกเทศมนตรีเทศบาลนครรังสิต ต.ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี บอกถึงที่มาของการร่วมกับ บริษัทไบโอแอ๊กเซล ผู้ผลิตเครื่องผลิตปุ๋ย ภายใต้สโลแกน “ไปเปลี่ยนขยะไร้ค่า เป็นปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน” นวัตกรรมเครื่องแปลงขยะจากเศษอาหารเป็นปุ๋ยของบริษัท สามารถแปลงขยะเป็นปุ๋ยได้ภายใน 24 ชม. ด้วยเทคโนโลยีระบบบดย่อยและรีดน้ำ ทำให้ย่อยได้ทั้งผัก ผลไม้ ผักตบชวา เศษอาหาร หรือแม้แต่กระดูก และน้ำแกง และได้รับการขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย

...

สำหรับการทำงาน จะทำงานร่วมกับจุลินทรีย์ซุปเปอร์แบ็ก ที่วิจัยและพัฒนาโดยภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพโมเลกุล และชีวสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่จดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว โดยการย่อยสลายเกิดภายใต้การควบคุมอุณหภูมิ และความชื้นที่เหมาะสมในถังหมัก นอกจากได้ปุ๋ยยังมีผลพลอย ได้เป็นน้ำหมักจากกระบวนการแยกน้ำของเครื่อง สามารถทำเป็นน้ำหมักชีวภาพรดพืชได้ โดยขยะ 20 ตัน ผลิตปุ๋ยได้ 10 ตัน

ปัจจุบันที่นี่ผลิตปุ๋ยได้วันละ 2 ตัน และกำลังอยู่ระหว่างการเพิ่มปริมาณการผลิต นอกจากมีการณรงค์คัดแยกขยะแล้วยังสร้างแรงจูงใจให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม โดยนำปุ๋ยที่ได้ไปแจกชาวบ้าน รวมถึงหน่วยงานราชการ ขณะเดียวกันก็มีการวางแผนเป็นโซน โดยมีถังขนาด 100 ลิตร วางตามสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะตลาด โรงงาน โรงเรียน ร้านอาหาร โรงแรมที่พัก โดยมีเจ้าหน้าที่ไปเก็บทุกวัน ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีจากทั้งประชาชน และสถานประกอบการในพื้นที่

...

ส่วนขั้นตอนการแปลงเศษขยะไร้ค่าเป็นปุ๋ย เริ่มจากนำขยะที่ได้ไปยังจุดรับขยะ ลำเลียงผ่านสายพานลำเลียงเข้าสู่เครื่องบดย่อย นำขยะที่บดย่อยแล้วเข้าเครื่องผลิตปุ๋ย เพื่อรีดน้ำและกากออกจากกัน จะได้น้ำ 60% และกากที่ใช้เป็นปุ๋ย 40% เมื่อแยกน้ำและกากแล้ว ลำเลียงกากเข้าสู่ถังหมัก หมักทิ้งไว้ 24 ชม. จะได้ปุ๋ย โดยมีอัตราการใช้ ปุ๋ย 1 ส่วนต่อดิน 9 ส่วน.

กรวัฒน์ วีนิล