ดร.ทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เผยถึงการประเมินผลโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแมลงเศรษฐกิจ ภายใต้แผนแม่บทย่อยเกษตรชีวภาพ มีเป้าหมายในการพัฒนาความรู้และทักษะแก่เกษตรกรในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแมลงเศรษฐกิจ ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและสามารถแข่งขันได้ ตลอดจนส่งเสริมพัฒนาให้เกิดเครือข่ายสำหรับเชื่อมโยงการผลิตและการตลาด ที่มีกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ และ สศก. รับผิดชอบดำเนินการติดตามประเมินผล
“สำหรับปีงบประมาณ 2565 โครงการ กำหนดพื้นที่เป้าหมาย 32 จังหวัด เกษตรกร 640 ราย การประเมินผลการดำเนินโครงการ พบว่า ภาพรวมสามารถพัฒนาความรู้และทักษะแก่เกษตรกรด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 643 ราย ตามเป้าหมายที่กำหนด ประกอบด้วย เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งพันธุ์ 20 ราย ผึ้งโพรง 223 ราย ชันโรง 20 ราย และจิ้งหรีด 380 ราย ตัวอย่างผลสำเร็จของกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งพันธุ์ทั้ง 20 ราย ต.ยางฮอม อ.ขุนตาล จ.เชียงราย มีการเลี้ยงผึ้งพันธุ์รวม 3,700 รัง เฉลี่ยรายละ 185 รัง สามารถผลิตน้ำผึ้งได้เฉลี่ย 28.50 กิโลกรัมต่อรังต่อปีต่อราย เพิ่มจากก่อนเข้าร่วมโครงการ 0.95 กิโลกรัมต่อรังต่อปีต่อราย หรือร้อยละ 3.45”
...
รองเลขาธิการ สศก.เผยถึงภาพรวมเกษตรกรสามารถผลิตน้ำผึ้งได้รวมกัน 105,450 กิโลกรัมต่อปี จากเดิม 101,935 กิโลกรัมต่อปี เพิ่มขึ้นจำนวน 3,515 กิโลกรัมต่อปี
ขณะที่ด้านรายได้พบว่า เกษตรกรนำผลผลิตที่ได้ทั้งหมดไปจำหน่ายให้แก่แหล่งรับซื้อในท้องถิ่นในราคาเฉลี่ย กก.ละ 80 บาท สร้างรายได้เพิ่มให้แก่กลุ่มเกษตรกรปีละ 281,200 บาท เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 14,060 บาทต่อรายต่อปี ทั้งนี้ ในส่วนของกลุ่มเกษตรกรที่เลี้ยงผึ้งโพรง ชันโรง และจิ้งหรีด อยู่ระหว่างการสำรวจข้อมูล ผลการประเมินทั้งโครงการจะนำเสนอในระยะต่อไป
สำหรับปีงบประมาณ 2566 โครงการ ได้กำหนดเป้าหมาย 35 จังหวัด เกษตรกรเป้า หมายรวม 700 ราย โดยเป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ทั้งหมด ซึ่งจากการติดตามโครงการของ สศก. ในช่วงไตรมาส 1 ปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม-ธันวาคม 2565) พบว่า อยู่ในกระบวนการจัดเวทีสำรวจความต้องการในการพัฒนาความรู้ด้านแมลงเศรษฐกิจ เพื่อกำหนดแผนการพัฒนาความรู้ด้านแมลงเศรษฐกิจตามความต้องการของเกษตรกรต่อไป
ทั้งนี้ สศก. มีแผนดำเนินการลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการของปีงบประมาณ 2566 แบบรายไตรมาส รวม 4 ไตรมาส โดยในไตรมาสที่ 2 กำหนดลงพื้นที่ในเดือนมีนาคม-เมษายน 2566 พื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ มหาสารคาม ชลบุรี กำแพงเพชร และแพร่ เพื่อติดตามกลุ่มเกษตรกรที่เลี้ยงแมลงเศรษฐกิจตามผลการจัดเวทีวิเคราะห์ความต้องการในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะรายงานผลการติดตามให้ทราบในโอกาสต่อไป.