วัตถุประสงค์หลักของการเดินทางไปหลวงพระบางของผมครั้งนี้ อยู่ที่เขื่อน “ไซยะบุรี” เขื่อนผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ 1 ใน “แบตเตอรี่” ผลิตไฟ เพื่อจำหน่ายแก่ประเทศเพื่อนบ้านของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวนั่นเอง
ผมเคยไปมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปลายๆเดือนกุมภาพันธ์ปี 2561 ซึ่งขณะนั้นยังสร้างไม่เสร็จแต่ก็ใกล้เสร็จแล้ว เพราะเริ่มเห็นตัวเขื่อนและเริ่มติดตั้งกังหันน้ำผลิตไฟฟ้าจาก 7 ชุดไปแล้ว 3-4 ชุด
จึงรู้สึกยินดีที่ได้มีโอกาสไปดู เขื่อนไซยะบุรี ที่สร้างเสร็จสมบูรณ์แล้วอีกครั้งหนึ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
เขื่อนไซยะบุรี มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 1,285 เมกะวัตต์ สามารถ ผลิตไฟฟ้าได้ 7,768 ล้านหน่วยต่อปี ซึ่งตามข้อตกลงจะส่งให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 93 เปอร์เซ็นต์ และส่งให้รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว 7 เปอร์เซ็นต์
ใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 135,000 ล้านบาท โดยบริษัท CK Power ในเครือ ช.การช่าง ที่ได้รับสัมปทานทั้งการก่อสร้างและการบริหาร
ในส่วนของไฟฟ้าที่ส่งจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยนั้น จะส่งผ่านสถานีไฟฟ้าแรงสูงจากไซยะบุรีไปอำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย แล้วเข้าสู่ระบบการแจกจ่ายไฟฟ้าไปทั่วภาคอีสานบ้านเฮา คิดเป็นร้อยละ 30 ของไฟฟ้าที่ใช้กันอยู่ในภาคนี้
แปลว่า “หม้อแบตเตอรี่” ไซยะบุรีของ สปป.ลาว ดังกล่าวนี้ เป็นหม้อขนาดใหญ่พอสมควรสามารถปล่อยไฟฟ้ามาให้อีสานบ้านเฮาใช้ได้ถึงประมาณ 1 ใน 3 ของความต้องการใช้ไฟทั้งหมดในภาค
สำหรับประเด็นที่ผมขอไปดูและซักไซ้ไล่เลียงเป็นพิเศษคราวนี้ได้แก่ ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เคยเป็นประเด็นปัญหาห่วงใยกันมากก่อนลงมือก่อสร้าง
ประเด็นแรกก็คือช่องทางสำหรับการเดินทางผ่านของปลาในแม่นํ้าโขงที่มีการทักท้วงจากกัมพูชาและเวียดนามพอสมควร จนต้องออกแบบใหม่และชะลอการก่อสร้างไปเกือบปี
...
ซึ่งทางบริษัท ซีเค พาวเวอร์ ก็ได้มีการปรับปรุงและทุ่มเงินอีก 18,000 ล้านบาท ในการก่อสร้างเพิ่มเติมสำหรับทางปลาผ่าน ซึ่งมิใช่บันไดปลาโจนแบบเขื่อนทั่วๆไป
เมื่อผมไปเยือนครั้งที่แล้วการก่อสร้างใกล้เสร็จสิ้น และนักวิชาการประมงที่มาช่วยวิจัยเกือบสิบคนยังทำงานวิจัยกันอยู่ และยืนยันกับผมว่าวิธีที่ทำอยู่จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้
ไปเที่ยวนี้ทางเขื่อนพาพวกเราลงไปดูเส้นทางน้ำสำหรับปลาและไปดู การแหวกว่ายของปลาแม่น้ำโขง พร้อมคำอธิบายที่สรุปได้ว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา ปลาแม่น้ำโขงที่จะขึ้นเหนือต่างก็ว่ายมาเข้าเส้นทางที่ว่านี้ตามเป้าหมายที่วางไว้
อีกประเด็นหนึ่งที่เคยพูดถึงกันมากก็คือ การดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการอันเป็นเหตุให้ต้องอพยพจากแหล่งเดิมไปอยู่แหล่งใหม่จะต้องให้ความเป็นธรรมและดูแลอย่างดียิ่ง
ประเด็นนี้ผมไปดูตั้งแต่ครั้งที่แล้ว มีโอกาสไปเยี่ยมเยียนหมู่บ้านอพยพและพูดคุยกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบที่โยกย้ายมาอยู่หมู่บ้านใหม่ พบว่าส่วนใหญ่พอใจ...ครั้งนี้ไม่มีเวลาพอจึงมิได้ไปดู
แต่ก็ได้ฝากกับผู้บริหารของบริษัท CK Power ว่าขอให้ดูแลผู้รับผลกระทบให้ดีต่อไป อย่าให้ใครเขามาว่าได้ว่าเรามาเอารัดเอาเปรียบเขา เพราะจะเสียชื่อไปถึงคนไทยทั้งหมด
ได้รับการยืนยันจาก CK Power ว่าเป็นวัตถุประสงค์หลักของบริษัทอยู่แล้วได้ดำเนินการมาอย่างดีแล้ว และจะดำเนินการต่อไป
ในการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำต่างๆ เพื่อที่จะให้ สปป.ลาว สามารถเป็นแบตเตอรี่แห่งเอเชีย (ต่อมาในระยะหลังๆใช้คำว่า แบตเตอรี่แห่งอาเซียน) โดยสมบูรณ์นั้น ลาวมีแผนไว้ว่าจะต้องสร้างเขื่อนพลังไฟฟ้าถึง 70 แห่งทั่วประเทศ
เท่าที่เคยอ่านรายงานพบมีการสร้างไปแล้วเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ และยังจะมีการสร้างต่อไปตามแผนงานที่ร่างไว้
นักลงทุนที่ไปลงทุนสร้างและบริหารก็มิใช่มาจากประเทศไทยเท่านั้น จริงๆแล้วมีทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลี รัสเซีย มาเลเซีย ฯลฯ
ผมขอเอาใจช่วยให้โครงการ “แบตเตอรี่แห่งอาเซียน” ของลาวจงประสบผลสำเร็จ แต่ขณะเดียวกันก็ขอฝากทุกๆนักลงทุนจากทุกๆชาติไม่เฉพาะนักลงทุนไทยเท่านั้น ขออย่าไปเอารัดเอาเปรียบประเทศลาวในทุกๆกรณี
ขณะเดียวกัน ก็ขอให้ช่วยดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ซึ่งเป็นสมบัติของโลกด้วย) ให้ดีที่สุด
โดยเฉพาะการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าจากน้ำ นับวันจะเป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อนมากขึ้นเรื่อยๆตามลำดับ...จะต้องระมัดระวังและใส่ใจให้มากที่สุดกว่าทุกๆโครงการพัฒนา...ขอฝากไว้ด้วยนะครับ.
“ซูม”