จากสถานการณ์สภาพอากาศในปีที่ผ่านมา อิทธิพลจากปรากฏการณ์ลานีญาทำให้มีฝนตกมากกว่าค่าปกติโดยทั่วไป แต่คาดการณ์ว่าปีนี้ปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” จะกลับมามีอิทธิพลต่อสภาพอากาศในประเทศไทยอีกครั้ง โดยเฉพาะในช่วงกลางปีเป็นต้นไป ส่งผลให้สภาพอากาศแห้งแล้งมากขึ้นและฝนตกน้อยลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคน้ำเพื่อทำการเกษตร รวมถึงเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆที่อาจมีปริมาณน้ำเก็บกักได้น้อยกว่าในปีที่ผ่านมา

กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ในฐานะหน่วยงานดูแลบริหารจัดการน้ำในชั้นบรรยากาศ ได้ทำพิธีเปิดปฏิบัติ การฝนหลวงประจำปี 2566 เมื่อ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยมี นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานฯ ณ บริเวณหน้าหอบังคับการบิน สนามบินนครสวรรค์ เพื่อเร่งปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้รวดเร็วทันต่อสถานการณ์มากขึ้น

สำหรับปฏิบัติการฝนหลวงในปี 2566 กรมฝนหลวงและการบินเกษตรมีแผนปฏิบัติการพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้ง และสร้างความชุ่มชื้นให้กับป่าไม้ การป้องกันการเกิดไฟป่าและบรรเทาปัญหาหมอกควัน ป้องกันการเกิดพายุลูกเห็บ สถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เกินเกณฑ์มาตรฐาน รวมถึงการเติมน้ำต้นทุนให้กับอ่างเก็บน้ำและเขื่อนต่างๆของประเทศ

โดยตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง 7 ศูนย์ ประจำใน 5 ภูมิภาค ตั้งแต่ 1 มีนาคม ไปจนถึง 30 กันยายน 2566 มีอากาศยานรวมทั้งหมด 30 ลำ เป็นอากาศยานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร 24 ลำ ของกองทัพอากาศจำนวน 6 ลำ

สำหรับแผนการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงอาจมีการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ของสภาพอากาศและความต้องการน้ำในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อให้เหมาะสมในการปฏิบัติการช่วยเหลือให้ตรงตามเป้าหมาย

ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถติดต่อประสานแจ้งข้อมูลขอฝนหลวงได้ที่โทร.0-2109-5100 ต่อ 410 หรือช่องทางเพจ Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร, Instagram, Tiktok, Twitter : @drraa_pr และศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงทั้ง 7 ศูนย์ทั่วประเทศ.

...

สะ-เล-เต